อีกไม่กี่วันจะได้เห็นการเลือก สว.แบบพิสดาร ฉบับอันซีนไทยแลนด์กันแล้ว แต่ไม่วายมีเรื่องวุ่นๆ ให้พูดถึงกันรายวันไม่รู้จบ โดยเฉพาะกฎ กติกา ระเบียบต่าง ๆ ที่ออกมาแล้วถูกโต้แย้ง จนนำไปสู่การร้องศาลปกครองกลาง ให้มีคำสั่งเพิกถอนในเวลาต่อมา
แต่กกต.ก็ ‘โอนอ่อน’ ผ่อนตาม ไม่ติดใจจะไปยื่นอุทธรรณ์ต่อ เพราะเห็นว่ากว่าคดีจะสิ้นสุดก็คงพ้นเวลาเลือกสว.ไปแล้ว และไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ก็คงไม่เกิดประโยชน์ต่อการเลือกสว.ครั้งนี้้
นอกจากนั้น เห็นว่าคำพิพากษาไม่ได้กระทบต่อสาระสำคัญของการแนะนำตัวของสว.ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้สมัคร และในส่วนของประชาชนก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกสว.ในครั้งนี้ด้วย จึงมีมติเอกฉันท์ ‘ไม่อุทธรณ์’ คำสั่งศาลปกครอง ที่ให้เพิกถอนระเบียบกกต.บางข้อ
สื่อทุกสำนักต่างพร้อมใจกันนำเสนอข่าวประเด็น กกต.ไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางอย่างพร้อมเพรียง
ทว่าในการแถลงของ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.เมื่อวานนี้(27 พฤษภาคม 2567) มีประเด็นใหม่ในกฎหมายที่พิลึกพิลั่น สุดพิลึกกึกกือกว่า ที่ทุ่มเถียงกันมาก็ว่าได้ แต่ประเด็นที่ว่านั้นถูกนำไปซุกไว้ในท้าย ๆ ข่าว
นั่นคือ อำเภอไหนที่มีผู้สมัครเพียง 1-2 คน หรือมีจำนวนไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดให้เลือกไขว้ได้ ผู้สมัครในกลุ่มนั้น ต้องกลับบ้านไปตัวเปล่า ถูกจับแพ้น็อค ทีเคโอ ตามกติกา ไม่สามารถผ่านเข้าไปสู่รอบลึกในระดับจังหวัดได้
ที่เข้าใจกันมาตลอดว่า ถ้ากลุ่มไหนมีผู้สมัครไม่ครบก็ ‘ผ่านเข้ารอบ’ ไปได้เลยนั้น ไม่ใช่!!
ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าว เลขาฯ แสวง ได้สรุปยอดผู้สมัครสว.ไว้ พบว่ามี 2 อำเภอ ที่ไม่มีผู้สมัครทั้ง 20 กลุ่ม และมี 7 อำเภอ ที่มีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น
‘เท่าที่รู้มีผู้สมัคร 10 คน โดยมีกลุ่มหนึ่งมีผู้สมัคร 3 คน และผู้สมัคร 1 คนใน 6กลุ่ม อย่างไรก็ตาม ในบางอำเภอมีผู้สมัคร 2 กลุ่ม ซึ่งตามหลักสามารถเลือกไขว้ แต่วันมารายงานตัว หากมี 1 กลุ่ม ไม่มารายงานตัว ก็จะเหลือเพียงกลุ่มเดียว มีสภาพที่ไม่สามารถเลือกไขว้ได้ ก็ต้องตกไปเช่นกัน’
เลขาฯ แสวง สาธยายต่อว่า กฎหมายกำหนดการเลือกสว.ให้เคลื่อนไปด้วยกันทั้ง 928 อำเภอ รวมเขตในกรุงเทพฯ โดยในมาตรา 33 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.กำหนดว่า การเลือกสว.ให้เป็นไปตามพ.ร.ป.ฉบับนี้
‘เมื่อสภาพข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ ระดับอำเภอที่มีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียวต้องตกไป ทำให้ผู้สมัครระดับดังกล่าวไม่สามารถข้ามไปในระดับจังหวัดได้ เพราะไม่ได้เลือกไขว้ และไม่มีคะแนน เพราะมีเพียงแค่กลุ่มเดียวจะไปไขว้กับใคร กฎหมายกำหนดไว้ว่าการไขว้จะต้องมีคะแนน’
เลขาฯ แสวง ยังสำทับส่งท้ายว่า การมีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียวในอำเภอนั้น ‘ไม่สามารถ’ ข้ามไปในระดับจังหวัดได้ อย่างน้อยจะต้องมีผู้สมัคร 2 กลุ่ม แต่ไม่ได้กำหนดคะแนน ขอให้มีคะแนนและมีลำดับที่สามารถเลื่อนไปสู่ระดับจังหวัดได้
เมื่อกติกากำหนดไว้อย่างนี้ ทำให้ผู้ที่เลือกไปสมัครใน ‘พื้นที่ที่ไม่มีคู่แข่ง’ หรือมีคู่แข่งน้อย จนไม่สามารถนำไปสู่การเลือกไขว้ได้ ฝันที่วาดไว้สวยหรูจะพาตัวเองผ่านฉลุยจากระดับอำเภอเข้าสู่จังหวัด และอาจทะลุเข้ารอบลึกมาถึงระดับประเทศได้ด้วยซ้ำนั้น ต้องกลายเป็น ‘ฝันสลาย’
ที่เจ็บลึกกว่าคือต้องเสียเงินค่าสมัครฟรี ๆ ไป 2,500 บาท
ไปเปิดดู พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 40 ได้กำหนดวิธีการเลือกในระดับอำเภอไว้ว่า ผู้สมัครจะต้อง ‘เลือกกันเอง’ ในกลุ่มอาชีพเดียวกันให้เหลือ 5 คน เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้น และไปจับสลากแบ่งสาย ‘เลือกไขว้’ เพื่อลงคะแนนให้กับผู้สมัครในกลุ่มอื่นๆ และเลือกให้เหลือ 3 คน
หากกลุ่มใดมีผู้สมัครในระดับอำเภอไม่เกิน 5 คน ก็ไม่ต้อง ‘เลือกกันเอง’ ผู้สมัครทุกคนเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นและผ่านเข้าสู่การ ‘เลือกไขว้’ ได้เลย
แต่ในการ ‘เลือกไขว้’ มาตรา 40 (12) กำหนดไว้แตกต่างจากการเลือกขั้นต้น คือ ผู้ที่ได้รับเลือกจะต้องได้อย่างน้อย 1 คะแนน โดยใช้ข้อความว่า
‘ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคนให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก’
เท่ากับว่า ผู้สมัครที่ไม่ได้คะแนนเลยจากการเลือกไขว้ หรือไม่มีการเลือกไขว้ จะไม่ผ่านเข้าไปในรอบจังหวัดได้ อย่างที่เลขาฯ แสวง ว่าไว้
‘มีเพียงแค่กลุ่มเดียวจะไปไขว้กับใคร กฎหมายกำหนดไว้ว่าการไขว้จะต้องมีคะแนน’
โปรดทราบกันตามนี้
เมื่อการเลือกสว.ประเทศไทย พ.ศ.นี้ เป็นแบบนี้ แล้วจะไม่ให้เรียกพิลึกกึกกือได้อย่างไร อุตส่าห์ยอมจ่ายเงิน 2,500 บาท เป็นค่าสมัครแล้ว แต่มา **‘แพ้กติกา’**เสียก่อนที่ยังไม่ได้ลงสนาม ไม่ได้แพ้เพราะไม่มีใครเลือก
เรื่องแบบนี้ไม่รู้จะถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นฟ้องร้องล้มเลือกตั้ง ซ้ำรอยการหันคูหาผิดทางเหมือนในอดีตอีกหรือเปล่า?