หลังพรรคเพื่อไทย ยอมตระบัดสัตย์ ไปตั้งรัฐบาลข้ามขั้วกับพรรคสองลุงในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ในแวดวงคนทำสื่อ โดยเฉพาะสื่ออาวุโสหลายคน ที่ผ่านการสู้รบปรบมือกับรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ในอดีตมาก่อน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
เหมือนได้กลับไปสู่บรรยากาศการทำข่าวเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนอีกครั้ง
แต่ตลอดหนึ่งปีเศษของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีอะไรที่ยืนยันได้ถึงบรรยากาศที่ว่านั้น ได้กลับมาอีกครั้งอย่างที่สื่อใหญ่บางคนพูดไว้
จนกระทั่งหนึ่งสัปดาห์เศษที่ผ่านมาหลัง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 พร้อม ๆ กับการพ้นโทษของ **‘ทักษิณ ชินวัตร’**ที่ทันออกมาได้สวมชุดขาวร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ของลูกสาวพอดี
จากบทบาทการแสดงออกในวาระโอกาสต่างๆ ของทักษิณ ในฐานะ ‘ผู้ครอบครอง’ นายกรัฐมนตรี ทำให้ได้เห็นบรรยากาศเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนย้อนกลับมาอีกครั้งได้ชัดขึ้น
โดย ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ภาพการเคลื่อนไหวของทักษิณในช่วงเวลานี้ไว้ว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากวันที่นายทักษิณเคยเรืองอำนาจ
‘นายทักษิณมีบทบาทมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่จะเปิดเผยมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง ซึ่งสำหรับคนที่เชื่อในแนวทางนั้น ก็อาจมีความเชื่อมั่นและมีความมั่นใจมากขึ้น’
อภิสิทธิ์ ยังย้อนอดีตกระตุกเตือนทักษิณและคนรอบข้างไปพร้อม ๆ กันด้วยว่า
‘วันที่นายทักษิณเคยมีอำนาจมากมายมหาศาล แต่สุดท้ายต้องยุติลงด้วยหลายสิ่งที่เป็นความไม่ถูกต้อง ดังนั้นถ้ายังไม่เก็บเกี่ยวบทเรียนตรงนี้ ความเสี่ยงที่จะเกิดแบบนี้ก็ยังมีอีก’
‘ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง’ ผู้เขียนหนังสือ ‘รู้ทันทักษิณ’ เมื่อหลายปีก่อน เป็นอีกคนที่ออกมาวิจารณ์การเคลื่อนไหวของทักษิณในห้วงเวลานี้ โดยเริ่มจากตำหนิ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่บอกจำใจร่วมรัฐบาล เพราะไม่อยากทำงานภายใต้หัวหน้าฝ่ายค้าน
‘จะไว้ใจใครได้ ถ้ารวมไทยสร้างชาติ จูบปากกับนอมินีทักษิณ’
ดร.เจิมศักดิ์ ยังกระชับวงแคบเข้ามาอีกหน่อย หลังพรรคเพื่อไทยส่งเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล โดยตำหนิระบอบทักษิณว่า ยึด ‘ทำลาย’ พรรคประชาธิปัตย์ และทำลายทางเลือกของประชาชน
‘ดร.สุริยะใส กตะศิลา’ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เบนเข็มไปทำงานด้านวิชาการ เป็นอีกคนที่เริ่มขยับตัวแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง ‘ฉากทัศน์มวลชน หลังรัฐบาลข้ามสี’ โดยตอนหนึ่งพูดถึงมวลชนนอกสภาไว้ว่า
ฉากทัศน์การเมืองของมวลชนนอกสภา ถ้าในฐานะ Voter ก็ยังผูกโยงกับฉากทัศน์ของการเมืองในสภา ที่ตัวเองชื่นชอบและสังกัด ก็จะเป็นแดง+เหลือง+น้ำเงิน+ฟ้า ฟาดฟันกับส้ม
แต่ด้วยเหตุที่การเมืองของมวลชน มีชุดอุดมการณ์เข้ามาประกอบสร้างมากขึ้นในช่วงหลัง ๆ จึงดูยุ่งยากและไม่เรียบง่ายแบบในสภา การปะทะของสีของมวลชนแก่นแกนหลักยังเป็นเหลืองเข้มปะทะส้มเข้ม ส่วนแดง เหลืองอ่อน น้ำเงินและฟ้า ยังเป็นตัวแปรของสถานการณ์ การเคลื่อนไหวมวลชนบางช่วงเท่านั้น
ด้วยเหตุดังนั้น ฉากทัศน์การเมืองของมวลชน จึงเป็นคนละฉากทัศน์การเมืองของนักการเมืองในสภา และนับวันยิ่งแยกห่างจากกันมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง เพราะพรรคการเมืองไม่ได้ปักหมุดทางอุดมการณ์ เป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น
การออกมาของ ดร.สุริยะใส นักวิชาการในสังกัดมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ตอนหลังมีนักเคลื่อนไหวระดับแกนนำหลายคนไปรวมตัวอยู่ที่นั่น ในร่มเงาของเจ้าสำนักผู้มีฉายาทางการเมืองว่า ‘วีรบุรุษประชาธิปไตย’
คนเหล่านี้ แม้จะสลัดคราบแกนนำม็อบไปทำงานด้านวิชาการแล้ว แต่วันหนึ่ง เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเดินมาถึงอีกจุดหนึ่ง คงยากที่จะนั่งทอดธุระอยู่เฉยๆ อารมณ์คงไม่ต่างจากนักมวยเก่าได้กลิ่นสาบนวม
ดังนั้น การออกมาของ ดร.สุริยะใส อดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ เที่ยวนี้หลังเก็บตัวอยู่นาน คงมีอะไรที่มากกว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นของ ‘เจิมศักดิ์-อภิสิทธิ์’ หรือแค่วิเคราะห์สถานการณ์ในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง
ส่วนจะถึงขนาดกลับมารวมวง รวมญาติ ฟื้นพันธมิตรฯ ให้กลับมา ‘สู้กับระบอบทักษิณ’ ที่กำลังฟื้นคืนชีพ และกำลังนำประเทศไทยย้อนกลับไปสู่บรรยากาศเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนอีกหรือไม่
ในท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ ‘สลิ่มว้าเหว่’ เหลือง-แดง ต่างก็ ‘แสลงใจ’ พอ ๆ กัน บรรยากาศแบบนี้อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ เพียงแต่หันซ้าย หันขวา ยังหาคนที่มีบารมีมานำทัพไม่ได้เท่านั้นเอง
หรืออาจจะมีการสื่อสารตกปากรับคำกันไปบ้างแล้ว เพียงแต่รอจังหวะให้สถานการณ์สุกงอมกว่านี้หน่อย
เอาเป็นว่า ใครจะฟื้นไม่ฟื้น จะปลุกพันธมิตรฯ ภาคพิเศษ หรือซีซั่นที่เท่าไหร่ก็ตามกลับมาอีกครั้งหรือไม่ จับสัญญาณดูแล้ว เมื่อกงล้อประวัติศาสตร์ถูกหมุนกลับไปที่เดิมเมื่อยี่สิบสามปีที่แล้ว ปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบร่วมในอดีต คงหนีไม่พ้นต้องโคจรมาเจอกันอีก
แต่จะช้าเร็วอย่างไร การไหลรวมของแม้น้ำร้อยสายคงต้องใช้เวลา อย่างน้อยต้องรอให้ ‘นายกฯ อายุน้อยร้อยคำร้อง’ เหยียบคันเร่งนำครม.อิ๊งค์ 1 ทะยานไปข้างหน้าเสียก่อน
จากนั้น รอดูจะเกิดมาฆบูชาทางการเมืองภาคประชาชน ศัตรูคู่แค้นเก่าทักษิณจะกลับมารวมตัวกันอีกหรือไม่ ?!