เมื่อนิติสงคราม(เริ่ม) ไม่ขลัง?!

11 ก.ย. 2567 - 05:00

  • การต่อสู้ทางการเมืองที่ใช้นิติสงครามเป็นเครื่องมือ

  • วงจรการเกิดง่ายของนักร้องเริ่มส่งผลกระทบ

  • การร้องทุกเรื่อง ทำให้เกิดคำถาม และก่อความรำคาญ

politics-legal-warfare-opposition-SPACEBAR-Hero.jpg

ในอดีตการต่อสู้ทางการเมืองของภาคประชาชนช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา มีการบัญญัติศัพท์ที่เกี่ยวกับกฎหมายอยู่หลายคำ เริ่มตั้งแต่คำว่า ‘ตุลาการภิวัตน์’ กรณีให้ฝ่ายตุลาการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองในฐานะคนกลาง เพื่อหาทางนำบ้านเมืองออกจากปัญหาความขัดแย้ง

ต่อมาหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีคำว่า ‘คณะนิติราษฎร์’ เกิดขึ้นตามมา ซึ่งเป็นกลุ่มอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมตัวกันให้ข้อเสนอทางวิชาการด้านนิติศาสตร์ต่อสังคมไทย ที่เริ่มจากให้ **‘ลบล้าง’**ผลพวงของการรัฐประหาร ในโอกาสครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร เมื่อวัน 19 กันยายน 2553

 คณะนิติราษฎร์ ยังเสนอแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ‘มาตรา 112’ และนำเสนอบทความทางวิชาการ จัดงานเสวนาทางวิชาการเป็นระยะๆ พร้อมกับเปิดตัวเว็บไซต์คณะนิติราษฎร์ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

กระทั่งในช่วงท้ายๆ ถูกล้อเป็น ‘นิติเรด’ ที่พ้องไปกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในเวลานั้น

ล่าสุดมาถึงคำที่โด่งดังอย่างมากใน พ.ศ.นี้ คือ คำว่า ‘นิติสงคราม’ ซึ่งผู้จุดประเด็นเรื่องนี้ขึ้นคือ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้พูดถึงการต่อสู้ภายใต้นิยามที่ว่านี้ ต่างวาระต่างโอกาสไว้หลายครั้ง

โดยครั้งหนึ่งในเดือนกันยายน 2566 ได้ปาฐกถาหัวข้อ ‘นิติสงครามกับทิศทางประชาธิปไตย’ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 

1. ปฏิบัติการนิติสงครามที่นำมาใช้จัดการนักการเมือง

2. ปฏิบัติการนิติสงครามที่นำมาใช้ปราบปรามประชาชนผู้ต่อต้านรัฐ

3. เราจะหยุดปฏิบัติการนิติสงครามอย่างไร

นอกจากนั้น ได้พูดถึงผลพวงต่อมาของนิติสงคราม ที่ทำให้เกิดบรรดานักร้องเรียนตามมา โดยระบุตอนหนึ่งถึงการเกิดเหล่านักร้องไว้ว่า

‘สิ่งที่เกิดขึ้นคือพอฝั่งหนึ่งร้อง อีกฝั่งก็หานักร้องด้วย ร้องกันไปกันมา นักการเมืองเหมือนไก่ที่อยู่ในเข่งแล้วตีกันเอง ยื่นดาบที่จะประหารพวกตัวเองให้กับศาล แทนที่จะมาคิดอ่านกันว่าปล่อยเป็นแบบนี้ไม่ได้ ให้องค์กรตุลาการเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ชี้เป็นชี้ตายพวกเราได้อย่างไร แต่ที่ไหนได้ กลับแย่งกันร้อง สุดท้ายบรรดาผู้พิพากษาตุลาการ จะบอกว่า โทษฉันไม่ได้ ฉันนั่งเฉยๆ พวกเธอร้องกันมาเอง’

นั่นคือ นิยามของนิติสงครามฉบับ ปิยบุตร แสงกนกกุล ในรอบหนึ่งปีเศษที่ผ่านมา ก่อนนำมาสู่ คำว่า ‘นิติสงคราม’ ที่คุ้นหูกันเวลานี้ และดูจะเริ่มลดความขลังลงไปมาก เมื่อถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์มุ่งประหัตประหารกันในทางการเมือง 

ที่ฝ่ายอนุรักษ์ออกมาเปิดศึกฟาดฟันกันเอง ในนิติสงครามฉบับบ้านป่า

บางคนเป็นนักร้อง ‘สองสถานะ’ ทั้งร้องในฐานะสังกัดค่ายที่ตัวเองเป็นสมาชิกพรรค และบางเรื่องร้องในนามส่วนตัว จนแยกไม่ออก กลายเป็นร้องแบบตะพึดตะพือ

เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง เป็นยื่นร้องไปเสียทั้งหมด

จึงทำให้การร้องแบบไม่เลือก ไปบดบังเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นสาระสำคัญและกำลังขับเคลื่อนอย่างมีเป้าหมาย ถูกลดความสำคัญลง บางครั้งถูกมองเป็นเรื่อง ‘น่ารำคาญ’ ด้วยซ้ำ เพียงเพราะพวกนักร้องที่เป็นอาชีพใหม่ ต้องการเร่งทำผลงานจากจำนวนคำร้องที่ไปยื่นให้เยอะ ๆ เข้าไว้ 

เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ จนทำให้ความหมายของคำว่า ‘นิติสงคราม’ ลดทอนความขลังลงไปมาก เพราะร้องจนมั่ว ทำให้นิติสงครามเพี้ยนเป็น ‘นิติเละเทอะ’ไปเสียอย่างนั้น

เอาเป็นว่าขยันร้อง แข่งกันออกอัลบั้มใหม่รายวันจนเพลิน ซึ่งมองบวกเหมือนหว่าน เหวี่ยงไปก่อน เดี๋ยวคงเข้าสักดอก หรือบางทีในสายตาคนทั่วไป อาจมองไม่เข้าท่า แต่บางครั้งเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องนี่แหล่ะ ทำเอาคนถูกร้องเกยตื้นมาหลายรายแล้ว

ควรมิควรอย่างไร สุดแท้แต่ ‘วิญญูชน’ จะไต่ตรองกันเอาเอง เพราะบางเรื่องเห็นคนในค่าย**‘บ้านป่า’** ก็ออกมาเอี้ยวตัวหลบพัลวันว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับพรรค

แสดงว่าเริ่มรู้หรือควรรู้อยู่บ้างว่าที่ร้องกัน ‘ตะพึดตะพือ’นั้นมันเริ่มไม่ขลัง?!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์