ในขณะที่พรรคเพื่อไทย กำลังตกเป็นจำเลยเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ยังไปไม่ถึงไหนและทำท่าจะเข็นต่อลำบาก เพราะติดหล่มกฎหมายประชามติ
แต่ก่อนเปิดประชุมสภาเพียงไม่กี่วัน พรรคเพื่อไทย ได้จุดพลุเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับของพรรคขึ้นโดย ชูศักดิ์ ศิรินิล บอกกับนักข่าวจะเสนอร่างในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นวันเปิดสมัยประชุม เพื่อประกบกับอีก 4 ร่างของพรรคอื่นที่ยื่นไว้
มองเผิน ๆ เหมือนเป็นการไถ่บาปหรือแก้ตัวที่ไม่สามารถผลักดันเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จได้ เมื่อทำอย่างหนึ่งไม่ได้ก็เอาอีกอย่างไปแทน ประมาณนั้น
แต่อย่าลืมว่าเรื่องนิรโทษกรรม ก็เป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงด้านการเมืองของพรรคเพื่อไทยด้วย และตั้งลำมาทรงเดียวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่รกพันคอไปก่อนนั่นแหล่ะ
โดยหลังเข้ามาเป็นรัฐบาล เพื่อไทยนั่งไม่รู้ร้อนรู้หนาวอยู่นาน ปล่อยให้พรรคอื่นยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมกันจนเสร็จและเสนอเข้าสภาไป ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 4 ร่าง ได้แก่
1.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เสนอโดยพรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชนปัจจุบัน
2.ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ
3.ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นร่างเดิมของ นพ.ระวี มาศฉมาดล
4.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ของภาคประชาชนที่รวมตัวกันเสนอ
โดยทั้ง 4 ร่าง มีรายละเอียดถี่ห่างต่างกันตรงเนื้อหาสาระ ที่บางฉบับครอบคลุมการกระทำความผิดทั้งหมด หรือที่เรียกกว่านิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง แต่บางร่างยกเว้นความผิดต่อสถาบัน มาตรา 110 และมาตรา 112 แต่ทั้งหมดไม่รวมความผิดคดีอาญาและการทุจริต
กระทั่งเวลาต่อมา สภาจะพิจารณาร่างต่าง ๆ เหล่านี้อยู่แล้ว พรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่มีทั้งร่างของตัวเองและร่างของครม.ถึงได้เริ่มออกแขก ขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเสียก่อน เพื่อให้เกิดความรอบคอบ
สูตรเดียวกับที่ให้ศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แท้งไปนั่นแหล่ะ
แต่พรรคต่าง ๆ ก็ยอมให้ เพราะต้องการเห็นนิรโทษกรรมเกิดขึ้นแบบม้วนเดียวจบ อีกทั้ง เพื่อไทยเองก็รับปากจะใช้เวลาศึกษาไม่นาน แม้ต่อมาครบกำหนด 60 วัน ยังขอขยายเวลาต่ออีก 60 วัน ก็ไม่มีใครติดใจ เพราะเดินมาจะสุดทางอยู่แล้ว
จนศึกษากันเสร็จสรรพ รอนำเข้ารายงานต่อสภานั่นแหล่ะ พรรคเพื่อไทยถึงแสดงอาการแบบขัดลำกล้องขึ้นมาดื้อ ๆ โยกโย้โอ้เอ้อยู่หลายวัน กว่าจะนำรายงานผลศึกษาที่ว่าเข้าสภาได้ต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีก
สุดท้ายเมื่อหนีไม่ออกต้องนำรายงานเข้าสภา แต่ก็ยังมาหักมุมในตอนท้าย ลงมติไม่ยอมรับผลศึกษาที่ตัวเองเป็นคนเสนอ ประเภทชงเองแล้วก็เททิ้งเสียเอง
จนคนเพื่อไทยส่วนหนึ่ง สับสนในตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้น และงุนงงไม่หายกับท่าทีแบบเก้ ๆ กัง ๆ ของพรรค จึงเป็นที่มาของมติที่ประชุมสส.พรรคเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ให้พรรคเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกบกับอีก 4 ร่างที่อยู่ในสภา ซึ่งมอบให้ฝ่ายกฎหมายไปดำเนินการยกร่างเสนอสภาในสมัยประชุมต่อไป
เพื่อแสดงบทบาทแกนนำรัฐบาลและที่สำคัญจะได้ไม่ตกขบวนปรองดองสมานฉันท์
วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานสส.เพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ไว้หลังการประชุมในวันนั้นว่า ที่ประชุมสส.เห็นตรงกันให้มีมติพรรคเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในนามพรรคเพื่อไทยในสมัยประชุมหน้า ไปประกบกับอีก 4 ร่างที่ค้างอยู่ในสภาขณะนี้ โดยให้นายชูศักดิ์(ศิรินิล)ไปยกร่าง ไม่รวมความผิดมาตรา 112
“ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยไม่เคยพูดจะนิรโทษกรรมมาตรา 112 แค่บอกจะหาแนวทางนิรโทษกรรมคดีการเมือง ดังนั้น การไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 จึงไม่ถือว่าพรรคเพื่อไทยผิดคำพูด”
นายวิสุทธิ์ ย้ำว่าเนื้อหาส่วนใหญ่จะยึดตามรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมไว้ แต่จะไม่มีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 110 และ 112 เพราะกระแสขณะนี้ไม่มีพรรคใดเอาด้วย ถ้าเสนอไปก็ตกอยู่ดี
ฟังมาว่า สูตรแยกปลาแยกน้ำ ส่งให้คนส่วนใหญ่ขึ้นฝั่งไปก่อน ส่วนที่เหลือค่อยมาตามเก็บตก หาช่องทางอื่นช่วยเหลือกันต่อไป ซึ่งมีหลากหลายวิธีอยู่ในผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการชุดนี้อยู่แล้ว จะถูกปัดฝุ่นขึ้นมาใช้
รอดูว่าเพื่อไทยจะเป็นเจ้าภาพเข็นกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับไถ่บาปได้สำเร็จหรือจะเกิดอาการครรภ์เป็นพิษซ้ำรอยรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอีก?!