วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายนนี้ อาจจะเป็น ‘จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ’ ของธนาคารแห่งประเทศไทย หากฟากการเมืองสามารถส่งคนเข้ามายึดครองตำแหน่งสำคัญๆใน คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยได้สำเร็จ ไม่เพียงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ยังอาจรวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกสองตำแหน่งจากกรรมการทั้งหมด 12 ตำแหน่ง
ก่อนหน้านี้ชื่อของ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ถูก ‘โฟกัส’ และโดนกระแสต้านจาก 250 นักวิชาการ ‘กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม’ เนื่องจากมีการคาดหมายว่า คณะกรรมการสรรหาฯที่ มีอดีตปลัดกระทรวงการคลัง สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน จะถูกกดดันให้เลือก ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ขึ้นมาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่แทน ‘ปรเมธี วิมลศิริ’ ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา
แต่ในการสรรหาประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศในรอบนี้ นอกจากตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติแล้ว ยังมี ‘หวยล็อก’ ให้กรรมการสรรหาฯต้องเลือก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากภายนอกอีกสองตำแหน่งตามโควตาที่เสนอโดยกระทรวงการคลังประกอบด้วย
‘พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์’ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ‘พรอนงค์ บุษราตระกูล’ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ให้มาเป็นกรรมการฯ แทน ‘มนัส แจ่มเวหา’ อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง ‘นนทิกร กาญจนะจิตรา’ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
ซึ่งทั้งสามคนต่างเป็นสายตรงที่มีความใกล้ชิดและถูกส่งมาจากพรรคเพี่อไทย โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะรุกเข้ามายึดกุมหน่วยงานทางเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ
ก่อนหน้านี้หลังจากรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยเข้ามาเมื่อปีที่แล้ว ในยุคของ อดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสินรัฐบาลมีการแต่งตั้ง ‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ ที่เคยเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของพรรค ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และตอนนี้ก็ยังสวมหมวกเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร อีกด้วย
ขณะเดียวกันในการโยกย้ายตำแหน่งล่าสุดในกระทรวงการคลังก็มีการผลักดันคนที่ยอมสนองนโยบายประชานิยมของรัฐบาลขึ้นมานั่งในตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่ง ทั้งปลัดกระทรวงการคลัง ‘ลวรณ แสงสนิท’ และ อธิบดีกรมสรรพากร ‘ปิ่นสาย สุรัสวดี’ บุตรชายคนโต ของ ‘ปลอดประสพ สุรัสวดี’
นอกเหนือจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว แม้แต่ในฟากของตลาดทุน ก็มีความพยายามที่จะเข้าไปยึดกุมอำนาจ โดยมีการแต่งตั้งคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทยไปนั่งตำแหน่งสำคัญ
การที่กระทรวงการคลังเสนอชื่อ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ รวมทั้งกรรมการอีกสองคน ที่เป็นสายตรงจากพรรคเพื่อไทย จึงแสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ที่ต้องการเข้าไปกุมสภาพในแบงก์ชาติ เพื่อให้การกำหนดนโยบายด้านการเงิน ทั้งในเรื่องของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปในทิศทางผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามแนวคิดของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ชัดเจนมาก
หากเข้าไปกุมสภาพในบอร์ดแบงก์ชาติได้แล้ว ก็เชื่อได้ว่าในการสรรหาผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่แทน ผู้ว่าฯ ‘นก’ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่จะครบวาระในเดือนกันยายนปีหน้า ก็คงจะมีการส่งตัวแทนจากสายตรงเข้ามาแทนอย่างแน่นอน
ก่อนหน้านี้ อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ‘ธาริษา วัฒนเกส’ ออกโรงมากระทุ้งเตือนจิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาฯ โดยเรียกร้องให้ทำหน้าที่สำคัญนี้ด้วยหลักการ ไม่รับในสั่งทางการเมือง เพื่อไม่ต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกผันไปสู่ก้าวแรกของความหายนะ เพราะมันอาจจะเป็นการจุดชนวนที่จะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่
หากประเทศไทยไม่เหลือหน่วยงานเศรษฐกิจหลักของประเทศที่สามารถยึดมั่นในหลักการ และพร้อมที่จะถ่วงดุลคัดค้านนโยบายเศรษฐกิจที่อาจจะผิดทิศผิดทางของฝ่ายการเมือง จนทำให้ต้องมีการเลื่อนการสรรหาจากวันที่ 9 ตุลาคม มาเป็นวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายนนี้
แต่ดูเหมือนแรงกดดันทางการเมืองยังคงไม่ได้รามือ แถมอาจจะหนักหน่วงกว่าเดิม จึงน่าจับตามองว่า การออกแถลงการณ์คัดค้านล่าสุดของ 250 นักวิชาการกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ที่มีอดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติถึง 4 คน คือ ‘ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล’, ‘ธาริษา วัฒนเกส’, ‘ประสาร ไตรรัตน์วรกุล’ และ ‘วิรไท สันติประภพ’
จะมีพลังที่ทำให้กรรมการสรรหาฯ จะมีจิตสำนึกมากพอที่จะไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันทางการเมือง หรือทำให้พรรคเพื่อไทย ตัดสินใจยอมถอยหรือไม่...