เกมของใคร-ดับฝันใคร?!

13 มี.ค. 2568 - 03:04

  • เรื่องนี้เป็นเกมของใคร และทำไปเพื่ออะไร?

  • ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลต้องมาดูว่าจะเป็นอย่างไรต่อ

  • หลังศาลรธน. ตีตกคำร้องไม่รับวินิจฉัยปมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

politics-thailand-deepspace-constitutional-court-cabinet-decision-SPACEBAR-Hero.jpg

ไม่รู้ว่าใครจะรู้สึกโล่ง หรือใครจะเป็นฝ่ายที่รู้สึกอึดอัดขึ้นมาในบัดดล

หลังศาลรัฐธรรมนูญ ตีตกคำร้องของคณะรัฐมนตรี ไม่รับวินิจฉัยปมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) (5) และที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 23/2567 ไว้

ด้วยมติเกือบเอกฉันท์ 8 ต่อ 1 เสียง

ทำให้ทั้งเรื่องของคำว่า "มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” และ “ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท” 

ทั้งหมดยังเป็นปริศนา ไม่รู้มีนิยามกว้าง แคบ มีขอบเขตขัณฑสีมาครอบจักรวาลขนาดไหน?

เพราะศาลท่านพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องไม่เข้าเกณฑ์ที่จะรับไว้ เป็นเพียงการขอให้อธิบายหรือแปลความหมายของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี "ยังถือไม่ได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องเกิดขึ้นแล้ว"

พูดง่ายๆ คือ ปัญหายังไม่เกิดนั่นเอง!!

นอกจากนั้น ศาลท่านยังชี้ว่า การเสนอบุคคลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาคุณสมบัติดังกล่าวและเป็นผู้รับผิดชอบในการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว

ขณะที่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย 

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องคณะรัฐมนตรีไว้วินิจฉัย สื่อบางค่ายบอกว่า "รัฐบาลหน้าแหก" เหตุเพราะเป็นมติลับของคณะรัฐมนตรี ที่ให้เสนอเรื่องดังกล่าว แต่ต่อมาก็ไม่ได้เป็นความลับอีกต่อไป เพราะปรากฎเป็นข่าวบนหน้าสื่อให้ได้รู้กันไปทั่ว

แต่ที่ยังตามแกะกันต่อคือ เรื่องนี้เป็นเกมของใคร และทำไปเพื่ออะไร?

โดยทุกสายตาต่างพุ่งเป้าไปที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม และ ไผ่ ลิกค์ เลขาธิการพรรคกล้าธรรม ที่ทั้งคู่มีปมเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ 

แม้ ร.อ.ธรรมนัส จะให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ในวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา โดยแสดงความมั่นใจในคุณสมบัติของตัวเอง เพราะเคยผ่านการเป็นรัฐมนตรีมา 2 สมัยแล้ว และมีคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญรับรองเอาไว้ชัดเจน ดังนั้น อย่านำตัวเองไปรวมกับประเด็นของคนอื่น

ทว่าการเป็นรัฐมนตรีทั้งสองครั้ง รวมทั้ง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ว่านั้น เป็นเหตุการณ์ก่อนมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 14 สิหาคม 2567 ที่ทำให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี กรณีเสนอชื่อ พิชิต ชื่นบาน ทนายถุงขนม เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรรัฐมนตรี

จากการตีตกคำร้องดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ ภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามสื่อไว้สั้น ๆ หลังทราบคำวินิจฉัยว่า จากนี้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลต้องมาดูว่าจะเป็นอย่างไรต่อ เพราะเรื่องนี้ครม.มอบหมายให้นายชูศักดิ์รับผิดชอบ เพื่อทำเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน

แต่เบื้องต้น ภูมิธรรม ยอมรับหากอนาคตมีการปรับ ครม.“ก็คงต้องนำมาคิด”?!

ส่วนจะคิดกันละเอียดยิบขนาดไหน คงต้องรอให้วันนั้นมาถึงก่อน 

แต่ที่แน่ชัดเลย นาทีนี้แม้จะยังเดากันต่อว่า ตกลงเป็นเกมของใครกันแน่ในรัฐบาล"พ่อ-ลูก"  ที่ทำให้ครม.ต้องพิจารณาเรื่องนี้เป็น "วาระลับ" แต่ก็คงพอคลำทางกันได้ว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมานั้น ไปดับฝันใคร?

อย่างน้อยการปรับครม.ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ หากไม่มีชื่อ ส.ท.ร.2 มือทำงานของพ่อนายกฯ ร่วมอยู่ในครม.อิ๊งค์ 2 ด้วย ก็คงมีเหตุผลก้อมแก้มพออธิบายได้

น่าจะง่ายกว่าการปิดประตู ไม่ให้ "ผู้กอง" กลับเข้าพรรคเพื่อไทย ก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ด้วยซ้ำ!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์