หลังมีปัญหาเหยียบตาปลากันของสองพรรคใหญ่ในรัฐบาล เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในสัปดาห์ที่แล้ว ตอนนี้เลยกลายเป็นพายุอารมณ์ทางการเมือง ที่พันกันไปหมดเกือบจะทุกเรื่อง
ไม่ว่าจะการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งรายมาตราและยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ต่อเนื่องไปถึงการแก้ไขกฎหมายประชามติ ที่เป็น ‘กุญแจดอกแรก’ ไขไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ รวมทั้งการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ค้างเติ่งอยู่
ทั้งหมดล้วนเป็นนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาไว้ โดยมีฝ่ายค้านเชิงรุกอย่างพรรคประชาชน คอยเป็นลูกคู่เห็นดีเห็นงามสนับสนุนด้วยทุกเรื่อง เพราะหัวอกเดียวกัน
แต่พลันที่สองพรรคใหญ่ ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ เกิดขบเหลี่ยมกันขึ้น จึงทำให้ส่งผลไปถึงสภาสูง หักกับสภาล่าง ไม่เอาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ตามที่สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขมา
ปฏิทินการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่จึง ‘สะดุด’ ลงแบบหัวทิ่มหัวตำ
จนล่าสุดต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ โดย ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ แกนนำจากพรรคเพื่อไทยเป็นคนออกปากก่อน ขอให้ทุกพรรค ทุกฝ่าย รวมทั้งฝ่ายค้านด้วย ให้มาพูดคุยกันก่อน ซึ่งอาจตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมาก่อนชุดหนึ่งด้วยซ้ำ เพื่อให้การทำงานราบรื่น
‘ลองคิดดู ถ้าเรามีคณะทำงานสักหนึ่งชุดก่อน และประกอบด้วยผู้แทนจากพรรคการเมืองทุกพรรค รวมทั้งฝ่ายค้านเป็นคณะทำงาน และมาพูดคุยกันว่าถึงเวลานี้แล้ว มันมีปัญหาแบบนี้แล้ว เราจะเดินต่อไปอย่างไร’
ชูศักดิ์ ซึ่งเหมือนกับจะรู้ว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น ใครที่ทำ ‘ปืนลั่น’ ก่อน ดังนั้น เที่ยวนี้จึงไม่ผลีผลาม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคาใจกันซ้ำรอยเดิมอีก
‘ดีที่สุดมาคุยกันให้สะเด็ดน้ำว่าจะเดินยังไง โดยไม่จำกัดว่าเป็นฝ่ายไหน ไม่ว่าจะรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ดี มาคุยกัน ได้ข้อยุติประการใดก็แจ้งทางหัวหน้าพรรคทั้งหลายว่า มติเป็นอย่างนี้ก็จะเดินต่อได้ แต่ถ้าเรามาพรรคเพื่อไทยทำ คนนั้นทำ คนนี้ทำ ท้ายสุดมันก็จะเป็นปัญหาแบบเดิม’
แต่ไม่รู้จะยังคุยกันได้อีกหรือไม่ เพราะต้นเสียงจากพรรคภูมิใจไทย ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ ที่ออกมาปฏิเสธไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับสว.ที่ไปเปลี่ยนเกณฑ์การออกเสียงประชามติจากเสียงข้างมากชั้นเดียว ไปเป็นเสียงข้างมากสองชั้น
แถมอนุทิน ยังสวนกลับสว.‘นันทนา นันทวโรภาส’ ที่กล่าวหามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังการกลับมติของสว.ว่า
‘ท่านคงไม่ได้พูดอย่างนั้น วุฒิภาวะขนาดนี้คงไม่พูดอะไรแบบนี้’
อนุทิน ได้ตอบคำถามเรื่องการเชิญทุกพรรคไปคุยกันก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามการกวักมือเรียกของพรรคเพื่อไทยด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า
‘ก็คุยกันก่อนอยู่แล้วเพราะทำงานด้วยกัน’
ถึงตอนนี้ไม่ว่า ‘เสี่ยหนู-อนุทิน’ จะมาไม้ไหนก็ตาม แต่กระบวนการที่จะนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ได้สะดุดลงไปแล้ว หลังการแก้ไขกฎหมายประชามติ ไม่เป็นไปตามแผน และต้องมาเริ่มตั้งลำกันใหม่
ยิ่งกระแสสังคมมองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่อง ‘ผลประโยชน์เฉพาะตัว’ ของนักการเมือง ยิ่งทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ที่ยากอยู่แล้ว ยากเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
สถานการณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเวลานี้ จึงเหมือนถูกแช่แข็งหรือไม่ก็ปิดประตูตายแบบสนิท
ส่วนการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี2548 ถึงปัจจุบันนั้น แม้ผลศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร จะออกมาแล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นวุ้นอยู่ เพราะยังไร้ข้อสรุป
ยิ่งมาเจอสถานการณ์ที่ติดพันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนทำให้ต้องถอนรายงานออกจากวาระพิจารณาของสภาไป โดยให้เหตุผลขอคุยกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคก่อน
โดยผู้นำฝ่ายค้านฯ ป้ายแดง ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ เห็นว่า ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องถอนร่างรายงานไปก่อน เพราะรายงานเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น แสดงตัวเลือกหลายๆ ตัวเลือก ซึ่งสามารถเดินหน้าร่วมกันได้
‘คิดว่าไม่น่ามีเหตุผลอะไรที่จะต้องถอนร่าง เนื่องจากไม่มีผลผูกพันใดๆ’
ผู้นำฝ่ายค้านฯ คนใหม่ ยังมองว่า เหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา มีผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมืองมากมาย คิดว่าคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ควรจะต้องได้รับการ ‘เยียวยา’ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและได้รับความยุติธรรม
‘เรื่องนี้ไม่ว่าจะถูกดำเนินคดีด้วยวิธีการใด มาตราใดก็ตาม ควรจะได้รับความเป็นธรรมและได้รับการเยียวยา’
แม้ผู้นำฝ่ายค้านฯ จะยังยืนหยัดอยู่ในหลักการเดิม ไม่ว่าโลกจะหมุนไปอย่างไรก็ตาม แต่มาถึงตรงนี้ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม น่าจะเดินมาถึงทางตันที่คงไปต่อได้ยาก
โดยงานนี้คนจากเพื่อไทย อาจารย์ชูศักดิ์ ที่ทั้ง ‘ชงเอง’ และ ‘ทำเสีย’ เองมาตลอด ดูเหมือนทำใจเอาไว้แล้ว เพราะตอบคำถามนักข่าวแบบปลง ๆ ล่วงหน้าไว้ว่า
‘ถ้าเราคิดว่าทำตามนโยบายรัฐบาล ดีไหมล่ะ มันต้องดี ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องไปชี้แจงว่ามีเหตุผลเพราะอะไร แต่ก็หวังว่าวันหน้าจะทำได้’
จับอารมณ์ดูแล้ว ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายนิรโทษกรรม นาทีนี้เหมือนอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากถูกดองหรือไม่ก็แช่แข็งเอาไว้แล้ว