แม้ความไม่ลงตัวเรื่องการแก้ไขกฎหมายประชามติ จะตกเป็นประเด็นรองที่สื่อให้ความสนใจ หลังการพบปะกันของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้(4 สิงหาคม 2567)
แต่จากคำพูดเพียงไม่กี่ประโยคของ ‘ไชยชนก ชิดชอบ’ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ก็พอจับสัญญาณได้บ้างว่า ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมสองสภาจะเดินไปอย่างไรต่อ
‘เรื่องของการทำประชามติ เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าประชาชนเห็นมากพอสมควร เกินครึ่งหนึ่ง หรืออย่างน้อยเกินกึ่งหนึ่ง ของผู้มาใช้สิทธิ์ ซึ่งถือว่ามากพอ เราก็สบายใจแล้ว’
ลูกชายครูใหญ่แห่งพรรคภูมิใจไทย ยังตอบคำถามสื่อเรื่องข้อเสนอพรรคเพื่อไทย ที่อยากให้คนมาลงประชามติ ไม่ต้องถึง 50% แค่ 20-30% ก็น่าจะเพียงพอด้วยว่า
‘เรื่องนี้ต้องพูดคุยกันในกรรมาธิการ’
ก่อนหน้านั้น ‘วุฒิชาติ กัลยาณมิตร’ หนึ่งในกรรมาธิการร่วมจากสว.ก็ออกมาตอบรับข้อเสนอเดียวกันจากพรรคเพื่อไทยไว้เช่นกันว่า พร้อมรับฟังเหตุผล แต่จะได้ข้อสรุปอย่างไร ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมด้วย
สว.วุฒิชาติ ย้ำว่า เจตนารมณ์ สว.ในการระบุเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพราะต้องการให้ประชาชนมี**‘ส่วนร่วม’**การทำประชามติให้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างการแก้รัฐธรรมนูญ จึงกำหนดต้องมีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง หากจะลดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเหลือ 20-30% ก็ต้องดูรายละเอียดและองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร
‘เอาเหตุผลมาคุยกัน สว.ไม่ได้ติดขัดเรื่องจำนวนเสียงที่ออกมาใช้สิทธิ แต่จะต้องเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ’
แม้ในหลักการสภาบนกับสภาล่าง จะมีความเป็นอิสระต่อกัน แต่ในทางการเมืองไม่มีใครปฏิเสธว่า สว.มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับบางพรรคการเมือง ที่ถึงขั้นเรียกเป็น**‘สภาสีน้ำเงิน’**ไปแล้วด้วยซ้ำ
ดังนั้น การออกมาแสดงท่าทีในเรื่องนี้ของเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่ไปในทิศทางเดียวกับตัวแทนสว.ในคณะกรรมาธิการร่วมฯ จึงเป็นการส่งสัญญาณในระดับหนึ่ง ถึงการแสดงความพร้อมที่จะ**‘รอมชอม’**หรือ **‘พบกันครึ่งทาง’**ได้
ไม่ยืนกระต่ายขาเดียวต้องเป็นเสียงข้างมากสองชั้นเท่านั้น
ทีนี้ไปดูว่า นอกจากเสียงข้างมากชั้นเดียวตามร่างของสภาผู้แทนราษฎร และเสียงข้างมากสองชั้นที่วุฒิสภาแก้ไขนั้น ยังมีสูตรไหนอีกบ้าง ที่จะถูกนำมาเป็นตุ๊กตาให้คณะกรรมาธิการร่วมฯ ได้สนทนาธรรมกันในวันพุธที่ 6 พฤศจิกายนนี้
หนึ่ง ประเด็น 20-30% ที่เป็นข้อเสนอของ ‘ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์’ หนึ่งในกรรมาธิการร่วมฯ จากพรรคเพื่อไทย จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ถูกนำมาพิจารณา ซึ่งมีที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติไว้ ให้มีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่า 20% ของจำนวนผู้มีสิทธิ
สอง หลักเกณฑ์เดิมที่พรรคภูมิใจไทย เคยขอแปรญัตติไว้ให้มีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิลงคะแนน และถูกตีตกไปอาจถูกหยิกยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยปรับเป็นไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แทน ซึ่งใกล้เคียงกับเกณฑ์ 30% ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ
สาม แนวทางสุดท้าย ยึดตามร่างเดิมของคณะรัฐมนตรี คือ เสียงข้างมากแบบ ‘ชั้นครึ่ง’ ที่เป็นหลักการเดียวกับร่างเดิมของพรรคภูมิใจไทย ก่อนจะแปรญัตติเป็นไม่น้อยกว่า 1 ใน 4
เท่าที่ฟังมา แนวทางสุดท้าย น่าจะลงตัวที่สุด เพราะยังยึดโยงกับเสียงข้างมาก ที่ให้มีผู้มาออกเสียงเกินครึ่ง หรือมากกว่า 50% ของผู้มีสิทธิ แต่เสียงที่เห็นชอบให้ยึดเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์
มีแนวโน้มว่าหวยน่าจะออกที่สูตรนี้แหล่ะ!!
เพราะเริ่มมีการเคลื่อนไหวล็อบบี้กันบ้างแล้วว่า เป็นสูตรที่ ‘วิน-วิน’ ที่สุด เนื่องจากเป็นเกณฑ์ที่ใช้เฉพาะกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิงครบวงจร หรือกฎหมายอื่นใดก็ตาม หากต้องนำไปออกเสียงประชามติ ก็แค่ใช้เสียงข้างมากปกติ
ไม่ต้องมีบวกห้องใต้ดิน ไม่มีชั้นลอยหรือเล่าเต้งที่ไหนให้หวาดเสียวว่าจะไม่ผ่านอีก
เมื่อลูกชายครูใหญ่ ออกมาสื่อสารเอง จึงน่าจะเป็นสัญญาณบวกจากภูมิใจไทย ที่พร้อมพบกันครึ่งทางเรื่องเกณฑ์การออกเสียงประชามติ แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ก็ตามเถอะ