นาทีนี้คงไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่า ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะสองพรรคการเมืองใหญ่ ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ ที่ยืนซดหมัดกันมาหลายยก จนเลยคำว่า ละครตบจูบ และไปไกลกว่าสิ่งที่เรียกว่าผลัดกันเกาหลัง พร้อมแตกหักกันได้ตลอดเวลา
โดยเฉพาะสงครามตัวแทนของสองสี ศึกแดง-น้ำเงิน ในเรื่อง “ฮั้ว สว.” ที่ฝ่ายแดงเปิดเกมรุกหนัก ถึงขั้นออกข่าวประจาน สว.สีน้ำเงินเบอร์ใหญ่ๆ กันแบบยกเข่ง แถมเตรียมเปิดก๊อกสอง ออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 97 ราย
นัยว่าชุดหลังนี้ จะมีระดับคีย์แมนคนสำคัญที่เป็น “หัวจ่าย-มือจ่าย” ไล่ไปตามเส้นทางเงินโยงไปถึงยุบพรรคได้ด้วย
การออกตัวแรงชนิดเกินเบอร์ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมหนนี้ เป็นปฏิบัติการสืบเนื่องจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ขู่ใช้กฎหมายดีเอสไอ มาตรา 22 เอาผิดผู้ว่าฯ อำนาจเจริญ ที่ไม่ให้ความร่วมมือสอบฮั้ว สว.
ขณะที่กระทรวงมหาดไทย โดยอธิบดีกรมการปกครอง โต้กลับด้วยการทำหนังสือถึงอธิบดีดีเอสไอ พร้อมส่งหนังสือเวียนแจ้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ไปจนถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย คุ้มครองสิทธิหากมีการข่มขู่คุกคามประชาชนเกิดขึ้นในพื้นที่
ทั้งๆ ที่กระบวนการสอบฮั้ว สว.เพิ่งจะเริ่มต้นยกหนึ่งในชั้นของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต.อันมีตัวแทนดีเอสไอ 3 รายรวมอยู่ด้วย แต่ดูเหมือนจะมีบทบาทสูงกว่าตัวแทนจาก กกต.ที่มี ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต.เป็นประธานชุด
กว่าคดีฮั้ว สว.จะผ่านไปถึงด่านสุดท้ายให้ที่ประชุมใหญ่ กกต.ชี้ขาดส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ยังต้องผ่านเลขาธิการ กกต.ที่มีเวลาพิจารณา 60 วัน ก่อนเสนอให้อนุกรรมการวินิจฉัยส่งเรื่องให้ กกต.ดำเนินการต่อ
ทั้งหมดยังต้องใช้เวลาอีกเป็นปี ดังนั้น การออกมาตีปี๊บคดีฮั้ว สว.ในชั้นนี้ จึงหวังผลให้เป็นข่าวเสียมากกว่า
ส่วนจะต้องการกลบข่าวหรือให้เป็นข่าวคู่ขนานไปกับมติแพทยสภา เรื่องปมป่วยทิพย์ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ที่มาพร้อมกับข่าวศาลยกคำร้องขอเดินทางไปต่างประเทศของ ทักษิณ ชินวัตร ในวันเดียวกัน( 8 พ.ค.) หรือไม่
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด แต่ทั้งหมดล้วนถูกโยงเข้าหากัน
รวมทั้ง ข้อเสนอทำประชามติร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ที่เป็นคิวแทรกจาก อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จนนำไปสู่รายงานข่าวขู่คว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 จากพรรคภูมิใจไทยในเวลาต่อมา
สถานการณ์มะรุมมะตุ้มข้างต้น เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่บ้านเมืองถูกตั้งคำถามจะไปต่ออย่างไร ในท่ามกลางสงครามการค้าโลก เศรษฐกิจย่ำแย่ ไฟใต้ปะทุ ชายแดนรอบด้านมีปัญหา การเมืองภายในก็ขัดแย้ง เพราะผู้นำอ่อนแอ
วันนี้สังคมไทยจะหลอกตัวเองไปได้อีกนานขนาดไหนว่า แพทองธาร ชินวัตร คือผู้นำประเทศตัวจริง?!
เมื่อการเดินทางกลับประเทศของทักษิณในช่วงเกือบสองปี เป็นเรื่องของเหตุผลด้านการเมือง และการดำรงตนอยู่ของทักษิณทำให้เกิดสารพัดปัญหาขึ้น จึงทำให้การเมืองต้องวนกลับไปจุดเดิมที่ว่า การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง อีกครั้ง
ไม่ได้หมายถึงให้ใช้ช่องทางพิเศษใด แต่จัดการไปตามวิถีประชาธิปไตยที่ใช้อยู่ปัจจุบัน บน 3 เสาหลัก คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ก็ว่ากันไปตามครรลองนั่นแหล่ะ
ส่วนจะเอากันหนักเบาหรือถอยไปไกลขนาดไหน ก็มีตั้งแต่เบาสุดปรับ ครม.เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี หรือนายกฯ ลาออก สรรหาตัวผู้นำกันใหม่ ไปจนถึงยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนไปเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่
แต่ก่อนอื่นต้องตอบให้ได้ก่อนว่า ณ เวลานี้ ปัญหาของประเทศอยู่ที่ตรงไหน?
ถ้ารู้เหตุแห่งทุกข์ว่าเกิดที่ตรงไหนแล้ว ก็ใช้หลักอริยสัจ 4 ทางการเมือง หาหนทาง “ดับทุกข์” ออกจากทุกข์นั้นเสีย
เพราะฉะนั้น ปัญหาวุ่นๆ ทางการเมืองเวลานี้ เป้าใหญ่จึงไม่ได้มีแค่ปมขัดแย้ง ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ สอย สว.สีน้ำเงิน หรือ ‘ทักษิณ’ ต้องกลับเข้าคุกหรือไม่?
แต่มันคือเกมเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี หาผู้ที่มีความสามารถมานำพาบ้านเมืองออกจากสถานการณ์วิกฤติของประเทศที่อยู่ในขั้นตรีทูต
ส่วนจะใช้ช่องทางไหนอย่างไร อีกไม่นานคงได้เห็นกัน เพราะชั่วโมงนี้ปัญหาของประเทศ ไม่ได้เป็นเรื่องลำพังของสองพรรคใหญ่เท่านั้น