สำหรับคนในแวดงวงตลาดทุน หรือตลาดหุ้น จะเข้าใจในหลักการและกลไกการขับเคลื่อนของตลาดหุ้นว่าจะไปในทิศทางใด จะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น หรือ Trust & Confident ของนักลงทุนเป็นสำคัญ
ความเชื่อมั่น คือ หัวใจ ที่จะเป็นตัวผลักดันให้ตลาดหุ้นมีทิศทางใด โดยจะต้องเกิดขึ้นใน 3 ระดับ คือ ในระดับของตัว บจ.หรือ หุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า มีผลการดำเนินการเป็นอย่างไร ผู้บริหารมีธรรมาภิบาลหรือไม่
ขณะเดียวกันตัวองค์กรอย่างผู้กำกับและดูแลตลาดฯ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. และ ตัวตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. สามารถกำกับดูแลให้นักลงทุนได้รับความเป็นธรรมในการซื้อขายหรือไม่
ระดับต่อมา คือ ภาพรวมของสภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และทิศทางของนโยบายด้านการเงินและการคลังของรัฐบาล และแบงก์ชาติ ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
ระดับสุดท้าย คือ ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในห้วงเวลานั้น ๆ และแนวโน้มในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงตลาดเงิน ตลาดทุน และเศรษฐกิจของไทย
เห็นได้ชัดจากาภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมา ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯของไทยปรับตัวลงไปจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,274.01 จุด เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม เพราะเผชิญปัจจัยแรงกดดันทางการเมือง จากเรื่องการยุบพรรคก้าวไกล และตามมาด้วยการต้องพ้นจากตำแหน่งของ อดีตนายกฯเ ศรษฐา ทวีสิน จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 14 สิงหาคม ที่ทำให้ตลาดสูญเสียความมั่นใจต่อเสถียรภาพทางการเมือง และทิศทางเศรษฐกิจของไทย
แต่หลังจากนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำของพรรครัฐบาล สามารถเดินเกมอย่างรวดเร็วในการแต่งตั้ง “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมเดิมและยังอาจจะมีพรรคอื่นมาร่วมสับสนุนเพิ่มเติม ก็ทำให้ตลาดกลับมามีแรงซื้อ และผลักดันให้ดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวจากระดับ 1,289.84 จุด เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ขึ้นมาอยู่ในระดับ 1,354.87 จุด ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 65.03 จุด หรือราวง 5.04%
ตลาดหุ้นฯ ยังได้แรงหนุนจากปัจจัยต่างประเทศ เนื่องจากทิศทางของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED มีทีท่าชัดเจนที่จะเริ่มใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมรอบถัดไปในเดือนกันยายน ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับตลาดโลก
อย่างไรก็ตามผลจาการที่การจัดตั้งรัฐบาลดูจะไม่ราบรื่นและอาจใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ และยังมีประเด็นทับซ้อนเกี่ยวกับบทบาทของพ่อนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่เข้ามามีบทบาทในพรรคเพื่อไทย และมีการชี้นำและกำหนดท่าทีทางการเมือง ลงลึกไปจนถึงการกำหนดนโยบายทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจในหลาย ๆ เรื่อง กลับกลายเป็น “ปัจจัยเสี่ยง” ที่ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมาไม่มั่นใจในทิศทางทางการเมืองอีกครั้ง
ความจริงหากดูจากการฟอร์มคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะพบว่า พ่อนายกฯ ทักษิณ เลือกที่จะไม่ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ที่ดูแลกระทรวงการคลัง จากเดิมที่ตอนแรกมีข่าวว่า พิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง จะขอถอนตัว โดยคาดว่า มีการรั้งตัวเอาไว้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอดีตนายกฯเศรษฐา และอาจจะประกอบกับยังไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่ามาแทน
หากฟังจากการแสดงวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจในงาน Vision for Thailand 2024 เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า อดีตนายกฯ ทักษิณตระหนักดีว่า ปัญหาเศรษฐกิจ คือ ปัจจัยชี้ขาดที่จะวัดผลงาน และสร้างคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยให้กลับมาเอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคประชาชน
นอกจากจะประกาศวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของไทยในหลาย ๆ ด้านแล้ว อดีตนายกฯ ทักษิณยังให้ความสำคัญกับนโยบายที่เป็น Quick Win ในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของ โครงการดิจิทัลลวอลเล็ต ที่จะต้องเริ่มแจกเงินหมื่นให้ทันก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2567 ในเดือนกันยายนนี้
ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยมีแนวคิดในการให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าไปซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงิน มาดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลดหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือยืดหนี้ ให้กับภาคประชาชน และ SME
นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับตลาดทุนเป็นพิเศษ โดยนอกจากเห็นสอดคล้องกับแนวคิดของ รมว.คลังพิชัย ในการผลักดัน กองทุนวายุภักษ์ ให้เข้ามามีส่วนกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ยังมีแนวคิดที่จะใช้ตลาดทุนในการเป็นแหล่งระดมทุนในหลาย ๆ โครงการเช่น การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อเวนคืนสัมปทานที่ทำไว้กับภาคเอกชนกลับมาบริหารเอง ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการวางเรื่องระบบตั๋วร่วมและการกำหนดราคาค่าโดยสาร
ที่สำคัญคือ ต้องมี รมว.คลัง ที่สามารถประสานเชิงนโยบายด้านการเงินและการคลังกับแบงก์ชาติให้ไปในทิศทางเดียวกัน ให้ได้ แทนที่จะเดินสวนทางกันจนกลายเป็นปัญหากระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมาตลอดหนึ่งปีอย่างที่เคยเป็นมา
ทั้งหมดจึงจำเป็นต้องได้ รมว.คลัง ที่มีอาวุโสและประสบการณ์ในแวงวงตลาดทุน ที่จะเป็นเจ้าภาพในการเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งก่อนหน้านี้ รมว.พิชัยได้เริ่มวางโครงสร้างและวางตัวบุคคลที่มาจากสายตรง เพื่อเข้าไปขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นไปแล้ว ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ และ กลต. ที่เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็น ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ กิตติพงศ์ อุรพีพัฒนาพงศ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯคนใหม่ที่เข้ามาเสริมอย่าง วราห์ สุจริตกุล จากค่ายฟินันซา และกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ อัสสเดช คงสิริ ที่จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 19 กันยายนนี้
ทุกอย่างถูกเตรียมความพร้อมที่จะเดินหน้าไว้แล้ว เหลือเพียงการเริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ที่ยังต้องรอความชัดเจนในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้เรียบร้อยเสียก่อน
ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองอะไรที่จะทำให้เกิดอาการสะดุด บางที่เราอาจจะเห็นตลาดหุ้นพลิกกลับสู่ “ขาขึ้น” เต็มตัวอีกครั้ง แต่จะร้อนแรงขนาดไหน คงต้องขึ้นอยู่กับฝีมือของรัฐบาล “อิ๊งค์1” ในมือพ่อนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร....