เฮ้ย กินอะไรกันว่ะ!!
ข้อความข้างต้น เป็นกึ่ง ๆ คำถาม พร้อมแสดงความเห็นไปด้วยในตัว ต่อท้ายข่าวการซื้อตึกมูลค่า 3 พันล้านบาท ด้วยราคา 7 พันล้านบาท ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จากการออกมาแฉของสองสส.พรรคประชาชน รักชนก ศรีนอก สหัสวัต คุ้มคง
เหตุเกิดในปี 2565-2566 ซึ่งตึกดังกล่าวเป็น "ตึกร้าง" ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง จนมีบริษัทแห่งหนึ่งซื้อไปปรับปรุง เขียนคิ้ว ทาปากเสียใหม่ และนำมาขายต่อให้กับ สปส.ในราคาที่สูงลิ่วแพงกว่าอีกหนึ่งเท่าตัว
โดย สปส.ในยุคนั้น มีการจัดทำแผนสวยหรูเกินจริง อ้างถึงผลตอบแทนที่จะได้รับอย่างเหมาะสม แต่เมื่อซื้อมาแล้วปรากฎว่ารายได้จากผลตอบแทน ไม่เป็นไปอย่างที่คาด แถมดูเหมือนมีการปั้นตัวเลขที่สูงเกินจริงอีกด้วย
สส.สาวจอมแฉ "รักชนก" บอกว่า ตึกนี้ทำกำไรในปี 2567 ประมาณ 40 ล้านบาท แต่ค่าบริหารจัดการรวมกับค่าจ้างกองทุนในการบริหารอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท ถ้าทำกิจการด้วยอัตรานี้ต่อไปเท่ากับจะติดลบทุกปี เงิน 7 พันล้านบาทที่ สปส.ทุ่มลงทุนไปจะสูญเปล่า
"ตึกแห่งนี้ถูกตั้งเป้าจัดทำประเมินการคาดการณ์ไว้อย่างสวยหรู แต่ตัวเลขที่ปรากฏในปัจจุบันต่ำกว่าเป้าทั้งหมด ทั้งการคาดการณ์ที่บอกว่าภายใน 2 ปีจะมีผู้มาเช่าใช้ 60% แต่ตัวเลขตามรายงานอยู่ที่ 40% และต่อให้มีคนมาเช่าใช้ 100% ก็ต้องใช้เวลา 30 ปีกว่าจะคืนทุน"
สส.รักชนก ข้องใจว่า ตึกแห่งนี้ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเดิมชื่อ ICE ในช่วงโควิด-19 มีการประเมินมูลค่าของตึกนี้อยู่ที่ 3 พันล้านบาท ทำไม สปส.ถึงยอมจ่ายเงิน 7 พันล้านบาท เพื่อซื้อของในราคา 3 พันล้านบาท ทั้งที่ทุกล้านบาทที่ สปส. ประหยัดได้ และนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 5% ไปอีก 30 ปี จะงอกขึ้นมาเป็นเงิน 4.32 ล้านบาท นี่คือค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นของผู้ประกันตน
“การลงทุนซื้อตึก 7 พันล้าน ส่วนต่างของมูลค่าจริงกับเงินที่จ่ายไปคือ 4 พันล้าน ดิฉันอยากตั้งคำถามว่าใครได้กำไร ประกันสังคมไม่ได้กำไรแน่นอน แต่ดิฉันเชื่อว่ามีคนกำไรแล้ว นอกจากนี้ ในปีที่มีการลงทุนซื้อตึกนี้ก็เป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้งพอดี มีพรรคการเมืองใดมาหากินโดยเอาส่วนต่างของประกันสังคมไปเป็นทุนทรัพย์ในการเลือกตั้งหรือไม่”
การออกมาแฉของสองสส.พรรคส้ม "รักชนก-สหัสวัต" หนนี้ เป็นภาพสะท้อนคำว่า "แดนสนธยา" ในสปส.ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องการจัดทำปฏิทิน ที่ผูกปิ่นโตทำกันข้ามปีทีละหลาย ๆ ปี หรือการจัดทำเวบแอป มูลค่า 850 ล้านบาท รวมทั้ง เรื่องอื่น ๆ ที่ล้วนเต็มไปด้วยพิรุธเท่านั้น
แต่เรื่องซื้อตึกเก่าในราคาที่แพงลิ่ว ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และมีบุคคลที่เกี่ยวข้องชัดเจนในช่วงซื้อขายทั้งฝ่ายประจำและฝ่ายการเมือง จึงน่าจะไม่ยากหากจะตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ สืบหาข้อเท็จจริงอย่างที่สองสส.เรียกร้อง
พร้อมทั้งขอให้ตั้งกรรมการสอบย้อนหลังถึงการลงทุนที่ผิดปกติของสปส.ด้วย
ในวันเดียวกับที่สองสส.พรรคส้ม ออกมาแฉเรื่องซื้อตึก "จับกัง 1" พิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้ไปตอบกระทู้ถามต่อที่ประชุมวุฒิสภา ถึงสถานะของกองทุนประกันสังคม ที่คาดการณ์กันว่าอาจถึงคราวล่มสลายลงในปี 2597 หากสถานะยังเป็นอยู่เฉกเช่นปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ บอร์ด สปส.และฝ่ายการเมือง เคยทำแผนเสนอการแก้ไขไว้หลายแนวทาง ทั้งขยายการเกษียณอายุ จาก 55 ปี เป็น 60 ปี รวมทั้ง ขยายฐานรายได้จากเดิมที่อั้นไว้ที่ 15,000 บาท ตั้งแต่เริ่มใช้ระบบประกันสังคม โดยให้ปรับเพิ่มแบบขั้นบันได ฯลฯ
ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อยืดอายุกองทุนประกันสังคม ไม่ให้ถึงกาลอวสานในอีกไม่เกินยี่สิบปีข้างหน้า
แต่ดูจากสภาพปัญหาในสปส.เท่าที่มีการแฉออกมาในช่วงหนึ่งปีของบอร์ดใหญ่ประกันสังคม ที่มีสัดส่วนตัวแทนลูกจ้าง นายจ้าง จากการเลือกตั้งเข้าไปบริหาร ทำให้เห็นได้ว่ามี "รูรั่ว" อยู่มากมาย
หากอุดรูรั่วต่าง ๆ เหล่านั้นได้ ไม่ว่าจากการจัดซื้อจัดจ้างที่ในส่วนสำนักงาน สปส.มีงบประมาณปีละ 5 พันล้านบาท หรือบอร์ดแพทย์ ที่บริหารงบปีละ 7 หมื่นล้านบาท ในท่ามกลางข้อครหามากมาย ชนิดที่แตะไปตรงไหนก็มีพิรุธหมด
จตุรงค์ ไพรสิงห์ กรรมการกองทุนประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง ให้สัมภาษณ์สื่อไว้ ยอมรับมีข้อพิรุธอยู่มากมายจริงตามที่ปรากฎเป็นข่าว แม้แต่การนำเงินประกันสังคมไปลงทุน ซึ่งมีระเบียบรองรับอยู่แล้ว แต่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า โบรกเกอร์คือใคร?
อีกตัวอย่างที่เป็นภาพเปรียบเทียบ คือ ตัวเลขผลประกอบการที่เป็นกำไรจากการลงทุนของสปส.ปีก่อนหน้าจะมีบอร์ดจากการเลือกตั้งเข้ามา แสดงรายได้ที่เป็นกำไรอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่หนึ่งปีของบอร์ดใหม่ มีกำไรอยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้น สถานะกองทุนประกันสังคมปัจจุบัน รัฐบาลที่แก้ไขกฎหมาย "ตีตั๋วเด็ก" จ่ายเงินสมทบที่ 2.75% ยังติดค้างส่งเงินเข้ากองทุนอยู่ 6.6 หมื่นล้านบาท และผ่อนจ่ายปีละ 6-7 พันล้านบาท โดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งสปส.เคยเสนอให้รัฐบาลใช้คืนในรูปของพันธบัตร แต่ไม่มีคำตอบ
ส่วนฝ่ายนายจ้าง หักเงินลูกจ้างแล้วเบี้ยว ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนอีก 5.7 พันล้านบาท และมีหลายแห่งที่ล้มละลายไป
ที่ไล่เรียงมา เพื่อให้เห็นว่าเงินกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ 2.6 ล้านล้านบาท กระจายลงทุนอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 1.9 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง 7.55 แสนล้านบาท รวมทั้ง การลงทุนในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนที่กำหนดไว้นั้น
หากสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รั่วไหล และอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลแล้ว น่าจะยืดอายุกองทุนให้อยู่ไปยาว ๆ ได้ ไม่ล้มหายตายจากไปอย่างที่คาดการณ์กันไว้
แต่จะทำอย่างที่ว่าได้ ต้องสลายแดนสนธยาในสปส.ลงให้ได้ก่อน!!