ไฟลนก้นแก้รธน.รายมาตรา รื้อจริยธรรม-มติศาลรธน.ไม่ง่าย?!

18 ก.ย. 2567 - 03:00

  • การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ไม่รีบร้อน

  • หลังจากเปิดศึกนิติสงคราม จึงต้องเร่งให้เร็วขึ้น

  • แต่สิ่งที่พรรคการเมืองคาดหวัง ไม่ใช่เรื่องง่าย

politics-economic-business-ethics-politician-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังสภาผู้แทนราษฎร ตั้งลำไว้นานเรื่องรื้ออำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ล้ำแดนฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ก็แค่ง้างหมัดรอ ไม่ได้ลงมือทำจริงจังเสียที ซึ่งคาดว่าน่าจะรอทำไปพร้อมกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ยังต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะตอนนี้ยังเป็นวุ้นอยู่

แต่ล่าสุดถูกไฟลนก้น รอต่อไปอีกไม่ได้ เมื่อเจอเข้ากับมรสุมการเมืองที่เรียกว่า ‘นิติสงคราม’ จากทั้งฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น ที่ยื่นร้องเรียนกันไม่เว้นแต่ละวัน โดยอาศัยคดีสอย เศรษฐา ทวีสิน พ้นเก้าอี้นายกฯ เป็นบรรทัดฐาน

ประเด็นจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้ง มติศาลรัฐธรรมนูญ จึงกลายเป็น**‘ปัญหาเร่งด่วน’**และปัญหาร่วมของฝ่ายการเมือง ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ต่างเห็นตรงกัน ต้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราขึ้นเป็นการด่วน

‘สมมติว่าคุณอ่านรัฐธรรมนูญ ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ทราบว่าตีความอย่างไร จึงอยากกำหนดให้หากใครถูกร้องหรือระหว่างถูกฟ้องในชั้นศาลว่าฝ่าฝืนจริยธรรม ซึ่งจะทำให้การตีความชัดเจนขึ้น’

‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหมวกอีกใบเป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ โดยกำลังยกร่างอยู่และเข้าใจว่าใกล้จะเสร็จแล้ว ซึ่งมีทั้งหมด 4-5 มาตรา จะกำหนดกรอบกฎหมายให้มีความชัดเจน ไม่ต้องตีความอะไรมาก 

พร้อมกับบอกว่า ฝ่ายค้าน ก็กำลังพิจารณายกร่างกฎหมายเรื่องนี้เช่นกัน โดยแต่ละพรรคจะ ‘ต่างคนต่างยื่น’ ร่างเข้าสภาแล้วจึงไปว่ากันในการพิจารณาของรัฐสภา

ส่วนประเด็นการลงมติในเรื่องสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น การยุบพรรคหรือเอาคนออกจากตำแหน่ง ชูศักดิ์ ยืนยันต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้เช่นกัน โดยยกตัวอย่างกรณีของอดีตนายกฯ เศรษฐา ที่พ้นจากตำแหน่งด้วยมติศาลรัฐธรรมนูญ 5-4 เสียง 

‘เราก็ใช้วิจารณญาณคิดดูว่าเรื่องใหญ่แบบนี้ควรหรือไม่ จึงมีแนวความคิดว่าให้มติมากขึ้นหน่อยดีหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ กับเรื่องจริยธรรม ให้ชัดเจน จะทำไปพร้อมกัน’

ประมาณว่า ถ้าเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปก็ใช้มติเสียงข้างมากธรรมดา แต่ถ้าเรื่องสำคัญต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดทำนองนั้น

ชูศักดิ์ ย้ำว่า จะทำในนามพรรคการเมือง ไม่ใช่รัฐบาล และจะทำให้เร็วที่สุดอาจจะภายในสัปดาห์หน้า และเพื่อไม่ให้มองเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง จึงจะระมัดระวัง และแก้แค่พอดี ๆ ให้มีเกณฑ์มาตรฐานรับได้ ไม่ใช่ไปยกเลิกทั้งหมด

ด้านพรรคภูมิใจไทย ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ แม้จะออกตัวยังไม่ได้หารือกัน แต่ก็ยอมรับว่า อะไรที่ดูแล้วแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พรรคภูมิใจไทยก็พร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว

‘อย่างกรณีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย คนก็ไปพูดว่าเป็นผู้มีอิทธิพล ยังไม่รู้เลยว่าท่านผิดตรงไหน แต่โชคดีที่ท่านถอนตัว เพราะไม่อยากให้เป็นปัญหากับพรรค พรรคก็ต้องขอบคุณ ดังนั้น การกำหนดกรอบให้ชัดเจน ก็ดีเหมือนกัน’

อนุทิน ย้ำจุดยืนภูมิใจไทยว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งเดียวที่พรรคภูมิใจไทยจะไม่แตะ คือ**‘หมวด 1 และหมวด 2 และจะไม่ยุ่งเกี่ยวในการแก้ไขมาตรา 112’**ส่วนเรื่องอื่น ๆ ต้องมาพูดคุยกันด้วยเหตุและผล อะไรที่ตึงเหลือเกินจนคนบริหารบ้านเมืองไม่กล้าทำอะไร มัวแต่คำนึงว่าจะถูกดำเนินคดี แล้วมาโดนคดีง่าย ๆ ก็ควรจะแก้ไข

ด้านพรรคฝ่ายค้าน ‘ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งเป็นประธานวิปฝ่ายค้าน ยอมรับว่า ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในกลุ่มประเด็นว่าด้วยจริยธรรมทั้งระบบต่อ ‘นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ประธานรัฐสภาแล้ว

‘เป็นรายละเอียดเรื่องจริยธรรมทั้งระบบ รวมถึงเกี่ยวกับการใช้อำนาจขององค์กรอิสระที่ตัดสินผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองที่เป็นนามธรรมมากเกินไป’

ทั้งนี้ สำหรับพรรคประชาชน มีสส.และอดีตสส.จำนวนหนึ่ง ถูกยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.สอบจริยธรรมกรณีร่วมกันยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย

เมื่อฝ่ายการเมืองเห็นพ้องร่วมกันแบบนี้ เพราะต่างมี **‘หัวอก’**เดียวกัน โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่ เพื่อไทย-ภูมิใจไทย ก็ย่อมไม่มีอะไรไปขวางการแก้ไขได้ แม้แต่วุฒิสภาที่กลไกในรัฐธรรมนูญออกแบบไว้ ต้องมีเสียงเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนเสียงที่เห็นชอบให้แก้ไข ทั้งในวาระแรกรับหลักการ และในวาระที่สาม

แต่เมื่อ สว.เป็นสภาสีน้ำเงินเข้มเสียขนาดนั้น แล้วจะเอาอะไรไปขวางได้

งานนี้จึงเหลืออยู่ด่านเดียว หากเห็นว่าสิ่งที่ฝ่ายการเมืองกำลังสมคบกันแก้ไขนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นความพยายามตัดตีนเข้าหาเกือก ไม่ใช่ตัดเกือกเข้าหาตีน ประชาชนสามารถใช้เสียง**‘ยับยั้ง’**ได้ผ่านการจัดทำประชามติ

ทั้งนี้ เพราะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) กำหนดไว้ว่า 

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ

เมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม (7) ต่อไป

เอาเป็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่จะยื่นกันในสัปดาห์หน้า และบางร่างที่ยื่นไปแล้ว จะยังไม่มีการรวบหัวรวบหางให้เสร็จก่อนในเร็วๆ นี้แน่ คงต้องรอการแก้ไขกฎหมายประชามติให้เสร็จเสียก่อน

ขืนใจร้อนเร่งแก้ออกมาตอนนี้ เจอกฎหมายประชามติฉบับ **‘เสียงข้างมากสองชั้น’**คงตกม้าตายเสียก่อน หรือต่อให้รอแก้กฎหมายประชามติเหลือเสียงข้างมากชั้นครึ่งก็เถอะ

ถ้าประชาชนไม่เอาด้วยก็คงไม่ง่ายเหมือนกันแหล่ะ!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์