‘ซักฟอกเดือนหนึ่งเลยไหมล่ะ..ก็แล้วแต่ได้หมด กี่วันก็มา’
การตอบคำถามสื่อด้วยท่าทีผ่อนคลายของนายกฯ ‘อิ๊งค์ ’ แพทองธาร ชินวัตร เรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ยังตกลงกันไม่ได้ทั้งเนื้อหาในญัตติ และกรอบเวลาการอภิปราย ต้องให้เวลาฝ่ายค้านได้ซักฟอกกี่วันกันแน่
อาการกระเซ้าเย้าแหย่กับสื่อที่มาพร้อมกับเสียงหัวเราะของนายกฯ Gen Y ถ้าไม่ใช่เพราะฟิตเต็มแก่ ที่พร้อมเผชิญหน้ากับฝ่ายค้านในศึกซักฟอกที่กำลังจะมีขึ้น ก็คงเป็นเพราะล่วงรู้ข้อสอบล่วงหน้าแล้วว่า จะไม่มีการซักฟอกเกิดขึ้น
โดยมองผ่านการขบเหลี่ยมของประธานฯ ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ กับฝ่ายค้าน ที่ต่างไม่ยอมลดราวาศอกให้กัน แถมเป็นมวยบุกด้วยกันทั้งคู่ ชนิดที่ถ้าใคร ‘ถอยเป็นล้ม’ ประมาณนั้น
ล่าสุดประธานฯ วันนอร์ ส่งทีมงานชุดใหญ่ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายประจำ ตั้งแต่ที่ปรึกษา เลขาฯ โฆษก ไปจนถึงสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ‘เรียงหน้ากันออกมาชี้แจง’ พร้อมแนบข้อมูลประกอบละเอียดยิบ มีตอนหนึ่งระบุถึงการนับระยะเวลาเอาไว้ดังนี้
ตามข้อบังคับดังกล่าวที่ระบุว่า ให้ประธานสภาแจ้งผู้เสนอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ อันเป็นมาตรการเร่งรัด เพื่อให้ดำเนินการเป็นการด่วน โดยไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ ที่จะเป็นเหตุทำให้ญัตติเป็นอันตกไป ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/1 ได้บัญญัติไว้ว่า
‘การนับระยะเวลาทั้งปวงให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบ ข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่น และมาตรา 193/3 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน... ดังนั้น เมื่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับญัตติเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 จึงต้องเริ่มนับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป’
การที่ประธานฯ วันนอร์ ส่งชุดใหญ่ออกมาสื่อสารกับสังคมหลังได้รับหนังสือโต้แย้งจาก ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ ผู้นำฝ่ายค้านฯ เท่ากับหลังพิงฝา ยืนในหลักการเดิมที่ประกาศไว้
นั่นคือ ถ้าไม่ลบชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ออกจากญัตติ ก็ไม่บรรจุญัตติเข้าระเบียบวาระ
ในขณะที่ ‘เท้ง-ณัฐพงษ์’ ก็ยืนกรานต้องใส่ชื่อทักษิณไว้ในญัตติ พร้อมโต้กลับทุกดอกทุกเม็ดอีกเหมือนกัน โดยเฉพาะคำอธิบายเรื่องญัตติทั่วไปกับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ตีความข้อบังคบไว้ไม่เหมือนกัน
‘ญัตติธรรมดาสามารถกล่าวถึงบุคคลภายนอก ระบุชื่อบุคคลภายนอกในญัตติได้ แล้วทำไมญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เป็นการกล่าวหา จึงจะไม่สามารถระบุลงไปได้ เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้ ผมเองก็คิดว่าอำนาจในการตีความต่างๆ ก็เป็นของท่านประธาน แต่เราเองก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการให้เหตุผล’
ณัฐพงษ์ ยอมรับตอนหนึ่งว่า ที่ต้องใส่ชื่อทักษิณ เพราะไม่ต้องการ**‘เลี่ยงบาลี’** เมื่อมีการพูดถึงในช่วงอภิปรายจะได้ไม่ต้องลุกขึ้นประท้วงกัน เนื่องจากมีชื่อในญัตติอยู่แล้ว
‘ถ้าระบุชื่อนายทักษิณอย่างตรงไปตรงมา การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะสามารถกล่าวถึงนายทักษิณได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น และการประท้วงก็ทำได้ยากมากขึ้น’
อาการพาซื่อสื่อออกมาตรง ๆ แบบนี้ของณัฐพงษ์ ไม่รู้จะยิ่งทำให้มีปัญหาเพิ่มมากขึ้นอีกหรือเปล่า เพราะเป็นการเผยเจตนาที่ฝ่ายรัฐบาลเองต้องการปิดจุดนี้อยู่แล้ว
แต่ณัฐพงษ์ ก็ยังคงย้ำว่า พรรคฝ่ายค้านไม่ได้ดื้อดึง ไม่ได้พยายามสู้ชนฝา เพียงแต่พยายามจะยืนยันในหลักการ และยังเดินหน้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ
‘ไม่ได้มีความลังเลนะครับ กระบวนการในส่วนนี้มองในมุมหนึ่ง ผมเองต้องถามกลับไปทางฝั่งรัฐบาลมากกว่า ว่าจริงๆแล้วที่ออกมาบอกว่าฝ่ายค้านไม่ควรจะระบุชื่อคุณทักษิณ และพยายามบอกว่าพวกเราถอยไม่ได้ ไม่ยอมถอย พยายามไม่อยากเดินหน้าเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ ผมอยากจะตอบชัดๆ ว่าไม่ใช่ เราพร้อมที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกวัน เพียงแต่ต้องการยืนยันในหลักการของเราว่า การทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ซึ่งควรจะพูดได้อย่างเปิดกว้างและเต็มที่’
เมื่อเกมเดินมาถึงจุดนี้ มีทั้งเสียงสนับสนุนให้ฝ่ายค้านรักษาหลักการไว้ และฝ่ายที่ให้ถอนชื่อทักษิณออกจากญัตติ
โดยฝ่ายแรกเห็นว่า งานนี้ประธานฯ วันนอร์ ‘ไม่มีอำนาจไปยับยั้ง’ ไม่ให้บรรจุญัตติได้ ดังนั้น ถ้าขืนไม่บรรจุก็ไปร้องเอาผิดต่อ ป.ป.ช.ได้ และให้ฝ่ายค้านเปลี่ยนมาใช้วิธีอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาแทน
ส่วนฝ่ายหลัง เห็นด้วยกับการวินิจฉัยของประธานฯ วันนอร์ ที่ไม่ให้มีชื่อบุคคลภายนอกปรากฎอยู่ในญัตติ ส่วนจะเอ่ยถึงชื่อใครบ้าง ไปว่ากันให้เต็มที่ในช่วงการอภิปราย แต่ต้องรับผิดชอบกันเอาเอง เพื่อให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ Gen Y เดินหน้าต่อไปได้
ทั้งยังมองการออกมาโต้ตอบของฝ่ายค้าน เป็นเพียงการโหมโรงซักฟอก ดึงความสนใจจากประชาชนเท่านั้น และไม่อยากให้ฝ่ายค้านใช้เวลาโหมโรงนานเกินไป จะทำให้ดูไม่งาม
ขณะที่ล่าสุด เริ่มมีผู้ให้น้ำหนักกับ ‘ดีลมวยล้ม’ ต้มคนดูมากขึ้น เพราะดูจากการยืนปักหลักแน่นของทั้งสองฝ่ายแล้ว อาจจะไม่ได้เห็นการซักฟอกเกิดขึ้นในสมัยประชุมนี้
เพราะอดีตนายกฯ อย่างทักษิณ ที่ไม่เคยผ่านการถูกซักฟอกมาก่อน แต่เคยได้เห็นภาพ**‘ความบอบช้ำ’**สุด ๆ ของอดีตนายกฯ ‘บรรหาร ศิลปอาชา’ ที่ถูกฝ่ายค้านจับขึ้นเขียงซักฟอกเดี่ยวๆ มาแล้ว คงไม่อยากให้ลูกสาวคนเล็กตกอยู่ในสภาพแบบนั้น
ถึงตอนนี้ก็อยู่ที่ฝ่ายค้านเชิงรุกแล้วล่ะ จะเอายังไงกับการซักฟอกนายกฯ อิ๊งค์ และต้องตัดสินใจก่อนเส้นตายวันที่ 17 มีนาคมนี้