การเฟ้นหาแม่ทัพคนใหญ่คนใหม่ที่จะมานั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR หลังจากอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ อดีต CEO ปตท. ลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดของบริษัทในเครือ ปตท.ทุกแห่ง รวมถึง OR เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทความท้าทายใหม่ ๆ ของการขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาวของ ปตท. ในยุคที่ธุรกิจหลักคือ รายได้จากการจำหน่ายน้ำมันที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะลูกค้าที่ขับรถยนต์สันดาปภายในเข้ามาเติมน้ำมันเริ่มหายหน้าไป เพราะเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า
ในขณะที่รายได้ของบริษัทลูกอย่าง OR ที่มาจากกลุ่มธุรกิจ Non-Oil มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีความแข็งแกร่งของจำนวน ‘หน้าร้าน’ ซึ่งกระจายอยู่ตามสถานีบริการน้ำมันPTT Station จำนวน 2,256 แห่ง ที่ครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ ณ สิ้นปี 2566
ดังนั้นทันทีที่การประชุมคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน OR เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม2567 เห็นชอบเสนอชื่อ ‘สมชัย เลิศสุทธิวงค์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เป็นประธานกรรมการ OR คนใหม่ จึงเสมือนการส่งสัญญาณของเครือ ปตท. ที่มีความ ‘คาดหวังสูง’ ในการปั้น OR ให้เป็น engine สร้างการเติบโตด้าน ‘รายได้’ และการเพิ่มความน่าสนใจของ ‘มูลค่าหุ้น’ ของทั้ง OR และ บมจ. ปตท. (PTT) ที่เป็นบริษัทแม่
อีกทั้ง ‘สมชัย’ ก็ไม่ถือว่าเป็น ‘หน้าใหม่’ สำหรับ OR เพราะปัจจุบันมีตำแหน่งกรรมการอิสระ และคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทแห่งนี้ด้วย
จากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารระดับสูงของ OR เมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวถึงแผนธุรกิจในปี 2567 เพื่อรับมือความท้าทายด้านปัจจัยกดดันในธุรกิจจำหน่ายน้ำมัน พร้อมเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ใหม่มาทดแทน โดยระบุว่า
‘กลยุทธ์สำคัญของ OR คือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Ecosystem กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ หรือ Non-oil โดยอาศัยศักยภาพของพื้นที่ให้บริการในสถานีบริการน้ำมันในเครือ ปตท. ทั่วประเทศ ด้วยการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก (Retail) ในสถานีนํ้ามันให้เป็น Living Community ศูนย์กลางการใช้ชีวิตและเติบโตไปกับชุมชน ตอบสนองพฤติกรรมลูกค้าที่ใช้จ่ายในกลุ่ม Non-Oil มากขึ้น นอกจากนี้ ยังศึกษาโอกาสธุรกิจรูปแบบใหม่ อย่างเช่น Health & Wellness เป็นต้น’
ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม 4,402สาขา แบ่งเป็นร้าน Cafe Amazon ในประเทศไทย 4,159 สาขา ครอบคลุมสาขาในสถานีบริการ 2,232 สาขา และนอกสถานีบริการ 1,927 สาขา รวมทั้งมี Cafe Amazonในต่างประเทศ จำนวน 22 สาขา อีกทั้งมีร้านเท็กซัส ชิคเก้น 100 สาขา สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นมีเครือข่าย 121 สาขา และมีธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ ร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ 7-Eleven และภายใต้แบรนด์ จิฟฟี่ ในประเทศไทย 27 สาขา
ในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยเกือบครึ่ง หรือประมาณ 10,100 ล้านบาท เป็นการลงทุนในธุรกิจกลุ่ม Lifestyle ตามมาด้วย ธุรกิจ Mobility (สถานีบริการน้ำมัน/สถานีชาร์จ EV Station เป็นต้น) จำนวน 8,800 ล้านบาท ธุรกิจ Innovation & Business จำนวน 2,100 ล้านบาท และธุรกิจ Global อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท
ด้านผลประกอบการของ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ในปี 2566 มีรายได้รวมกว่า 3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้สัดส่วน 15% เป็นรายได้จาก OR และเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้อันดับ 3 ของ ปตท. รองจากกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และกลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่น ตามลำดับ
ส่องผลงาน ‘สมชัย’ ฝ่า Red Ocean รักษาแชมป์ตลาดมือถือ
ย้อนไปดูประสบการ์ของ ‘สมชัย’ ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AIS มาร่วมสิบปี (กรกฎาคม 2557 - ปัจจุบัน) โดยในเดือน กรกฎาคม 2567 จะครบวาระ 2 ปี ของการต่ออายุตำแหน่งซีอีโอ ซึ่งคาดหมายกันว่าคงเป็น ‘ปีสุดท้าย’ และเตรียมส่งไม้ต่อให้กับประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนต่อไป
สำหรับตลาดให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยนั้น ต้องยอมรับว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เผชิญปัจจัยลบหนักหน่วง ทั้งสภาพการแข่งขันของการตลาด ‘น่านน้ำสีแดง’ (Red Ocean) อันเนื่องมาจากจำนวนการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่ทะลุ 100% ของจำนวนประชากร
การแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อช่วงชิงลูกค้าเข้าเพิ่มในเครือข่าย การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Technology Disruption) และช่วงเกือบ 3 ปีของผลกระทบจากโควิด-19 ที่แทบจะ ‘แช่แข็ง’ สภาวะเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม ภายใต้การคุมทัพของ ‘สมชัย’ บริษัท AIS ก็ยังคงรั้งตำแหน่งเบอร์ 1 ด้วยส่วนแบ่งการตลาดทะลุ 50% พร้อมการเพิ่มตัวเลขจำนวนผู้ใช้บริการรายเดือน
‘สมชัย’ เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 พร้อมวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนบริษัทผู้ให้บริการมือถือค่ายนี้สู่การเป็น ‘ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์’ เพื่อรับโจทย์ใหม่ในขณะนั้นที่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มีแนวโน้มที่ต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลามากขึ้น
โดยใช้ประโยชน์จากโครงข่ายทั่วประเทศของ AIS ในขณะนั้น ผนวกด้วยเทคโนโลยี FTTx เพื่อเชื่อมต่อด้วยไฟเบอร์ตรงเข้าสู่บ้านหรืออาคาร ครอบคลุม 1.7 ล้านครัวเรือนในปี 2558 ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับต่อยอดสู่บริการและธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ มาตลอดเกือบ 10 ปีนี้
รวมถึงเป็นจุดแข็งในการเพิ่มฐานลูกค้าทั้งในระดับบุคคลทั่วไปและลูกค้าองค์กร อีกทั้ง ‘แก้เกม’ รายได้จากการโทร (Voice) ที่มีแนวโน้มลดลงทั้งตลาด ด้วยการเพิ่มรายได้จากบริการข้อมูล (Data)
ทั้งนี้ ในปีแรกของการรับตำแหน่ง CEO ของสมชัย สามารถรักษาตำแหน่งผู้ให้บริการมือถือเบอร์ 1 ของ AIS ชูผลงานรายได้รวม 121,000 ล้านบาท มีส่วนแบ่งทางการตลาดเชิงรายได้อยู่ที่ 52% และมีผู้ใช้บริการ 38.5 ล้านราย หรือมากกว่า 50% ของจำนวนประชากรไทยทั่วประเทศในขณะนั้น
ขณะที่ผลประกอบการล่าสุดปี 2566 รายได้รวมของ AIS อยู่ที่ 188,873 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน มีฐานผู้ใช้บริการมือถือ 44.6 ล้านเลขหมาย ลดลงสุทธิ 1.4 ล้านเลขหมายจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจาก ‘ผู้ใช้บริการเติมเงิน’ ที่ลดลง 1.5 ล้านเลขหมาย ขณะที่ผู้ใช้บริการแบบรายเดือนเติบโตขึ้น 155,000 เลขหมาย ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) เติบโตขึ้น
ที่น่าสนใจ ก็คือ หากย้อนไปเมื่อต้นปี 2558 หลังจากนั่งตำแหน่ง CEO มาราว 6 เดือน ‘สมชัย’ ได้แถลงวิสัยทัศน์การดำเนินงานของ AIS ด้วยแนวคิด ‘LIVE Digital, LIVE More’ เพื่อยกระดับชีวิตคนไทยและประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดย 1 ในจิ๊กซอว์หลัก คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านดิจิทัล รวมไปถึงการเป็นพันธมิตรทางบริการดิจิทัลแก่ทุกกลุ่ม
นับตั้งแต่นั้น ก็ได้เห็น ‘ความร่วมมือ’ ข้ามสายธุรกิจระหว่าง AIS และพันธมิตร รวมทั้งการเข้าซื้อกิจการที่น่าสนใจมาเสริมแกร่งพอร์ตธุรกิจ และเป็น ‘ตัวเร่งความเร็ว’ ในการเพิ่มฐานลูกค้า/รายได้ให้กับ AIS
จึงน่าจับตามองว่าหลังจากนี้ OR จะมีความเคลื่อนไหวที่มีสีสัน และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ อะไรออกมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล อีกทั้งปั้นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับบริษัทฯ และ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่