กลายเป็นประเด็นร้อนและเกิดกระแสลุกเป็นไฟลามทุ่งอยู่ในโลกโซเชียลเพียงชั่วพริบตาหลังจาก พิธีกรสุดฮอตขวัญใจมหาชน ‘หนุ่ม’ กรรชัย กำเนิดพลอย จาก ‘โหนกระแส’ ออกมาเปิดเผยกลางรายการว่ากำลังจ่อจะเช็คบิลธุรกิจเครือข่ายชื่อดังที่รู้จักกันทั้งเมือง The iCON Group จนทำให้ # ดิไอคอนกรุ๊ป และ #บอสพอล ติดอันดับบนเทรนด์ทวิตเตอร์บนโลกโซเชียลอย่างง่ายดาย
แทบไม่น่าเชื่อว่าไม่ถึง 24 ชั่วโมง พลานุภาพของพิธีกรคนดังอย่าง ‘หนุ่ม’ กรรชัย จะทำให้เกิดปรากฎการณ์ทางสังคมที่มีผู้ที่ได้รับความเสียหายที่ถูกขายฝันให้มาร่วมลงทุนธุรกิจขายตรงของ ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ แต่ต้องสูญเสียเงินทองกันจนบางรายถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวพร้อมใจกันออกมาเปิด ‘วอร์’ ร้องเรียนผ่านโซเชียลมีเดีย จนทนาย ‘จุ๊กกรู’ เดชา กิตติวิทยานันท์ อาศัยจังหวะชิงพื้นที่ข่าว ‘ปาดหน้า’ เสนอให้ความช่วยเหลือบรรดาผู้ที่ได้รับความเสียหายเพื่อให้รวมตัวกันเปิดเกมรุก เตรียมไปแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดในวันนี้ (10 ตุลาคม 2567)
กระแสข่าวเรื่องนี้ยังร้อนแรงถึงขนาดทำให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ (ว่าที่) ผบ.ตร. ป้ายแดง ยังต้องโดดลงมาเร่งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบเบื้องต้น โดยรองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน ถึงกับระบุว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้นของตำรวจไซเบอร์ เคสนี้น่าจะเป็น งานใหญ่ งานช้าง ที่อาจจะเข้าข่าย ฉ้อโกง และหลอกลวงประชาชน และกระทำผิดพรบ.ขายตรง
มาถึงชั่วโมงนี้ต้องบอกว่า คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘พอล วรัตน์พล วรัทย์วรกุล’ หรือ ‘บอสพอล’ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ดิไอคอนกรุ๊ป นักธุรกิจหนุ่มพันล้าน เจ้าของประโยค ‘ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย’ ที่กำลังตกเป็น ‘เป้าหมาย’ เบอร์หนึ่งในฐานะบอสใหญ่ ที่ปรากฏตัวหราอยู่บนป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทั่วเมือง ประกบด้วยคนบันเทิงที่มาร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์ ที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็น ‘บอส’ ที่ต้องตกกระไดพลอยโจน ‘งาน’เข้าตามไปด้วย
บรรดาคนบันเทิงที่เข้าไปมีส่วนร่วมในอาณาจักรของ ดิไอคอนกรุ๊ป มีทั้ง ‘กันต์’ กันตถาวร ‘แซม’ ยุรนันท์ ภมรมนตรี ‘มิน’ พีชญา วัฒนามนตรี ‘ป้อง’ ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ‘โดม’ ปกรณ์ ลัม “เวียร์” ศุกลวัฒน์ คณารศ ‘บอย’ ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ และ ‘พีพี’ กฤษฏ์ อำนวยเดชกร
ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้รูปแบบการตลาด ‘ขายตรง’ Direct Marketing กับ ‘แชร์ลูกโซ่’ มีเส้นแบ่งที่เบาบาง และมีช่องโหว่ทางกฎหมายที่ทำให้มีคนที่เห็นโอกาสใช้เล่ห์กลเดิม ๆ และกลไกเดิม ๆ ที่ถูกเอามา ‘รีเมค’ ใหม่ ให้สอดคล้องกับบทบทของยุคสมัย ที่ทำให้มีผู้คนยังพลัดหลงไปติดใน ’กับดักแห่งความโลภ’
หากดูรูปแบบการสร้างธุรกิจแบบเครือข่ายของ ดิไอคอนกรุ๊ป มีโครงสร้างการจ่ายผลตอบแทนที่ยาวและสูงมาก และน่าจะเข้าข่าย ‘แชร์ลูกโซ่’ แต่มีการวางโครงสร้างการหาลูกค้าที่แปลกใหม่ โดยเลือกใช้ดาราดัง ๆ มาเป็น ‘บอส’ สร้างภาพให้ดูเหมือนว่าร่วมทำธุรกิจ
ทั้งหมดเริ่มต้นจากการหว่านล้อมให้ผู้คนเข้ามาร่วมทำธุรกิจเป็น ‘ดาวน์ไลน์’ โดยใช้วิธีการเปิดสอนคอร์สการ ‘ยิงแอด’ ทำตลาดแบบออนไลน์ยุคใหม่ ในราคาแค่ 98 บาท เพื่อดึงดูดให้คนหลง ‘แหย่เท้า’ ก้าวย่างเข้ามาในวงจรอุบาทว์ของธุรกิจเครือข่าย แต่เมื่อหลวมตัวเรียนไปแล้ว ตอนท้ายจะมีการเสนอขายสินค้าของบริษัทโดยให้ทดลอง ‘เปิดบิล’ ซื้อสินค้าของบริษัท ซึ่งมีตั้งแต่หลักพันไปจนเป็นหลักแสนบาท โดยสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าธรรมดา ๆ เช่น พวกวิตามิน ยาบำรุง แต่กลับขายในราคาที่สูงเกินจริงไปมาก เพื่อให้มีมาร์จินหรือกำไรสูงมากพอจะจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ร่วมลงทุน
แทนที่จะเน้นเรื่องเทคนิคการขายตรงเพื่อขายสินค้า แต่ดิไอคอนกรุ๊ปกลับหว่านล้อมด้วยขายฝันการันตีความสำเร็จ จาก ‘บอส’ ที่เป็นดาราดัง และเร่งให้เปิดบิลซื้อสินค้าให้ครบตามเป้าเพื่อรับโบนัส ที่ยิ่งสูงก็ยิ่งมีโอกาสสัมผัสกับรูปแบบชีวิตที่ ‘กินหรู อยู่สบาย’ มีตั้งแต่ ทริปเรือยอร์ช แจกทอง และสูงสุดหากทำได้จะมีโอกาสเป็นเจ้าของรถหรูระดับ BMW
แต่ทั้งหมดก็คือวิธีการดูดเงินจากคนที่ถูกหว่านล้อมให้เข้ามาร่วมลงทุน ยิ่งเปิดบิลซื้อสินค้ามากขึ้นเพื่อทำยอดให้ถึงเป้า ก็ยิ่งต้องพยายามหาลูกข่ายเพื่อขายสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะนำเงินลงทุนคืนมา ซึ่งไม่ใช่ระบบของการลงทุนทางธุรกิจที่แท้จริง แต่มันคือระบบของ ‘แชร์ลูกโซ่’ ที่กลายพันธุ์ในรูปแบบการตลาดออนไลน์
การออกแบบในลักษณะแบบนี้ ทำให้ขณะที่เกมยังดำเนินไปอยู่ ทุกคนดูเหมือนจะรวยกันหมด คนเก่าได้เงินจากคนใหม่ คนใหม่ก็มีโอกาสรวยจากคนใหม่กว่า ทำให้ทุกคนที่อยู่ในเกมนี้ ห้ามเอ๊ะ ห้ามสงสัย ห้ามฟ้องร้อง เพราะเมื่อเกมหยุด ทุกคนในเกมจะเสียหายทันที
ตราบใดที่เกมยังไม่จบ ก็จะไม่มีผู้เสียหาย เมื่อไม่มีผู้เสียหาย ภาครัฐและผู้ดูแลกฎหมายก็จะไม่เข้ามาวุ่นวาย ปล่อยให้เกมนี้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อถึง ‘จุดอิ่มตัว’ ไม่สามารถรองรับการขยายตัวได้ต่อไป ‘วงแชร์ลูกโซ่’ ก็จะพังลงด้วยน้ำหนักของตัวมันเอง
เพราะเหตุนี้จึงทำให้บริษัทที่ก่อตั้งได้เพียงไม่กี่ปีที่กล้าทุ่มทุนสร้าง ‘เล่นใหญ่’ ขึ้นป้ายโฆษณาติดเต็มไปหมดบนท้องถนน มีดาราระดับ ‘เซเลบ’ มาร่วมโปรโมท จึงสามารถทำยอดขายได้ระดับหมื่นล้านบาทใน 6 ปี โดยมียอดขายสูงสุดถึง 4.9 พันล้านบาทในปี 2564 แต่ก่อนหน้านี้กลับไม่มีใครเคยพูดถึง
แต่ภายหลังปี 2564 ชื่อของ ดิไอคอนกรุ๊ปเริ่มมีคนสนใจน้อยลง ประกอบกับสินค้าก็ไม่ติดตลาด ทำให้ดึงสมาชิกใหม่เข้าระบบได้น้อยลง ถึงแม้จะมีสมาชิกบางกลุ่มพยายามทำการโฆษณาอย่างหนัก เพื่อหาสมาชิกใหม่มาเข้าโครงการเรื่อย ๆ แต่ในที่สุดข่าวในแง่ลบเริ่มมีมากขึ้น คนเริ่มไม่ค่อยหลงกลสมัครเรียนและเปิดบิล วงจรของแชร์ลูกโซ่กลายพันธุ์จึงเริ่มสะดุด และมีผู้เสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ
หากวิเคราะห์งบการเงินบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ในปี 2564 มีรายได้สูงถึง 4.95 พันล้านบาทแต่รายได้ในปีต่อมากลับลดลงอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญคือ เหลือเพียง 3 พันล้านบาทในปี 2565 และลดฮวบลงเหลือเพียง 1.89 พันล้านบาท ในปีที่แล้ว ในขณะที่ต้นทุนขายในปี 2564 อยู่ที่ 3.7 พันล้านบาท และลดลงเหลือ 2.38 พันล้านบาทในปี 2565 โดยในปีที่ผ่านมาต้นทุนขายลดลงอีกเหลือราว 1.7 พันล้านบาท
จะเห็นได้ว่าหลังจากที่ทำรายได้สูงสุดในปี 2564 แต่หลังจากนั้นรายได้ก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ ในขณะที่ต้นทุนขายก็ลดลงเช่นกัน แต่ถ้าเปรียบเทียบจากกำไรเบื้องต้น หรือ Gross Profit Margin - GPM จะเห็นว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทุกปี ที่อาจเมาจากกำไรจากการขายลดลง
ที่สำคัญหากดูจากกำไรสุทธิ จะพบว่า ธุรกิจของ ดิไอคอนกรุ๊ป เริ่มดิ่งลงอย่างมหาศาล จากระดับ 1,022 ล้านบาท ในปี 2564 เหลือเพียง 296 ล้านบาทในปี 2565 และในปีที่แล้ว มีกำไรหลือแค่ 28 ล้านบาท
ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวงจรธุรกิจแบบ ‘แชร์ลูกโซ่’ ของ ดิไอคอนกรุ๊ป กำลังปักหัวลงอย่างชัดเจน ถึงแม้จะไม่เกิดกระแสลบจากผู้เสียหายที่กำลังแบกสต็อคสินค้าที่ขายไม่ออก จนเกิดอาการ ‘ระเบิด’ ออกมาอย่างที่เป็นข่าว แต่ ‘ปิระมิด’ ธุรกิจของดิไอคอนกรุ๊ป กำลังน่าจะใกล้ถล่มอยู่แล้ว
บางทีมรสุมลูกใหญ่ที่กำลังซัดเข้าใส่ บอสพอล หรือ วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ถึงแม้จะทำให้ธุรกิจ ‘แชร์ลูกโซ่’ กลายพันธุ์วงนี้วงแตก ต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย แต่ในอีกมุมหนึ่งมันอาจจะเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ที่กลายเป็นทางรอดแบบ ‘พิสดาร’ ของ ‘บอสพอล’ ก็เป็นได้...