อย่างที่ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า จะมาเก็บตกการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ เพราะมีปัจจัยหลายเรื่องที่น่าสนใจ และจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งใหญ่รอบหน้า
เลือกตั้งใหญ่ ที่มีสัญญาณว่า อาจมาเร็วกว่า ปี 2570 ซึ่งเป็นกำหนดครบวาระสภาผู้แทนราษฏรชุดนี้
เลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ.รอบที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเป็นครั้งแรก หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ถือเป็นสนามเลือกตั้งที่เทียบเคียงการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะมีการเลือกตั้งในทุกเขต
แต่ปัจจัยแพ้-ชนะ ของการเลือกตั้ง อบจ. จะนำมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน หรือกำหนดความนิยมของโหวตเตอร์ที่จะมีขึ้นในการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ได้ เพราะเลือกตั้ง อบจ.ต่างจากเลือกตั้งใหญ่
หนึ่ง คือ เขตเลือกตั้งที่ต่างกัน เพราะเขตเลือกตั้ง ส.อบจ. ไม่ได้เป็นพื้นที่เดียวกับเขตเลือกตั้งส.ส. ซึ่งกกต.จะเป็นผู้กำหนดใหม่อีกครั้ง
อีกหนึ่ง คือ ปัจจัยการตัดสินใจของโหวตเตอร์ที่ใช้เหตุผลการเลือก ส.อบจ. ก็ต่างจากการตัดสินใจเลือก ส.ส.
การเลือกนายก อบจ. หรือ ส.อบจ. ชาวบ้านเลือกคนที่จะต้องเข้ามาทำงานในพื้นที่ เป็นที่พึ่งพา เป็นเสมือนหนึ่งตัวแทนชาวบ้านในท้องถิ่นจริงๆ ต่างจาก ส.ส.ที่ชาวบ้านเลือกให้เข้าไปทำงานแทนชาวบ้านในสภาผู้แทนราษฏร และเป็นปากเสียงในระดับประเทศ
อีกหนึ่งความแตกต่าง คือ กติกาการเลือกตั้ง อบจ.ก็ต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะเลือกตั้งอบจ.ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่มีการเลือกตั้งนอกเขต ทำให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิ และจำนวนคะแนนที่ออกมายังผกผันไม่สอดคล้องกับการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2566
และสุดท้าย การเลือกตั้ง อบจ.ไม่สามารถทำกระแสภาพรวมจากส่วนกลาง เพื่อสร้างกระแสครอบคลุมทั้งประเทศ อันจะมีผลต่อการโน้มน้าว หรือการสร้างความรู้สึกร่วมเดียวกัน จนเกิดเกระแสการตดสินใจในภาพใหญ่
ความแตกต่างทั้งหมด ทำให้การแพ้ ชนะรอบนี้ แม้พรรคประชาชนจะแพ้การเลือกตั้งนายกอบจ.เกือบทุกสนาม โดยได้มาจากจังหวัดลำพูนเพียงที่เดียว และได้ส.อบจ.ทั่วประเทศมาเพียง 132 ที่นั่ง และได้ ส.อบจ.ในพื้นที่ 35 จังหวัดเท่านั้น
และมีเพียง 4 จังหวัด ที่ชนะเกิน 10 คน คือ เชียงใหม่ 15 ที่นั่ง ,ลำพูน 15 ที่นั่ง, อุดรธานี 13 ที่นั่ง และสมุทรปราการ 12 ที่นั่ง
นอกจากนั้นก็มีนนทบุรี 8 ที่นั่ง ส่วนที่เหลืออีก 30 จังหวัด ล้วนแล้วแต่ได้รับเลือกมาไม่เกิน 6 ที่นั่ง จังหวัดสำคัญที่พรรคประชาชนในนามพรรคก้าวไกลเคยชนะการเลือกตั้งยกจังหวัด อย่างภูเก็ต การเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้ ไม่เพียงผู้สมัครนายก อบจ. นายแพทย์เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล ผู้สมัครพรรคประชาชนที่แพ้ขาดต่อ เรวัต อารีรอบ แชมป์เก่าแบบขาดลอย
เรวัต ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน 86,616 คะแนน ส่วนนายแพทย์เลอศักดิ์ ได้คะแนนเพียง 44,602 คะแนนเท่านั้น
ขณะที่ผู้สมัคร ส.อบจ.ในทุกเขต ก็แพ้ทีมภูเก็ตหยัดได้ ของเรวัต และบางเขตก็แพ้ผู้สมัครอิสระแบบไม่มีลุ้น
จันทบุรีที่สร้างปรากฏการณ์ชนะยกจังหวัด ก็ได้ ส.อบจ.มาเพียง 2 ที่นั่ง ชลบุรี ระยอง ก็ได้มาเพียงจังหวัดละ 6 ที่นั่ง
แต่ผลการเลือกตั้งรอบนี้ ยังชี้ชัดไปถึงการเลือกตั้งใหญ่รอบหน้ายังไม่ได้ ว่าด้วยผลการเลือกตั้งเช่นนี้ จะทำให้พรรคประชาชนได้รับเลือกตั้ง ส.ส.ลดลง
เพราะหากคิดเพียงแค่นั้น ผลการเลือกตั้งใหญ่รอบหน้า ก็อาจจะซ้ำรอยเดิมการเลือกตั้งในปี 2562 และ ปี 2566 อีกครั้ง
เช่นกัน เมื่อส่องพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งที่ผ่านมา ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยในสนามสำคัญอย่างลำพูน เชียงราย ศรีษะเกษ มุกดาหาร หรือบึงกาฬ ก็ยังตอบไม่ได้เช่นกันว่า เลือกตั้งใหญ่รอบหน้าพรรคเพื่อไทยจะยังคงพ่ายแพ้ในจังหวัดเหล่านี้หรือไม่
จังหวัดลำพูน อนุสรณ์ วงศ์วรรณ จากเพื่อไทย แพ้ วีระเดช ภูพิสิฐ จากพรรคประชาชนด้วยคะแนน 109,372 ต่อ 103,405 คะแนน ห่างกันเพียง 5,967 คะแนน เท่านั้น
จังหวัดเชียงราย สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช แพ้ อทิตาธร วัยไชยธนวงศ์ ไปเพียง 19,483 คะแนน
ส่วนจังหวัดศรีษะเกษ แม้ วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ จะคะแนนเพียง 231,962คะแนนแพ้ วิชิต ไตรสรณกุล ที่ได้คะแนน 368,806 คะแนน ไปถึง 136,844 คะแนน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เลือกตั้งส.ส. พรรคเพื่อไทยจะได้จำนวนที่นั่งลดลงในพื้นที่นี้
นอกจากนั้นชัยชนะของพรรคภูมิใจไทยแบบถล่มทลายในหลายพื้นที่ภาคอีสาน และภาคใต้ ก็ยังไม่ได้หมายความว่า จะมีผลแพ้-ชนะ ต่อสนามเลือกตั้งใหญ่
สามพรรคการเมืองใหญ่ อย่าง พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน และพรรคภูมิใจไทย กำลังใช้สนามการเลือกตั้ง อบจ. เป็นพื้นที่สำหรับการเก็บข้อมูลที่สำคัญ ทั้งจำนวนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ โดยมีการเก็บข้อมูลลงลึกถึงระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด
ข้อมูลทั้งหมดถูกนำไปสังเคราะห์ และเข้าสู่ขั้นตอนการวิเคราะห์ หรือ การทำ Data Analysis อย่างละเอียด เพื่อให้เห็นถึงผลต่างของคะแนน ที่มาของคะแนน และแม้กระทั่งกลุ่มผู้ออกมาสิทธิในแต่ละกลุ่ม แต่ละวัย
รวมถึงนโยบาย ตัวผู้สมัคร พฤติกรรมการหาเสียง ข้อมูลการใช้โซเชียลมีเดียของแต่ละฝ่าย ทั้งหมดถูกเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ และจะนำไปสู่การเตรียมการเลือกตั้งใหญ่ในรอบหน้า
ความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยต่อพรรคประชาชนในเขตเลือกตั้งที่เป็นเมืองใหญ่ เช่นทุกเขตรอบอำเภอเมืองเชียงใหม่ อุดรธานี นนทบุรี ถูกพรรคเพื่อไทยเก็บข้อมูลเข้าระบบ
เช่นเดียวกับความพ่ายแพ้ของพรรคประชาชนในพื้นที่รอบนอก ก็ถูกทีมงานพรรคประชาชนเก็บรายละเอียดแบบรอบด้าน
การเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งสนามเล็ก ที่กำลังจะมีขึ้นประมาณปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม จะเป็นอีกสนามที่ทั้ง 3 พรรคใหญ่จะใช้เป็นสนามเก็บข้อมูลครั้งสำคัญอีกครั้ง
เพราะสนามเทศบาล ที่เป็นเขตชุมชนจะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะชี้วัดว่า พรรคไหนจะครองความได้เปรียบในการเลือกตั้งใหญ่รอบหน้าอย่างแท้จริง
การเมืองนับจากนี้ จึงเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง จับตา Data War ในการเลือกตั้งใหญ่รอบหน้า ซึ่งจะมีการกำหนดกลยุทธ หรือยุทธศาสตร์การเลือกตั้งนับจากนี้
พรรคประชาชนจะไม่ใช่พรรคเดียวที่ใช้ Data ช่วงชิงความได้เปรียบ เพราะสงครามข้อมูล หรือ Data War ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่วันนี้
ยุทธศาสตร์การหาเสียง นโยบาย โฉมหน้าผู้สมัคร นับจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะจะเป็นการกำหนดจากข้อมูลที่เป็นความต้องการของผู้บริโภค หรือ ความต้องการของโหวตเตอร์ หรือผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งอย่างแท้จริง
และนี่ คือ Data War ของสนามเลือกตั้งประเทศไทยในอนาคตอันใกล้