ปฏิบัติการคนร้ายปิดเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ด้วยคาร์บอมบ์อาคารที่ว่าการอำเภอ และบุกเข้าไปยิงถล่มซ้ำ บริเวณที่ตั้งของอาสาสมัครรักษาดินแดน รวมถึงการวางระเบิดในพื้นที่สำคัญของเขตเศรษฐกิจสุไหงโก-ลก เมื่อช่วงเวลา 19.30 น.ของวันที่ 8 มีนาคม 2568 ซึ่งยังเป็นช่วงหัวค่ำ และเพิ่งเสร็จพิธีละศีลอดไม่นานนัก ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นปฏิบัติการที่อุกอาจ และมีการวางแผนในเชิงยุทธการมาเป็นอย่างดี
คนร้ายวางแผนใช้รถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมา ติดตั้งระเบิดถังแก๊สขนาด 100 กิโลกรัม ขับเข้าไปจอดในบริเวณที่จอดรถของที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก โดยมีคนร้ายอีกคนขับรถจักรยานยนต์เข้าไปรับคนขับรถยนต์ออกมา
ส่วนแนวร่วมอีกจำนวนหนึ่ง กระจายไปวางระเบิดขนาดต่างๆในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของอำเภอสุไหงโก-ลก เพื่อสร้างความวุ่นวายเพิ่มขึ้น และตัดเส้นทางกำลังทหารจากภายนอกที่จะเข้ามาช่วยเหลือ
เมื่อถึงเวลานัดหมาย คนร้ายก็จุดระเบิดด้วยสัญญาณวิทยุคลื่นสั้น หลังจากเกิดระเบิดอย่างรุนแรง ก็มีภาพรถปิคอัพบรรทุกคนร้ายจำนวนหนึ่ง พร้อมอาวุธสงครามครบมือ บุกเข้าไปยิงถล่มซ้ำ โดยมีเป้าหมายที่กำลังอาสาสมัครรักษาดินแดนของอำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งรักษาการในบริเวณที่ว่าการอำเภอ พร้อมกับแนวร่วมทุกจุด ก็กดระเบิดที่วางไว้ในพื้นที่สำคัญในเวลาใกล้เคียงกัน
ปฏิบัติการที่พร้อมเพรียงกัน ในช่วงเวลาไล่เรี่ยกัน เป็นวิธีการที่นักการทหาร ระบุว่า เป็นเรื่องยาก หากไม่ได้มีการวางแผนในเชิงยุทธการที่ดี และไม่มีการซักซ้อมมาก่อน
ชุดปฏิบัติการติดอาวุธ ที่กระจายลงมาจากรถยนต์หลังเกิดเหตุระเบิดและเข้ายิงถล่มที่มั่นของอาสารักษาดินแดน มีการฝึกใช้อาวุธสงครามมาเป็นอย่างดี เพราะมีการกระจายตัวเข้าโจมตี เพื่อป้องกันความผิดพลาดระหว่างกัน ขณะที่แนวร่วมส่วนอื่นก็ลงมือในเวลาใกล้เคียงกัน
ปฏิบัติการในรูปแบบดังกล่าว นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมในการจัดกำลังติดอาวุธ และการใช้แนวร่วมเข้าร่วมกระจายก่อเหตุในพื้นที่ใหญ่ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดทางด้านการข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐ
การเคลื่อนตัวด้วยกำลังติดอาวุธขนาดนี้ การนำรถยนต์ที่ติดตั้งวัตถุระเบิดเข้าไปยังอาคารที่ว่าการอำเภอ และการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดกระจายไปยังจุดต่างๆ สามารถทำได้อย่างเสรี
ประการสำคัญ ยังเป็นการโจมตีอำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งไม่เกิดขึ้นมานานมาก ครั้งสุดท้ายที่เกิดเหตุวางระเบิดขนาดใหญ่กลางเมืองสุไหงโก-ลก จนมีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก เกิดขึ้นเมื่อปี 2554
หลังจากนั้นแม้จะมีเหตุวางระเบิดบ้าง แต่ก็ไม่มีผู้เสียชีวิต และส่วนใหญ่เป็นจักรยายนต์บอมบ์มากกว่าที่จะเป็นคาร์บอมบ์
ครั้งนี้จึงเป็นปฏิบัติการที่อุกอาจครั้งใหญ่ในรอบกว่า 10 ปี ที่มีการใช้กำลังจำนวนมากเข้าโจมตีสถานที่ราชการในสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นเมืองชายแดน และเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดนราธิวาส
ในอดีตเมืองสุไหงโก-ลก คือ ไข่แดงของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการวางกำลังป้องกัน และควบคุมอย่างเข้มแข็ง ทุกเส้นทางเข้า-ออกสุไหงโก-ลก ล้วนมีด่านความมั่นคง ที่มีกำลังหลักร่วมทั้งทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครรักษาดินแดน
จนเมื่อประมาณปี 2563 เริ่มถอนกำลังทหารหลักออกจากพื้นที่ โดยให้เหลือกำลังทหารหลักตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซียบางส่วน ส่วนพื้นที่ตอนใน มอบให้อาสาสมัครรักษาดินแดนของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบในการจัดกำลัง
การโจมตีที่มีเป้าหมายสถานที่ราชการครั้งนี้ จึงถูกวิเคราะห์ได้หลายแนวทาง…
ด้านหนึ่งถูกตั้งคำถามหนักว่า การข่าวของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถรู้ถึงความเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธชุดนี้ ก่อนล่วงหน้าเลยหรือ
ทำไม…ปล่อยให้กองกำลังติดอาวุธในพื้นที่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี ทั้งการนำกำลังเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน และการวางระเบิดทั่วเมือง
ด้านหนึ่ง ก็ถูกตั้งคำถามถึงความพร้อมของกองกำลังประจำถิ่น อย่างกองกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดนว่า พร้อมต่อการรับมือสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วหรือ
เพราะตามแผนงานภายใน 2 ปีนับจากนี้ กำลังทหารหลักจะต้องเริ่มทยอยถอนกำลังออกจากพื้นที่ และส่งมอบพื้นที่ให้กับกองกำลังประจำถิ่น คือ ตำรวจ และกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน ดูแลพื้นที่แทน
ปฏิบัติการอุกอาจครั้งนี้ จึงสะเทือนยิ่งต่อ 2 ด้าน…
หนึ่ง…สะเทือนต่อการทำงานด้านการข่าวของหน่วยงานในพื้นที่ว่า เหตุใดหละหลวมขนาดนี้
อีกหนึ่ง…สะเทือนต่อความเชื่อมั่นของกองกำลังประจำถิ่น ว่า จะรับมือเหตุขนาดใหญ่ และการโจมตีขนาดใหญ่ได้หรือไม่
สะเทือนแรก เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในห้วงเวลาสำคัญของกองทัพ ที่จะมีการทำบัญชีโยกย้ายนายทหารกลางปี
บัญชีโยกย้ายนายทหารระดับนายพลที่ปีนี้ น่าจะมีการขยับตำแหน่งหลักหลายตำแหน่ง และเป็นการขยับที่ลือสะพัดว่า นอกจากตำแหน่ง พล.อ.ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ 2 ตำแหน่งที่ว่างอยู่จากการแต่งตั้งเมื่อปลายปี 2567
พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก ยังทำเรื่องไปยังกระทรวงกลาโหม เพื่อขออัตรา พลเอก เป็นกรณีพิเศษเฉพาะตัวให้กับนายทหารบางรายด้วย นัยว่า เพื่อขยับนายทหารระดับ พลโท บางตำแหน่ง ขึ้นไปเป็น พลเอก เพื่อขยับตำแหน่งรองเสนาธิการทหารบก และเจ้ากรมสำคัญบางหน่วย
ซึ่งนั่นอาจหมายถึงระดับแม่ทัพภาค แม่ทัพน้อย และระดับผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสำคัญๆ ที่จำเป็นต้องมีการขยับ เพื่อกระชับอำนาจด้วย
กองทัพภาคที่ 4 แม้ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ (ตท.25) จะเพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาค เพียงไม่กี่เดือน และอยู่ในช่วงปรับแผนปฏิบัติการ และปรับกำลังในการโยกย้ายกลางปี เพื่อรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
แต่ตัวแปรสำคัญที่เกิดขึ้นจากตำแหน่งแม่ทัพน้อยที่ 4 ซึ่งว่างลงกรณี บิ๊กแม็ค พล.ท.คมกฤช รัตนฉายา ขอเข้าโครงการเกษียณราชการก่อนกำหนด ทำให้กองทัพภาคที่ 4 น่าจะมีการขยับนายพลในระดับสำคัญหลายตำแหน่ง รวมถึงระดับรองนายพล และพันเอกพิเศษบางตำแหน่ง
การขยับระดับนายพล ยังสะพัดกันถึงขึ้นการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 ที่เพิ่งรับตำแหน่งไม่ถึงปี เพราะแม่ทัพไพศาล อาจไม่ตอบโจทย์แผนดับไฟใต้ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า จะดับไฟใต้ภายในสิ้นปี 2569
ความเคลื่อนไหวของแคนดิเดตแม่ทัพภาคที่ 4 บางคนจึงเริ่มคึกคัก และคึกคักอย่างเห็นได้ชัดในการลงพื้นที่ของ ทักษิณ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ความคึกคักของข่าวลือการเปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 ยังคึกคักคู่ขนานไปกับการก่อเหตุในพื้นที่แบบถี่ขึ้น และเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น
คืนวันที่ 8 มีนาคม 2568 นอกจากที่สุไหงโก-ลกแล้ว ยังเกิดเหตุระเบิดที่บ้านฮูแตกอแล ตำบลเตราะบอน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง
ทั้งหมดยังไม่นับเหตุที่เกิดขึ้นถี่ยิบก่อนหน้านี้ และล่าสุดคืนวันที่ 9 มีนาคม ก็มีการบุกเข้าไปยิง อาสาสมัครรักษาดินแดนหญิงเสียชีวิตคาบ้านพักที่ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา
ระเบิดกลางเมืองสุไหงโก-ลก รอบนี้ จึงมองเหมือนเป็นปฏิบัติการยืมมือ BRN รุกเข้าใส่เป้าหมายใหญ่ ทั้งเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 4 และเป้าหมายรอง อย่างสมรรถนะของกองกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดนว่า พร้อมจะถ่ายโอนกำลัง จากกำลังหลักหรือไม่…?