สว.สีน้ำเงิน ไม่เลือกคนที่ไม่ใช่!!

19 มี.ค. 2568 - 03:31

  • ได้เห็นฤทธิ์เดชสภาสูงที่พูดถึงกัน

  • อภินิหารสว. สีน้ำเงิน

  • ไม่ใช่ คนที่ใช่ โดนโหวตคว่ำ

politics-thailand-court-decision-SPACEBAR-Hero.jpg

คงไม่เหนือความคาดหมายนัก ที่วุฒิสภา ตีตก รายชื่อ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และ ชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล ที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหา ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทนตำแหน่งที่ว่าง 2 ตำแหน่ง

ทั้งสองคนได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหาด้วยเสียงเอกฉันท์ จำนวน 8 เสียงเท่ากัน โดยเฉพาะ ศ.ดร.สิริพรรณ ที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหาตั้งแต่รอบแรก ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ในขณะที่นายชาตรี ได้รับเลือกในรอบที่สาม

แต่ทั้งคู่ไม่ผ่านด่านวุฒิสภา เพราะได้รับคะแนนเสียงรับรองไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสว.ทั้งหมดที่มีอยู่ ตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด นั่นคือ ต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือ 100 เสียงขึ้นไป 

โดย ศ.ดร.สิริพรรณ ได้คะแนนเห็นชอบ 43 ไม่เห็นชอบ 136 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน 1 จำนวนผู้ลงมติ 187 คน นายชาตรี ได้คะแนนเห็นชอบ 47 ไม่เห็นชอบ 115 งดออกเสียง 22 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 จำนวนผู้ลงมติ 187 คน เท่ากัน

งานนี้ได้เห็นถึงความพร้อมเพรียงของสว.อีกครั้ง โดยเฉพาะเสียงไม่รับรองที่เกาะกลุ่มกันเกินครึ่งค่อนสภาสูง ในขณะที่เสียงรับรอง 43-47 เสียง ก็จะเกาะกลุ่มกันอยู่ในระดับนี้

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณารับรองรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) จำนวน 6 คน ปรากฎว่ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อจากการสรรหา ไม่ผ่านการรับรอง 2 คน คือ 

น.ส.พศุตม์ณิชา จำปาเทศ อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้คะแนนเห็นชอบ 48 ไม่เห็นชอบ 116 ไม่ออกเสียง 27 และนายนิวัติไชย เกษมมงคล อดีตเลขาธิการป.ป.ช.ได้คะแนนเห็นชอบ 30 ไม่เห็นชอบ 145 ไม่ออกเสียง 15 คะแนน

คนหลังซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการ ป.ป.ช.ตามข่าวถูกวางตัวให้เป็นประธานคตง.คนใหม่ด้วยซ้ำ แต่ไม่ผ่านด่านวุฒิสภา

วกกลับมาที่การลงมติรับรองรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรรมนูญหนนี้ ที่ถูกวุฒิสภาตีตกไปทั้งสองรายชื่อ มีข่าวกระเซ็นกระสายมาตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ลุ้นกันว่าวุฒิสภาจะรับรองหรือไม่รับรอง หรือว่าจะรับรองบางรายชื่อเท่านั้น

แต่ผิดความคาดหมายที่ไม่รับรองทั้งสองรายชื่อ?!

ส่วนสาเหตุมีทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย บ้างว่าเป็นเพราะ ศ.ดร.สิริพรรณ ถูกตั้งคำถามในเรื่องความเห็น มุมมองเกี่ยวกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะเป็นความเห็นในทางวิชาการ ที่มีการซักถามมาตั้งแต่ในชั้นคณะกรรมการสรรหาและสิ้นสงสัยกันไปแล้ว

ในขณะที่อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ในวงการทูตถือว่าไม่ธรรมดา บังเอิญไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับ สราวุธ ทรงศิวิไล อดีตอธิบดีกรมทางหลวง กับอีกคน สุรชัย ขันอาสา อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และอดีตผวจ.หลายจังหวัด

บังเอิญอีกเหมือนกัน ที่สองอดีตบิ๊กข้าราชการ คนหนึ่งเป็นลูกหม้อกระทรวงคมนาคม อีกคนเป็นลูกหม้อกระทรวงมหาดไทย ในชั้นกรรมการสรรหาได้รับเสียงโหวตในสองรอบแรกคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ทั้งคู่ และมาพ่ายให้กับท่านทูตชาตรีในรอบที่สาม

ทำให้ทั้งสองเหมือนบุญมีแต่กรรมบัง เดินทางมาไม่ถึงด่านสุดท้ายให้สว.โหวตรับรองรายชื่อ?!  

แต่ก็ยังอุตส่าห์มีเหตุผลที่ไม่รับรองทูตชาตรี เพราะไม่ใช่ตัวเลือกดีที่สุด เนื่องจากผ่านการสรรหามาในรอบที่สาม

เมื่อเป็นเช่นนี้คณะกรรมการสรรหา ที่มีประธานศาลฎีกา เป็นประธาน และมีกรรมการประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านฯ ประธานศาลปกครองสูงสุด และที่เหลือมาจากองค์กรอิสระที่แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

จากนี้เป็นหน้าที่ของ "แปดอรหันต์" ที่ต้องไปทำหน้าที่เลือกเฟ้นหาตัวผู้มีความเหมาะสมใหม่ ส่งให้วุฒิสภารับรองรายชื่อแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนผู้ที่ครบวาระต่อไป ในระหว่างนี้ทั้ง ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายปัญญา อุดชาชน ต้องอยู่ทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคนใหม่มาแทน

ส่วนคนที่จะมาแทนได้ก็ต้องผ่านการรับรองจากวุฒิสภาก่อน ต้องรอดูว่า "คนที่ใช่" ของสว.สีน้ำเงิน จะเป็นคนเดิมที่ไม่ผ่านการสรรหารอบนี้แล้วมาสมัครใหม่ ซึ่งไม่ผิดกติกาหรือจะเปลี่ยนคนใหม่หลังเสียลับ

เพราะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างก่อนโหวตคราวนี้ มีสัญญาณพิเศษให้โหวตคว่ำทั้งคู่ เนื่องจากไม่ใช่ "คนที่ใช่"

ทีนี้ได้เห็นฤทธิ์เดชสภาสูงที่พูดถึงกันหรือยังว่ามันมีอยู่จริง นี่แหล่ะอภินิหารสว.สีน้ำเงินเค้าล่ะ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์