แผนปรับ ฉก.ทม.รอ.904 ส่องอำนาจในมือแม่ทัพภาคที่ 1

8 ต.ค. 2567 - 02:00

  • หลุดแผนปรับโครงสร้าง ฉก.ทม.รอ.904 ส่องอำนาจในมือแม่ทัพภาคที่ 1 คุมกำลังสั่งการ ฉก. 3 เหล่าทัพ

  • ต่อจิ๊กซอว์เกมอำนาจย้อนไปถึงโผโยกย้ายนายทหาร 2567 รอบที่ผ่านมา จะเห็นเค้าลางชิงเก้าอี้กันดุเดือด…เพราะอะไร?

policy-politics-thaiarmy-royalthaiarmy-904-SPACEBAR-Hero.png

ข้อมูลการปรับโครงสร้างหน่วย ฉก.ทม.รอ.904 หรือที่มีชื่อเต็มว่า หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 ที่หลุดมาในมือสื่อ แม้จะยังไม่มีการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้รับผิดชอบโดยตรง

กระนั้นทั้งโครงสร้าง แนวคิด และผู้รับผิดชอบหลัก แต่หลายคนบอกว่า มีแนวโน้มและมีโอกาสเป็นจริงสูง โดยเฉพาะประเด็นตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจรักษาพระองค์ 904 ที่กำลังจะเปลี่ยนจากผู้บัญชาการทหารบกมาเป็นแม่ทัพภาคที่1 อาจจะนำไปสู่การไขปริศนาสำคัญ ว่า ทำไมเดิมพันการช่วงชิงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ในการโยกย้ายครั้งที่ผ่านมา…ถึงสูงลิบ

ตำแหน่ง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ที่ถูกตั้งขึ้นยุคของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก มี พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ. 904 คนแรก มีพล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เป็นรองผบ.ฉก. และพล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี เป็น เสธฯ ฉก.

จากนั้นเมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ ครบวาระในตำแหน่ง ผบ.ทบ.และโอนย้ายเข้าไปรับราชการในตำแหน่งรองเลขาธิการราชวัง พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็ขยับขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 แทน และต่อเนื่องมาถึง **พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ.**คนถัดมา จนดูเหมือน ผบ.ทบ.ทุกคนจะต้องดำรงตำแหน่ง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904

แต่ทันทีที่ พล.เอกเจริญชัย หินเธาว์ เกษียณจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 และไม่มีการโอนย้ายไปรับตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการพิเศษ สังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กลับไม่มีการแต่งตั้ง พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน เป็นผบ.ฉก.ทม.รอ. 904 คนใหม่ 

แต่มีกระแสข่าวร่ำลือกันออกมาว่าอาจมีการปรับโครงสร้างหน่วย ฉก.ทม.รอ.904 ใหม่ โดยลดขนาดหน่วยลง เหลือเพียงหน่วยที่จำเป็น และส่งคืนหน่วยกำลังสำคัญบางหน่วยกลับต้นสังกัด โดยเปลี่ยน ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 จาก ผบ.ทบ. ลงมาเป็น แม่ทัพภาคที่ 1 แทน 

ฉก.ทม.รอ.904 ที่ถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 ประกอบด้วยกำลังทหารรักษาพระองค์ทั้งสิ้น 87 หน่วย จัดจากกำลัง 3 เหล่าทัพ คือ กองทัพบก 67 หน่วย กองทัพเรือ 7 หน่วย และกองทัพอากาศ 13 หน่วย

ต่อมามีการโอนย้าย กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เข้าไปสังกัด หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทำให้ ฉก.ทม.รอ.904 ลดเหลือ 79 หน่วย เป็น กองทัพบก 59 หน่วย กองทัพเรือ 7 หน่วย และกองทัพอากาศ 13 หน่วย

กำลังทั้งหมดขึ้นตรงกับ ผบ.ทบ.ในฐานะ ผบ.ฉก.ทม. 904 ซึ่งจะมีอำนาจสั่งการกำลังทั้ง 3 เหล่าทัพในสังกัด กรณีที่ต้องใช้กำลังในฐานะ ฉก.ทม.รอ.904

กำลังของ ฉก.ทม.รอ.904 กองทัพบก ประกอบด้วย 

กรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ และ 3 กองพันนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า  

กำลังจากทหารราบ 2 กองพล คือ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ทั้ง 2 กองพลมีกำลังทหารราบ จาก 3 กรมทหารราบ คือ กรมทหารราบที่ 31 รอ. ,กรมทหารราบที่ 2 รอ. ,กรมทหารราบที่ 12 รอ. และกรมทหารราบที่ 21 รอ. พร้อมกองพันทหารราบอีก 12 กองพัน

กองพลทหารม้า 1 กองพล คือ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ และ 3 กรมทหารม้ารักษาพระองค์ คือ กรมทหารม้าที่ 1 รอ. ,กรมทหารม้าที่ 4 รอ. , กรมทหารที่ 5 รอ.พร้อมกองพันทหารม้าอีก 14 กองพัน

กำลังจากกรมทหารปืนใหญ่ 2 กรม คือ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รอ.และกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รอ. พร้อมกองพันทหารปืนใหญ่อีก 8 กองพัน

ทหารช่างจากกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และอีก 3 กองพันทหารช่างรักษาพระองค์ และกำลังจากกรมรบพิเศษที่ 3 รักษาพระองค์ พร้อม 2 กองพันหลักของรบพิเศษ คือ กองพันจู่โจม และกองพันปฏิบัติการพิเศษ 

กองทัพเรือ ประกอบด้วย 7 หน่วย คือ 

1 กรมนักเรียนเรือรักษาพระองค์ และ 4 กองพันนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ ,กองพันนาวิกโยธิน 2 กองพัน จากกองพันทหารราบที่ 1 รอ. ,กรมทหารราบที่ 1 รอ. และกองพันทหารราบที่ 9 รอ. กรมทหารราบที่ 3 รอ. สังกัดกองพลนาวิกโยธิน 

กองทัพอากาศ 13 หน่วย คือ 

1 กรมนักเรียนนายเรืออากาศรักษาพระองค์ และ 5 กองพันนักเรียนอากาศรักษาพระองค์ 

1 กรมทหารอากาศโยธินรักษาพระองค์  และ 3 กองพันอากาศโยธินรักษาพระองค์ 

1 กรมทหารต่อสู้อากาศยานรักษาพระองค์ และ 2 กองพันทหารต่อสู้อากาศยานรักษาพระองค์

กำลังทั้ง 3 เหล่าทัพที่สังกัด ฉก.ทม.รอ.904 หากเป็นช่วงเวลาปฏิบัติปกติทุกหน่วยจะขึ้นตรงกับหน่วยต้นสังกัด แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้กำลังในกรณีฉุกเฉิน ผบ.ฉก.ทม.904 ก็จะมีอำนาจสั่งการกำลังทุกหน่วยในสังกัดทันที

อำนาจของ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ที่คุมกำลังของทั้ง 3 เหล่าทัพ ซึ่งเป็นกำลังหลักรอบพระนคร และเคยเป็นกำลังสำคัญที่ใช้ในการรัฐประหาร จึงเป็นอำนาจที่สร้างสมดุลและดึงกำลังที่จะใช้ในการรัฐประหารออกมาจากหน่วยหลักตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา 

ข้อมูลบางส่วนของการปรับโครงสร้าง ฉก.ทม.รอ.904 ที่หลุดออกมาในเมื่อสื่อรอบนี้ โดยจะมีการดึงกำลังบางส่วนที่เป็นหน่วยใช้กำลังส่งคืนต้นสังกัด ปลดคำว่า รอ.หลังชื่อหน่วยออก และเปลี่ยนผบ.ฉก.ทม.รอ.904 จาก ผบ.ทบ. มาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การเมืองที่กำลังร้อนแรง 

เนื่องจากหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝัน และแม่ทัพภาคที่ 1 มีความจำเป็นต้องใช้กำลังในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาพระนคร ก็จะสามารถใช้อำนาจสั่งการในนาม ผบ.ฉก.ทม.904 ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายที่จะบังคับใช้กำลังสำคัญทั้ง 3 เหล่าทัพ เพื่อควบคุมสถานการณ์ อารักขา และถวายความปลอดภัยรอบเขตพระราชฐาน นอกเหนือจากการรักษาความปลอดภัยภายในเขตพระราชฐาน อันเป็นภารกิจของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นกฎหมายที่อยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร

ส่วนการส่งคืนกำลังหลักบางหน่วยจำนวน 3 กรม 13 กองพันกลับคืนต้นสังกัด และปลดคำว่า รักษาพระองค์ออก เนื่องจากเพื่อให้หน่วยต้นสังกัดสามารถใช้หน่วยเหล่านั้น สำหรับปฏิบัติการหลักในภารกิจสำคัญของแต่ละหน่วยได้อย่างเต็มที่ และไม่ต้องกังวลต่อการเป็นหน่วยรักษาพระองค์ ที่อาจกระทบเบื้องสูง สำหรับงานด้านความมั่นคงที่เปราะบาง 

สำหรับ 3 กรม 13 กองพันที่จะส่งคืนต้นสังกัด ประกอบด้วย

กองทัพบก 2 กรม กับ 11 กองพัน คือ 

กรมรบพิเศษที่ 3 รอ. รวมทั้ง กองพันปฏิบัติการพิเศษ รอ. และกองพันจู่โจม รอ.

กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 รอ. กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2

กองพันทหารม้า 5 กองพัน คือ 

กองพันทหารม้าที่ 4 สังกัดพล.1 รอ. ,กองพันทหารม้าที่ 2 รอ.และกองพันทหารม้าที่ 30 รอ. สังกัดพล.ร.2 รอ. กองพันทหารม้าที่ 27 สังกัด พล.ม.2 รอ.  

ทหารช่าง 1 กรม และ 3 กองพัน

กรมทหารช่างที่ 1 รอ. และอีก 3 กองพันทหารช่าง คือ กองพันทหารช่างที่ 52 รอ. และกองพันทหารช่างที่ 112 รอ. และกองพันทหารช่างที่ 2 สังกัด พล.ร.2 รอ. 

กองทัพอากาศ 1 กรม 2 กองพัน คือ 

กรมทหารต่อสู้อากาศยาน รอ. และกองพันทหารต่อสู้อากาศยานที่ 1 รอ.และกองพันทหารต่อสู้อากาศยานที่ 2 

โครงสร้าง ฉก.ทม.รอ.904 ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 จึงเป็นอำนาจเต็ม เปิดทางให้แม่ทัพภาคที่ 1 สามารถสั่งการกำลังหน่วยเฉพาะกิจทั้ง 3 เหล่าทัพได้อย่างเต็มที่

ไม่แปลกที่ ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ในการโยกย้ายครั้งที่ผ่านมา…จึงสำคัญยิ่ง 

ไม่แปลกที่สำคัญถึงขนาดใครบางคน กล้าการันตีกับนักการเมืองใหญ่ว่า หากตัวเองได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 รับประกันว่า ‘จะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นแน่นอน

เพราะวันนี้ตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 1 ไม่เพียงเป็นประตูบานแรกของการก้าวไปสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ.เท่านั้น 

หากในสถานการณ์ฉุกเฉินยังมีอำนาจทั้งในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาพระนคร ตามแผนไพรีพินาศ ตาม พรบ.ความมั่นคงแล้ว ยังมีอำนาจสั่งการทั้งในฐานะ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ซึ่งคุมกำลังหลักทั้ง 3 เหล่าทัพรอบพระนครอีกด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์