ไทยเตรียมส่ง รองนายกฯและรมว.คลัง พิชัย ชุณหวชิร บินไปเจรจากับสหรัฐฯ สัปดาห์นี้ หวังให้สหรัฐลดกำแพงภาษี ที่ไทยโดนอ่วมสูงขึ้นอีกถึง 37% แบะท่ายอมเปิดตลาดสินค้าเกษตร พร้อมกับอ้างเตรียมซื้อฝูงบินของการบินไทยจากโบอิ้ง 80 ลำ มูลค่ากว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ในวันอังคารที่ 8 เมษายน หลังประชุมคณะรัฐมนตรี นายกฯ**‘อิ๊งค์’** แพทองธาร ชินวัตร ได้เรียกประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรการการค้าสหรัฐอเมริกา ในเวลา 13.00 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
โดยคาดว่าจะมีการสรุปการเตรียมงานและข้อเสนอสำหรับทีมเจรจา ที่จะมี รองนายกฯ และรมว.คลัง ‘พิชัย ชุณหวชิร’ ในการเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อหารือกับหลายภาคส่วนในสหรัฐฯ ทั้งภาครัฐ เอกชนและผู้ที่มีส่วนได้เสีย จากการตั้งกำแพงภาษีสินค้าของไทยที่ส่งไปขายในสหรัฐอเมริกาในอัตราสูงถึง 37% ซึ่งจะมีผลในวันที่ 9เมษายน หลังจากที่มีการขึ้นภาษีขั้นต่ำ 10% กับสินค้าจากทุกชาติทั่วโลกไปแล้วเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา
คาดว่ากรอบข้อเสนอของไทย ที่ได้ข้อสรุปจากคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี จะมีข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ ซึ่งในแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ระบุว่าจะมีการยื่นข้อเสนอในการการ**‘เพิ่มการนำเข้า’** สินค้าจากสหรัฐฯ ในด้านพลังงาน อากาศยาน และสินค้าเกษตร และยังมีแผนที่จะเจรจาเรื่องการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม
รวมทั้งยอมลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรค พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการปราบปรามการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ
ข้อเสนอสำคัญที่ฝ่ายไทยเชื่อว่าน่าจะทำให้สหรัฐฯ พอใจกับท่าทีของไทยส่วนหนึ่ง คือ การหยิบยกให้สหรัฐฯ เห็นถึง ‘ความตั้งใจ’ ของไทยที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทย ที่กำลังมีแผนสั่งซื้อฝูงบินใหม่
โดยเพิ่งมีการลงนามในข้อตกลงกับ บริษัท ‘โบอิ้ง’ และบริษัท ‘จีอี แอโรสเปซ’ ของสหรัฐฯ ในการจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner ลำใหม่ จำนวน 45 ลำ พร้อมเครื่องยนต์ GEnx รวมทั้งสิทธิ์ในการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมสูงสุดรวมเป็น80 ลำ ในงานสิงคโปร์แอร์โชว์ 2024 ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
คาดว่าภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า **‘1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ’**หากประเมินจากราคาของเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 787-8 ดรีมไลเนอร์ผลิตใหม่ ซึ่งราคาต่ำสุดของรุ่น 787-8 ดรีมไลเนอร์ที่ 239 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการสั่งซื้อ 45 ลำ ก็อาจจะอยู่ที่ประมาณ 10,755 ล้านเหรียญ สหรัฐหรือกว่า 3.85 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ เครื่องบินโบอิ้ง 787 ดังกล่าวยังจะใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตที่โดย จีอี แอโรสเปซ บริษัทสัญชาติอเมริกันซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าตลาดเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานตระกูล 787 โดยมีเครื่องยนต์ของบริษัทโรลส์รอยซ์จากประเทศอังกฤษเป็นคู่แข่ง
ตามแผนการจัดซื้อของการบินไทย เครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner จะเข้าประจำการในฝูงบินภายใต้กรอบระยะเวลา 10 ปี โดยจะเริ่มทยอยส่งมอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2570 เป็นต้นไป ซึ่งในการพิจารณาจัดซื้อเป็นไปตามกระบวนการภายในของการบินไทยก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันกับการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ
นอกจากนี้คาดว่า ทีมเจรจาของฝ่ายไทยยังจะเสนอที่จะ**‘ลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร’** หลายรายการ เช่นข้าวโพด ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวสาลี แซลมอนแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์นม เครื่องในสุกร รวมทั้งเสนอเข้าไปลงทุนในการผลิตอาหารแปรรูป เช่นอาหารทะเลบรรจุกระป๋องในสหรัฐฯ
ตามแถลงการณ์ฯ ฉบับล่าสุดของ นายกฯ ‘อิ๊งค์’ ระบุว่า สิ่งที่เราจะสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐฯ ก็คือ ประเทศไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น แต่เราคือ**‘พันธมิตร’** และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯเชื่อถือได้ในระยะยาว
โดยแสดงความั่นใจว่าข้อเสนอข้างดังกล่าวจะทำให้การเจรจากับสหรัฐฯ บรรลุผลเพื่อให้ประเทศไทยและสหรัฐฯ ยังคงเป็นพันธมิตรและคู่ค้าที่เป็นมิตรต่อกัน นอกจากนี้รัฐบาลยังมีอีกหลายมาตรการที่พร้อมจะรับฟังและพูดคุยเพิ่มเติมกับสหรัฐฯ และขอให้ความมั่นใจว่าข้อเสนอที่รัฐบาลเตรียมไว้ ล้วนคำนึงถึงประชาชนและผลประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจของเราและคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ รัฐบาลจะเร่งพิจารณาออก ‘มาตรการเยียวยาเร่งด่วน’ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้ง SME และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ โดยการเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ อีกทั้งยังจะเป็นการกระจายความเสี่ยงของภาคธุรกิจไทย ที่เรามุ่งมั่นที่จะเจรจาการค้า ในการเปิดตลาดใหม่ๆ ในตะวันออกกลาง ยุโรป และ อินเดีย โดยจะเร่งเจรจาการค้า FTA ให้เร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้มีการเปิดเผยว่า ทีมงานคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ ประกอบด้วย
- นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
- นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
- นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์
- นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
- นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
- น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
- น.ส.ใจไทย อุปการนิติเกษตร รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
- นางขวัญนภา ผิวนิล นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ
- นายโอม บัวเขียว คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ยังมีความสับสนพอสมควรว่า คณะทำงานด้านนโยบายการค้าสหรัฐฯ ชุดดังกล่าว จะทำงานประสานอย่างไรกับทีมงานของ รองนายกฯ และรมว.คลังที่จะเป็นผู้นำทีมบินไปเจรจากับสหรัฐฯ
รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ ได้ออกมา ‘รีโพสต์’ ตอบกลับข้อสงสัยของ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ศิริกัญญา ตันสกุล โดยระบุว่า ประธานที่ปรึกษาฯพันศักดิ์ จะเป็นคนดูภาพใหญ่ แต่ รองนายกฯพิชัยจะเป็นผู้ไปเจรจากับสหรัฐฯ