‘การเมืองร้อนๆ’ หลังสงกรานต์

16 เม.ย. 2567 - 05:36

  • ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ไปต่ออย่างไร? รอวัดใจกฤษฎีกา-ครม.

  • เตรียมนับถอยหลังยุบ ‘พรรคก้าวไกล’

  • จับตาปรับ ครม. ‘ตั้งอยู่-ดับไป’ ไม่มีใครเป็นสรณะ!

politic-after-songkran-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังฉลองสงกรานต์สาดน้ำดับร้อนกันไปแล้ว ต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องของอุณหภูมิทางการเมืองบ้าง ที่หลังสงกรานต์จะยังร้อนแรงต่อ ไม่ว่าจะเป็นการปรับคณะรัฐมนตรี, คดียุบพรรคก้าวไกล และการแจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต ที่ล้วนเดินมาถึงจุดที่เรียกว่า “ไฟต์บังคับ” ทั้งนั้น

การ ‘ปรับ ครม.เศรษฐา 1’ คงไม่มีอะไรต้องลุ้นกันอีก เพราะเปิดออกมาโล่งโจ้งเสียขนาดนั้น โดยเฉพาะคนที่ต้องลุกจากเก้าอี้เสนาบดีไปทำภารกิจให้พรรคในส่วนของสภาฯ ‘ชลน่าน-สุทิน’ ที่มีปูมหลังมาจาก ‘สส.นกแล’ ด้วยกันทั้งคู่ ในวันที่พรรคไทยรักไทย ได้รับชัยชนะเลือกตั้งมาแบบแลนด์สไลด์

จาก สส.นกแลเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน วันนี้ทั้งคู่ต่างมีผลงานโดดเด่นในสภาฯ จึงถูกพรรคเรียกใช้งานให้เข้ามารับหน้าที่เป็นหัวหอกคู่ขับเคลื่อนงานในสภาฯ ซึ่งต่อจากนี้ จะมีร่างกฎหมายสำคัญๆ ทยอยเข้าสู่การพิจารณาหลายฉบับ นับจากการเปิดสภาสมัยวิสามัญช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป

“ปรับออกไปแล้วก็ปรับเข้ามาใหม่ได้ มันแล้วแต่วาระของเหตุการณ์ อย่างเหตุการณ์ปัจจุบันอาจต้องการบางบุคคลเข้าไปช่วยงานในสภาฯ พอสภาฯ แข็งแกร่ง ท่านอาจจะกลับเข้ามาใหม่ก็ได้ มันไม่ใช่เป็นอะไรที่จบแล้วจบเลย”

‘นายกฯ เศรษฐา’ บอกถึงการ ‘ปรับ ครม.’ ที่จะมีขึ้นชัดเจนเป็นครั้งแรก ณ ที่ชายทะเลหัวหิน ในช่วงวันหยุดยาว ปรับเพื่อให้ถูกฝาถูกตัวและสอดรับกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่จะมีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลหลังเทศกาลสงกรานต์

ในขณะที่ผู้นำทางจิตวิญญาณ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ก็พูดถึงการปรับ ครม.ไว้ที่ จ.เชียงใหม่ เช่นกันว่า

“ไม่มีอะไรเป็นสรณะ เพราะมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีตำแหน่งแล้วก็ต้องหมดตำแหน่ง ก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่าคิดอะไรมาก ระหว่างที่มีตำแหน่งอยู่ก็ทำให้ดีที่สุด สร้างชื่อเสียงให้กับบ้านเมืองไป”

เมื่อมีคำตอบออกมาชัดเจนขนาดนี้แล้ว จึงไม่มีอะไรต้องค้นหากันอีกเรื่อง ‘ปรับ ครม.เศรษฐา 1’ ที่ต้องมีขึ้นในเร็ววันนี้ อย่างช้าสุดไม่น่าจะเกินต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนใครจะมาใครจะไปในตำแหน่งไหนบ้าง คงไม่หนีจากที่สื่อได้นำเสนอรายชื่อกันไป รอเพียงการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเท่านั้น

ความน่าสนใจต่อจากนี้ น่าจะอยู่ที่สภาฯ มากกว่า ‘ชลน่าน-สุทิน’ ไปแล้วจะมีตำแหน่งอะไรรองรับ เก้าอี้ประธานรัฐสภา ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ จะยังมั่นคงแข็งแรงอยู่อีกหรือไม่ ถ้าจะต้องถึงเวลาขยับใครจะมานั่งแทน ‘พ่อมดดำ’ สุชาติ ตันเจริญ ที่กบดานเงียบอยู่นานหลังพลาดเก้าอี้ตัวนี้ จะยังอยู่ในวงโคจรได้รับการพิจารณา หรือต้องไปหาสนามบินอื่นลงจอดแทน หรือว่าจบไปแล้ว

การจัดทัพใหม่ในสภาฯ จึงน่าจับตาดูไม่น้อย เพราะหากพรรคก้าวไกล มีอันต้องถูกยุบจริง ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ก็ต้องพ้นจากรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ไปด้วย เพราะเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ในชุดที่ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองด้วยเช่นกัน

การยุบพรรคก้าวไกล ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ไปพูดไว้ที่ จ.ขอนแก่น ในวันสุดท้ายของการสาดน้ำสงกรานต์

“เชื่อว่าคำวินิจฉัยจะออกมาไม่เกิน 1 เดือนต่อจากนี้ และนี่อาจจะเป็นสงกรานต์ครั้งสุดท้ายของผมในฐานะผู้แทนราษฎร”

แต่อีกด้าน พิธาก็มีความหวังว่าพรรคก้าวไกลจะรอด จากกำลังใจที่พี่น้องชาวอีสานมอบให้ ทั้งการผูกข้อมือ การผูกผ้ารอบเอว การคล้องพวงมาลัย พรที่พระให้ รวมถึงน้ำที่สาดเข้ามา

“กำลังใจเหล่านี้เปรียบเสมือนลมใต้ปีกที่คอยพยุงตัวผม และพรรคก้าวไกลให้สู้ต่อไปอย่างเข้มแข็งในสถานการณ์ที่ยากลำบากอีก 1 เดือนต่อจากนี้ และหวังว่าพวกเราจะชนะ เพื่อให้ครั้งต่อไปที่กลับมาหาพี่น้องประชาชน เราจะยังกลับมาในฐานะพรรคก้าวไกลและผู้แทนราษฎรเช่นเดิม”

พิธา ยังพูดทิ้งท้ายด้วยว่า “ถ้าเป็นไปได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ก็อาจจะกลับมาในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยด้วย” จะเป็นคำกล่าวที่เกินเลยไปหรือไม่ ให้รอดูจากผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ก่อน

สุดท้าย ‘เงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท’ ที่จะแจกในไตรมาส 4 แม้รัฐบาลจะแถลงเป็นมั่นเป็นเหมาะไปแล้ว แต่ดูจากรายละเอียดต่างๆ ที่มีออกมา ไม่ว่าการใช้เงินจาก ธกส. จำนวน 172,300 ล้านบาท จะตรงกับวัตถุประสงค์ของ ธกส.หรือเปล่า

โดยเฉพาะที่กำหนดไว้ในหมวด 2 มาตรา 9 ซึ่งมีด้วยกัน 17 ข้อ ที่อดีต รมว.คลัง ‘กรณ์ จาติกวนิช’ ยืนยันว่า ไม่มีข้อไหนเลยที่เปิดให้รัฐบาลนำเงิน ธกส.มาแจกประชาชนได้ แม้บางคนจะมีอาชีพเป็นเกษตรกรก็ตาม เพราะวัตถุประสงค์การแจกเงินดิจิทัล ประกาศไว้ชัดว่า เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อการบริโภค ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเกษตร

และแม้แต่วิธีการที่จะนำเงินธกส.มาใช้ ก็ยังไม่ชัดจะใช้คำไหนระหว่างคำว่า ‘กู้’ หรือ ‘ยืม’ เพราะหากเป็นการกู้ก็ต้องใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย แต่ถ้ายืมก็ต้องทยอยคืนในโอกาสที่เหมาะสมและไม่มีดอกเบี้ย แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน ‘รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร’ อดีต กกต. กาง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังดูแล้ว ถือว่าเสี่ยงทั้งคู่

ทั้งนี้ เพราะในมาตรา 28 เขียนเอาไว้ชัดว่า “โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียในการดำเนินการนั้น”

รศ.สมชัย ขยายความว่า เมื่อเอาเงินออกไปใช้ย่อมทำให้ ธกส.สูญเสียโอกาส โดยยกอัตราดอกเบี้ยธนาคารทั่วไปซึ่งอยู่ที่ 7.05-7.25% ต่อปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยธกส.อยู่ที่ 6.975% ต่อปี มาเทียบเคียง

นั่นเท่ากับว่า ถ้ากู้เงิน ธกส.จำนวน 172,300 ล้านบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ย 12,000 ล้านบาทต่อปี

ดูเหมือนจะผิดทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่ว่าจะใช้วิธีการแบบไหน เพราะกฎหมายไม่เปิดให้เอาเงิน ธกส.มาแจก ซึ่งต่างจากการนำเงินธกส.มา ‘สำรองจ่าย’ ในโครงการรับจำนำข้าวและโครงการประกันราคาพืชผล ที่ถี่ห่างอย่างไร ‘กรณ์ จาติกวนิช’ ยืนยันว่า เป็นไปตามภารกิจตามกฎหมาย ธกส.ทั้งคู่

ในเมื่อรัฐบาลเห็นว่า การแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท เป็นนโยบายเรือธง ไม่ว่าจะอย่างไรต้องลุยไฟไปให้ได้ คงต้องรอวัดใจกฤษฎีกาจะว่าอย่างไร รวมทั้งด่านสุดท้ายที่ต้องผ่าน ครม.พรรคร่วมรัฐบาล จะเอาด้วยหรือไม่

การเมืองหลังสงกรานต์เรื่อง ‘เงินดิจิทัลวอลเล็ต’ จึงน่าจะร้อนกว่าใคร ในบรรดาที่ไล่เรียงมาทั้งหมด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์