ในขณะที่ผลโพลความเห็นประชาชนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญออกมาก้ำกึ่ง แก้ก็ได้ ไม่แก้ก็ได้ โดยฝ่ายที่ต้องการให้แก้ มีร้อยละ 27.63 ส่วนฝ่ายที่ไม่ต้องการให้แก้ มีร้อยละ 27.02 ห่างกันแค่เส้นยาแดงผ่าแปด
แต่กลายเป็นว่า ฝ่ายที่ต้องการให้แก้เช้าแก้เย็น กลับเป็นนักการเมืองในสภา ซึ่งดูจากการให้สัมภาษณ์ของประธานฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา วันก่อนพบว่ามีร่างแก้ไขที่ยื่นไว้มากถึง 17 ฉบับ โดยจะนัดหารือวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้
เพื่อสรุปร่วมกันว่าจะพิจารณาร่างไหนก่อนหลังอย่างไร
วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล ส่งสัญญาณแนวทางการพิจารณาของพรรคเพื่อไทยเอาไว้ว่า เห็นด้วยกับที่ประธานรัฐสภาให้ความเห็นว่า ต้องเอาแต่ละเรื่องมาดูกันก่อนว่าจะพิจารณาเรื่องใดบ้าง
"เราไม่ขัดข้อง แต่ต้องดูรายะเอียดก่อนว่า เรื่องไหนพอเป็นไปได้ ไม่ใช่ว่าจะแก้แบบสุดโต่ง ก็จะทำไม่ได้ จึงขอดูรายละเอียดก่อน"
การออกมาแบบกึ่งเสียบ กึ่งขวางของประธานวิปรัฐบาล ซึ่งมีนัดหมายชวน ชูศักดิ์ ศิรินิล มือกฎหมายเพื่อไทย ไปหารือนอกรอบกับประธานฯ วันนอร์ ในวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม ก่อนคุยวิปสามฝ่าย จึงน่าจะมีบทสรุปอะไรออกมาบ้าง
เพราะขณะที่แกนนำฝ่ายค้านจากพรรคประชาชน ออกมาเรียกร้องให้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภาภายในเดือนธันวาคม เพื่อให้ทันก่อนสิ้นปีนั้น
วันนี้ "ชูศักดิ์" ซึ่งเคยเป็นเจ้าของความคิดแก้รัฐธรรมนูญแบบคู่ขนานมาก่อน คือ แก้ไขรายมาตราควบคู่ไปกับการทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ได้ปรับวิธีคิดใหม่ ไหน ๆ จะยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปแก้ไขรายมาตราให้ประชาชนสับสนอีก
ไม่ว่าชูศักดิ์จะถูกมองเปลี๋ยนไปอย่างไรก็ตาม
แต่นั่นคือ ท่าทีของพรรคแกนนำรัฐบาล ที่คุมเสียงข้างมากในสภา หากไม่เอาด้วยก็คงยากที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งจะผ่านสภาไปได้ ตัวอย่างจากผลศึกษาแนวทางการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เสนอเองแท้ ๆ ถึงเวลาเพื่อไทยก็คว่ำมาแล้ว
ทีนี้ไปดูสารพัดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคประชาชน เริ่มตั้งแต่ที่ยังเป็นพรรคก้าวไกลและตกทอดมาถึงวันนี้ มีบางร่างต้องขอถอนออกไป เช่น การยกเลิก มาตรา 272 อำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของสว.ที่อยู่ในบทเฉพาะกาล ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้ว
ที่เหลือเป็นเรื่องการยกเลิก มาตรา 279 ที่รับรองประกาศ คำสั่ง และการกระทำต่าง ๆ ของคณะรัฐประหารไว้ ให้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ รวมทั้ง ยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการเพิ่มมาตราว่าด้วยการป้องกันการยึดอำนาจของกองทัพ
แต่ที่เป็นประเด็นร้อนและยังคาอยู่ในสภาคือ ร่างแก้ไขหมวด "จริยธรรม" นักการเมือง ที่ให้ตัดทิ้งข้อความบางวงเล็บในมาตรา 160 เช่น (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ล่าสุดฉบับที่เพิ่งเสนอผ่านช่องทางธุรการไปหมาด ๆ ไม่กี่วันก่อน หลัง พริษฐ์ วัชรสินธุ พร้อมคณะเข้าพบหารือกับประธานฯ วันนอร์ และได้รับคำแนะนำให้ยื่นร่างแก้ไขมาตรา 256 เข้าไปใหม่
ปรากฎว่า ร่างที่เสนอเข้าไปนั้น ได้ขอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 โดยให้ยกเลิกความในมาตรา 256 เดิม และให้ใช้ข้อความที่เขียนขึ้นใหม่แทน ซึ่งไปปรับเปลี่ยนแก้ไขเนื้อหาในวงเล็บ 3 วงเล็บ 6 และวงเล็บ 8
ทั้งนี้ ในวงเล็บ 3 ซึ่งบัญญัติเรื่องการออกเสียงลงคะแนนในวาระแรกขั้นรับหลักการ และวาระที่สามขั้นสุดท้าย ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาตามลำดับนั้น
เดิมในจำนวนเสียงของทั้งสองสภา ให้มีเสียง สว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ได้แก้ไขเป็น "ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร" ในทั้งสองวาระแทน
เข้าใจว่าคงต้องการให้ความสำคัญกับสส.มากกว่าสว.แทน
สุดท้ายในวงเล็บ 8 ได้ตัดทิ้งข้อความเดิมที่การแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง อำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ ที่ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
ได้ปรับเนื้อหาใหม่ให้เหลือเพียงว่า "ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อน"
เท่ากับการแก้ไขหมวดอื่น ๆ สามารถทำได้โดยไม่ต้องทำประชามติ ยกเว้นเฉพาะหมวด 15 เท่านั้น ที่ต้องให้ประชาชนให้ความเห็นชอบด้วย
นอกจากนั้น ร่างที่เสนอโดยพรรคประชาชนฉบับนี้ ไม่มีข้อความใดที่ระบุถึงการให้ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เนื่องจากต้องการอำพรางตัวเอง ให้รอดพ้นจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2564 เรื่องการทำประชามติ และทำให้ประธานรัฐสภา ไม่อนุญาตบรรจุเข้าระเบียบวาระพิจารณาตั้งแต่แรก
แต่จะใช้วิธี "ลักไก่" ขอแปรญัตติเพิ่มเติมหมวด 15/1 ในชั้นกรรมาธิการแทน เพราะได้เขียนหลักการกว้าง ๆ เปิดทางรอไว้แล้ว
ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่วิธีตื้น ๆ แบบนี้แม้จะตบตาประธานรัฐสภา ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ ทว่าคงไม่ง่ายที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับหมกเม็ดของพรรคสีส้ม จะฝ่ากำแพงสว.สีน้ำเงินออกมาได้
ดีไม่ดีทั้ง 17 ร่างที่ยื่นไว้เดิม ก็จะถูกฝังไปด้วยกันนั่นแหล่ะ!!