แม้รัฐบาลและฝ่ายค้าน จะเห็นตรงกันเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ แต่ที่ผ่านมาได้มีปัญหารายทางมากมาย ทั้งเรื่องเทคนิคและเนื้อหาในร่างที่ยังไปกันคนละทาง
ล่าสุดเหลือเพียงสองร่างที่ประธานรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณาในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ โดยร่างหนึ่งเป็นของพรรคประชาชน(ปชน.) ส่วนอีกร่างเป็นของพรรคเพื่อไทย(พท.)
ในเมื่อเหลืออยู่แค่สองร่าง ซึ่งต่างก็เสมือนเป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงไม่น่าจะมีปัญหาใดทำให้ติดขัดอีก แม้จะมีหลักการในร่างแตกต่างกันก็ตาม เพราะสุดท้ายเมื่อร่างใดไม่ผ่านการรับหลักการ ก็ตกไปเท่านั้นเอง
แต่กลายเป็นว่า ปัญหาเดิม ๆ ได้วนซ้ำกลับมาตามหลอนอีกรอบ เรื่องต้องทำประชามติกี่ครั้งกันแน่ และต้องทำก่อน-ทำหลัง มีการนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 มากางให้ดูกันอีก
ทว่าหนนี้ประธานฯ วันนอร์ มาแปลกกว่าทุกครั้ง ยืนยันการตัดสินใจบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ ได้ผ่านการหารือและมติที่ประชุมฝ่ายกฎหมายมาแล้ว ทั้งมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ควรบรรจุ" พร้อมแจกแจงข้อสงสัยในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า
"ในคำวินิจฉัยของศาลฯ เขาใช้คำว่าถ้าสภาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ให้ไปถามประชาชนก่อน ดังนั้น คำว่าสภามีความต้องการจะแก้ ก็ต้องตีความสภาหมายถึงอะไร ก็ต้องหมายความว่า ที่ประชุมของรัฐสภาเสียงข้างมาก"
"ผมจึงตีความว่า การที่จะให้รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องถามมติจากรัฐสภา ดังนั้น ต้องมีการประชุม ถ้าวาระแรกในชั้นรับหลักการเสียงข้างมากเห็นชอบ แล้วฝ่ายวุฒิสภาก็ต้องมีผู้เห็นด้วย 1 ใน 3 คือ 67 คนขึ้นไป หากไม่ถึง 1 ใน 3 ถือว่าญัตติตกไปในวาระแรก ก็ไม่ต้องไปถามประชามติจากประชาชนแล้ว
แต่หากวาระแรกผ่าน แสดงว่าต้องการแล้ว ผมก็หยุดกระบวนการของรัฐสภา แล้วนำความต้องการไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทำประชามติต่อประชาชนว่าจะเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ในมาตรา 256 และหมวด15/1 ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็เดินหน้าต่อ แต่หากไม่เห็นด้วย ก็ยุติทั้งหมด จะได้ไม่ต้องเสียเงินทำประชามติหลายรอบ"
ฟังดูแล้ว สิ่งที่ประธานฯ วันนอร์ ชี้แจงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ ถือเป็น "ประเด็นใหม่" โดยเฉพาะคำว่า "ถ้าสภาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ" นั่นคือ ผ่านการลงมติรับหลักการไปแล้ว ถึงจะนำไปให้ กกต.ออกเสียงประชามติถามประชาชนว่า "เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย"
ถ้าเห็นด้วยก็กลับมาเดินหน้าต่อในวาระ 2-3 แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็ยุติแค่นั้น!!
ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ประธานฯ วันนอร์ อรรถาธิบายไว้นั้น จะตรงกับที่ศาลรัฐฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้หรือเปล่า เพราะที่เข้าใจกันมาโดยตลอดคือ หากจะแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเพิ่มเติมหมวด 15/1 ตั้งส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ จะต้องจัดทำประชามติสอบถามประชาชนเสียก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่
ไม่ใช่มาทำประชามติกันกลางทางอย่างที่ประธานฯ วันนอร์ท่านว่าไว้?!
เอาล่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประเด็นขึ้นใหม่หรือไม่ก็ตาม แต่ในส่วนของทีมกฎหมายเพื่อไทย ชูศักดิ์ ศิรินิล กลับส่งสัญญาณไปอีกทางว่า อาจต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง เมื่อการอภิปรายผ่านไประยะหนึ่ง
"ที่ทราบมาจะมีการอภิปรายไปสักพักหนึ่ง อาจจะมีผู้ลุกขึ้นมาโต้แย้งในประเด็นการบรรจุวาระนั้นถูกต้องหรือไม่ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมไปถึงสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีการเสนอ ญัตติและทำคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 และตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 31 เพื่อเข้าชื่อจำนวน 40 คน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง"
โดยเรื่องที่มือกฎหมายเพื่อไทยแว่ว ๆ มานี้ ประธานฯ วันนอร์ ดูจะยังไม่ได้รับสัญญาณ จึงสงสัยว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นใด และมาจากกลุ่มไหน แต่สุดท้ายก็ยอมรับง่ายๆ ว่า "หากเสียงข้างมากเห็นว่าควรส่ง ประธานฯ ก็จะดำเนินการส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ"
ขณะที่ในสายตาของ นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ขลุกอยู่กับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับมาตั้งแต่ต้น มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะนำไปสู่ความร้าวฉานของสองสภาเสียมากกว่า เพราะเห็นไม่ตรงกันทั้งในเรื่องการทำประชามติก่อนหรือหลัง และเนื้อหาในร่าง
ดังนั้น ในมุมของนิกร จึงไม่อยากให้ไปสร้างปัญหาเพิ่มในระหว่างนี้ รอให้กฎหมายประชามติผ่าน 180 วันไปแล้ว จากนั้น ค่อยเสนอร่างแก้ไขฉบับของรัฐบาลในคราวเดียว เพราะถ้าไปสร้างรอยร้าวเพิ่มในตอนนี้ อาจทำให้จูนเข้าหากันไม่ติด
สุดท้ายนิกร เชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พท.-ปชน.ทั้งสองร่างมีสิทธิร่วงตั้งแต่ด่านแรกทั้งคู่ คือ ไม่ผ่านวาระรับหลักการแน่ ๆ เพราะเพื่อไทยคงไม่รับร่าง ปชน.ที่ไปแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ส่วนร่างของเพื่อไทย แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส.ปชน.
แต่ก็จะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว.1 ใน 3 หรือ 67 คนเช่นกัน เพราะไปตัดอำนาจสว.ที่มีอยู่เดิมทิ้ง
ไม่นับรวมมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ไปแก้ไขหลักการเดิมให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งเหมือนกฎหมายทั่วไป ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท มีศักดิ์สูงกว่า ซึ่งในต่างประเทศจะยึดเกณฑ์เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 5 ที่เป็นซุปเปอร์มาจอริตี้
จากที่ว่ามาข้างต้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพท.-ปชน.จึงต้องร่วงไปด้วยกันทั้งคู่ด้วยประการฉะนี้แล