แจกเงินหมื่นจบที่ 14.5ล้านคน ความจริงที่รัฐบาลไม่กล้าพูด

16 ก.ย. 2567 - 10:02

  • ขึ้นต้นด้วยนโยบายระดับเรือธง แต่จบแบบจากไปเงียบ ๆ

  • เงินหมื่นดิจิทัล ได้เวลาพับเก็บโครงการทำได้แค่จาก 14.5 ล้านคน

  • แต่ยังไม่กล้าประกาศความล้มเหลว ยึดเวลาหลอกกันต่อไป

politics-economic-business-digitalwallet-SPACEBAR-Hero.jpg

ใครที่ไปลงทะเบียนรอรับแจกเงิน 10,000 บาท ในโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือดิจิทัล วอลเล็ต  ถ้าไม่ใช่ ‘กลุ่มเปราะบาง’ คือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเป็นคนพิการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ไว้ก่อนแล้ว

อย่า ‘รอ’ และอย่า **‘หวัง’**ว่า  จะได้รับเงิน 10,000 บาท ในเฟสต่อไป  จะเป็นปีหน้าหรือปีไหน จะได้รับทีเดียว เป็นเงินสด 10,000บาท หรือแบ่งเป็น 2 งวดๆละ 5,000 บาท  จะรอเก้อ และผิดหวัง เพราะการแจกเงินที่ไม่ใช่เงินดิจิทัลแต่เป็นเงินสด 10,000 บาท ‘จบแล้ว’ โดยมีเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ว่า 14.5 ล้านคน ที่จะได้รับเงินตั้งแต่ วันที่ 25 -30 กันยายนนี้  

ส่วนคนที่ไปลงทะเบียนผ่าน ‘ทางรัฐ’ ประมาณ 33  ล้านคน ไม่ได้

ไม่ใช่แจกปีนี้ไม่ทัน เลื่อนไปปีหน้า  แต่เพราะ ‘เงินไม่พอ’  คือมีเงินจากงบประมาณปี 2568 ที่กันไว้สำหรับโครงการนี้แค่ 1.87  แสนล้านบาท ยังขาดอยู่อีกถึง 1.13แสนล้านบาท  จึงจะพอแจก ไม่รู้จะไปหามาจากไหน 

นอกจากนั้น ยังมีคำถามซึ่งก็เป็นคำถามเดิม ๆ ที่ทักท้วงถึงการใช้เงินจำนวนมหาศาลว่า คุ้มค่า เกิดประโยชน์จริงหรือไม่ 

สำหรับเงินที่จะแจกให้กับกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน จำนวน 1.45 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาล**‘จำเป็นต้องแจก’** เพราะตั้งงบกลางปี 2567 ไว้แล้ว เงินมาแล้วต้องใช้ให้หมดภายใน วันที่ 30 กันยายนนี้ ถ้าไม่หมดต้องคืนคลัง และนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาจมี**‘ความผิดตาม พ.ร.บ. ว่า ด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ’**

ถือว่า เป็นโชคดี เป็น ‘ส้มหล่น’ ของคนในกลุ่มเปราะบาง ที่อีกไม่กี่วัน  จะได้รับแจกเงินสด1 หมื่นบาทจากรัฐบาล 

ความจริงโครงการแจกเงินหมื่น มีความชัดเจนว่า จะแจกเป็นเงินสด ให้กลุ่มเปราะบางแค่ 14.5  ล้านคนเท่านั้น  ตั้งแต่คืนวันที่ 12 กันยายน ระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568  ที่ ‘พิชัย ชุณหวชิร’ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับกลางสภาฯว่า เงินไม่พอ แจกได้แค่ 14.2 ล้านคน ส่วนคนที่เหลือที่ลงทะเบียนไว้ 30  ล้านคน จะทำอย่างไร เขาบอกว่า

‘เนื่องจากเรามีงบประมาณที่จำกัด จะให้ความสำคัญการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะในงบกลางฯ ให้กับการปรับปรุงโครงสร้างที่เป็นจุดอ่อนแอของประเทศก่อน  เราให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพื่อมองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในระยะปานกลาง และระยะยาวตัวนั้นเป็น priority   ถ้ามีเงินเหลือพอ เราก็จะเจียดลงมาตรงนี้ ซึ่งเป็นpriority  ที่ถัดลงมาเล็กน้อย

เราต้องมี flexible  หรือมีความยืดหยุ่นของแผน  สถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขอเรียนว่า เราก็ต้องเปลี่ยนไป’

จากโครงการที่เป็น ‘เรือธง’ ของพรรคเพื่อไทย ถูกลดชั้นเป็นโครงการที่ต้องรอเงินเหลือ จึงจะเจียดมาให้  ขณะที่งบประมาณ ปี 2568 ขาดดุล 7.13 แสนล้านบาท ต้องกู้มาโปะ จะเอาอะไรมาเหลือ แจกให้คนที่รออีก 30 กว่าล้านคน

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นสัญญาณว่าโครงการแจกเงินหมื่นจบแค่นี้ คือ ‘สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)’ หรือ DGA ประกาศตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม ‘ยกเลิก’ งานจ้างพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน เพราะไม่มีผู้สนใจยื่นข้อเสนอ

DGA ได้รับอนุมัติงบประมาณ 95 ล้านบาท จากที่ประชุม ครม. วันที่ 21พฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับการทำโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มชำระเงิน หรือซูเปอร์แอปฯ เพื่อรองรับการชำระเงินของภาครัฐให้ประชาชน และเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการดิจิทัลวอลเล็ตอื่น ๆ 

เงินไม่พอ  แอปฯไม่มีทำให้ ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ รมช. คลัง ประกาศเลื่อนผลการตรวจสอบสิทธิ์ ผู้ลงทะเบียนแอปฯทางรัฐจำนวน 33 ล้านคน ซึ่งเดิมจะประกาศผลในวันที่ 22 กันยายนออกไป โดยไม่กำหนดวันประกาศผลใหม่ หรือ**‘เลื่อนไม่มีกำหนด’**นั่นเอง

รัฐบาลในซีกของพรรคเพื่อไทย เจ้าของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ตอนนี้อยู่ในสภาพ ‘น้ำท่วมปาก’  จะพูดความจริงกับประชาชนว่า เงินไม่พอ แจกได้แค่ 14.5 ล้านคน ก็กลัว **‘ผลเสียทางการเมือง’**ที่จะกระทบกับพรรคว่า พูดแล้วทำไม่ได้ คิดใหญ่ ทำไม่เป็น  

จะแก้ตัว หาข้ออ้าง ว่าทำไมจึงช้า ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะแก้ตัวมาปีหนึ่งเต็ม ๆ แล้ว  

จึงเป็นเรื่องที่ประชาชน พึงใช้วิจารณญาณเยี่ยงวิญญูชน ตรองดูว่านาทีนี้โครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล ที่กลายเป็นแจกเงินสด ยังจะไปต่อได้ไหม หรือจบที่แค่ 14.5ล้านคน

เลิกรอ เลิกหวัง กันได้แล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์