แม้บนหน้าสื่อรายชื่อ ครม.ชุดใหม่ ‘อิ๊งค์ 1’ จะยังไม่นิ่ง ทั้งรายชื่อเกิน รายชื่อเฉดเทา ๆ บางรายในสายตาสาธารณชน ปุถุชน วิญญูชน ยิ่งในหมู่ทุรชนด้วยแล้ว ต่างรู้กันโดยทั่วไปว่า บางคนอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าดำสนิทด้วยซ้ำ
แถมบางพรรคยังมีปัญหาวิ่งราวเก้าอี้รัฐมนตรีกันภายในไม่จบ ต้องตามทวงสัญญากันให้วุ่น
แต่ตามข่าวยืนยันว่า กระบวนการจัดตั้งครม.ใหม่ ได้เดินหน้าไปตามปฏิทินที่กำหนดไว้ เตรียมนำรายชื่อที่ผ่านการตรวจสอบขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในช่วงกลางเดือนกันยายน จะได้ทันใช้งบประมาณปี67 ก่อนสิ้นสุดปีปฏิทินในวันที่ 30 กันยายนนี้
ส่วนใครจะมีปัญหา ไม่มีปัญหาอย่างไร จะดิ้นรนขอเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อต้องการเข้ามาทำงานให้บ้านเมือง หรือจำใจเข้าร่วมรัฐบาล เพราะไม่อยากอยู่กับฝ่ายค้าน ที่มีแนวความคิดคนละทางกับพรรคตัวเองก็ตาม
ตรรกะที่นำมาอวดอ้างเหล่านี้ ‘วิญญูชน’ ย่อมรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
แต่สำหรับคนที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ต้องเป็นผู้ไม่มีปัญหา ‘ด่างพร้อยเรื่องจริยธรรม’ คุณธรรมและศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญกำหนดแนวทางไว้ในคำวินิจฉัยที่ 17/2567 กรณีให้ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567
ผู้จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรวัดจึงไม่ได้มีแค่คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น
โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรี ที่จะเข้ามาใช้อำนาจบริหารประเทศ รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติไว้สูงกว่าผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กล่าวคือ สำหรับผู้เป็น สส.แม้อยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีและศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว แต่คดียังไม่ถึงที่สุดและได้รับการปล่อยตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี ก็ไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ
ในทางกลับกัน ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไว้ใน (7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
เพราะฉะนั้น กรณีที่เป็นข่าวครึกโครมของ ‘เอกนัฏ พร้อมพันธุ์’ อดีตแกนนำ กปปส.ซึ่งมีทั้งเรื่องถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปี โดยรอลงอาญา แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง ซึ่งตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาของสำนักงานอัยการสูงสุด กำหนดไว้ว่าถ้าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาแตกต่างกัน อัยการต้องมีคำสั่งฎีกา เพื่อให้ศาลฎีกาตัดสินชี้ขาด
ดังนั้น หากยึดตามระเบียบนี้ คดีของเอกนัฏ ยังไม่ถึงที่สุดและน่าจะเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7)
ไม่นับประเด็นการไปเป็นพยานคดีความผิดมาตรา 112 ให้กับ ทักษิณ ชินวัตร ในชั้นอัยการก่อนจะมีคำสั่งฟ้องว่า การกระทำของทักษิณไม่เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ทั้ง ๆ ที่เอกนัฏเคยเป็นแกนนำ กปปส.ที่ชุมนุม **‘ขับไล่’**รัฐบาลในระบอบทักษิณมาก่อน
ล่าสุดเอกนัฏ ยืนยันไม่ได้ให้การอย่างที่เป็นข่าว แต่ผู้ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ ก็ยืนยันเช่นกันว่ารายละเอียดทั้งหมดมีอยู่ในสำนวนอัยการ หากมีการฟ้องร้องจะได้ขอศาลเรียกข้อมูลในส่วนนี้มาเปิดเผย
เอาเป็นว่า การไปเป็นพยานให้ใครแม้จะเป็นสิทธิส่วนตัว แต่การไปเป็นพยานช่วยเหลือทักษิณในคดีนี้มาตรา 112 ของเอกนัฏ ถูกมองว่า **‘หมิ่นเหม่’**ต่อความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงอันเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีหรือไม่?
เพราะการต่อสู้กับระบอบทักษิณในนามกลุ่ม กปปส.ที่ผ่านมา ซึ่งมีคนเจ็บ คนตาย เป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน แต่วันนี้กลับมาเป็น **‘ส่วนหนึ่ง’**ของรัฐบาลที่ตัวเองต่อสู้มาเกือบตลอดชีวิตทางการเมืองเสียเอง
ที่แม้แต่นักวิชาการที่เคยขึ้นเวที กปปส.ยังออกมาฟาดแรง ๆ ว่า ‘เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า’
ส่วนคนอื่น ๆ อีกหลายคนที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ก็ได้รับการตรวจสอบปูมหลังในลักษณะเดียวกัน คือ ไม่เฉพาะเรื่องคดีความ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ที่อยู่ใน ป.ป.ช.ด้วย เพื่อดูถึงพฤติกรรมในอดีต ว่าบุคคลดังกล่าวมีความเหมาะสมจะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่
เอาเป็นว่า การเป็นรัฐมนตรี พ.ศ.นี้ มีขอบเขตขัณฑสีมาของคุณสมบัติที่มากกว่ากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้วัดกันแค่เรื่องการสิ้นสุดของคดีความ หรือคำว่าเคยเข้าคุกมาก่อนหรือเปล่าเท่านั้น แต่ยังมีเครื่องกรองที่ชื่อ ‘จริยธรรม’ เป็นอีกด่านสำคัญด้วย
รอดูหลังครม.อิ๊งค์ 1 คลอดออกมาแล้ว จะมีใครเจอแจ็คพอตถูกร้องมีปัญหาจริยธรรมบกพร่องอีกหรือไม่?!