‘A Politician thinks of the next election ; a statesman thinks of the next generation.
A Politician looks for the success of his party ; a statesman for thinks of his country.’
James Freeman Clarke
200 ปีมาแล้ว ที่ ‘เจมส์ ฟรีแมน คลาร์ก’ นักเขียนและนักต่อสู้คนสำคัญของสหรัฐฯในยุคสร้างชาติเคยกล่าว ‘อมตะวาจา’ ไว้ว่า
‘นักการเมืองคิดแต่เรื่องเลือกตั้งครั้งหน้า แต่รัฐบุรุษจะคิดถึงอนาคตของคนรุ่นต่อไป
นักการเมืองคิดแต่ความสำเร็จของพรรค แต่รัฐบุรุษคิดถึงความสำเร็จของชาติ’
แนวคิดของรัฐบาล นายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร ภายใต้การครอบงำอย่างเต็มรูปแบบของผู้พ่อ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่พยายามจะผลักดันให้เกิดสถานบันเทิงครบวงจร Entertainment Complex ที่มีกาสิโนแบบถูกกฎหมายแอบแฝงมา ภายใต้ชื่อ ‘ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ....’ คือ ภาพสะท้อนให้เห็นถึงควาแตกต่างระหว่าง ‘รัฐบุรุษ’ กับ ‘นักการเมือง’ ได้ชัดเจนที่สุด
ระหว่าง ‘ลี กวน ยู’ รัฐบุรุษของสิงคโปร์ กับ อดีตนายกฯทักษิณ ที่มีต่อแนวคิดของการเปิดกาสิโนแบบถูกกฎหมายขึ้นในประเทศ ซึ่งเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ทั้งคู่ต่างถูกหว่านล้อมและ ‘ล็อบบี้’ จากทุนกาสิโนข้ามชาติรายใหญ่ๆของโลกที่เล็งพื้นที่ในอาเซียนว่าจะเป็น ‘ขุมทอง’ แหล่งทำเงินจากนักพนันในย่านนี้
จึงพยายามขายฝันให้มีการเปิดประเทศเพื่อลงทุนสร้าง สถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนถูกกฎหมาย โดยอ้างว่าจะช่วยสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศจากการท่องเที่ยว
หากมองย้อนกลับไปในห้วงเวลาของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในตอนนั้น ผ่านสายตาของ อดีตรองนายกฯ ‘ปลอดประสพ สุรัสวดี’ ที่ตอนนั้นมีตำแหน่งเพียง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ซึ่งได้รับมอบหมายให้พานายทุนกาสิโนข้ามชาติที่เป็นเจ้าของสถานบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดของโลก 2 บริษัท ไปดูเกาะช้าง จ. ตราด และเกาะล้าน พัทยา ไปดูทำเลเพื่อลงทุนทำ Entertainment Complex ซึ่งได้รับความสนใจมาก แต่ต่อมากลับเปลี่ยนใจไปสร้างที่สิงคโปร์แทน
ตามโครงการที่จะมีการ Man-made Tourism หรือ แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างจะมีพื้นที่กาสิโนเพียงไม่เกิน 10% นอกนั้นจะเป็นโรงแรม หอประชุมแบบ Concert Hall สวนน้ำ (Water World) สวนสัตว์ ลานสเก็ตบอร์ด และสเก็ตน้ำแข็ง เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่
แนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่อดีตนายกฯทักษิณคิดมานานกว่า 20 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคิดวันนี้
รัฐบาลที่ต่อเนื่องกันมาอีก 4 ชุด ก็ยังไม่ได้**‘ล้มเลิก’** แนวคิดและพยายามผลักดันมาจนถึงวันนี้ โดยยืนยันว่ากาสิโนแบบถูกกฎหมายไม่ได้เป็น ‘ดาวร้าย บ่อนนรก’ อย่างที่ถูกต้าน พร้อมกับยกความสำเร็จของ Las Vegas และ Reno ที่สหรัฐฯ มาเก๊า ที่จีน Genting Highlands ที่มาเลเซีย หรือ Monaco พร้อมกับตั้งคำถามว่า
‘ทำไมเราจะเป็นและจะทำอย่างเขาไม่ได้’
ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงกรอบความคิดของอดีตนายกฯทักษิณ และบรรดานักการเมืองของไทยที่พยายามมาหลายสิบปีแล้วที่จะสร้างบ่อนถูกกฎหมายให้ได้ โดยใช้ข้ออ้างเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวหวังเพิ่ม GDP แบบปลอม ๆ
พร้อมกับวิธีคิดแบบ ‘ตรรกะวิบัติ’ เอาเรื่องใต้ดินขึ้นบนดิน โดยอ้างว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องแหล่งพนันผิดกฎหมาย เพื่อหาเงินมาพัฒนาชาติ พร้อมกับยกสิงคโปร์ขึ้นมาเปรียบเทียบ โดยไม่ได้ศึกษาถึงเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงของสิงคโปร์ที่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อหา ‘จุดขาย’ ด้านการท่องเที่ยว แต่ก็ต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมมานานหลายทศวรรษ
‘ลี เซียน ลุง’ อดีตนายกฯรัฐมนตรี ผู้ลูกของรัฐบุรุษของสิงคโปร์ ‘ลี กวน ยู’ เคยแถลงถึงเหตุผลและความจำเป็นที่สิงคโปร์ ต้องเปิดให้มีการลงทุนสร้าง ‘รีสอร์ตแบบบูรณาการ’ Integrated Resorts- IRs ทั้ง ๆ ที่ อดีตนายกฯลี กวนยู ไม่สนับสนุนแนวคิดของการมีกาสิโนแบบถูกกฎหมายขึ้นในประเทศ เพราะวิตกถึงผลกระทบทางลบที่จะตามมากับสังคมสิงคโปร์
ที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์ ในยุคของบิดาแห่งชาติสิงคโปร์ ลี กวน ยู มีนโยบายมาหลายสิบปีแล้วที่จะไม่อนุญาตให้มีกาสิโน และมีการ ‘ปฎิเสธ’ ข้อเสนอจากทุนกาสิโนข้ามชาติมาโดยตลอดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งตรงกันข้ามกับนักการเมืองของไทยบางคน ที่อาจมี ‘วาระแอบแฝง’ หรือ Hidden-agenda หรือผลประโยชน์ทับซ้อนกับกลุ่มกาสิโนข้ามชาติที่จะเข้ามาลงทุน
แม้แต่ในช่วงปี 2528 ที่สิงคโปร์เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็มีความพยายามหยิบยกเรื่องการเปิดกาสิโนบนเกาะเซนโตซาขึ้นมาอีกครั้งแต่ รองนายกฯ ‘โก๊ะ จ๊ก ตง’ ในตอนนั้นก็ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว
ข้อเสนอนี้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในปี 2545 แต่รัฐบาลก็ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถป้องกันผลกระทบทางสังคมได้ และเกรงว่าจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อ **‘ค่านิยม’**และทัศนคติในสังคมของคนสิงคโปร์ ที่อาจพังทลายลง
ถึงแม้จะปฎิเสธ แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็เริ่มศึกษาอย่างละเอียดถึงแนวคิดเรื่องบ่อนกาสิโนจากที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยของ อดีตนายกฯลีกวนยู ต่อเนื่องมาจนสมัยของ โก๊ะ จ๊ก ตง เป็นนายกรัฐมนตรี และต้องรอจนสิงค์โปร์ประสบความสำเร็จในการสร้าง ‘รากฐานของประเทศ’ และสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคม
เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปในช่วงปี 2548 ทำให้ต้องมีการตัดสินใจครั้งสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ‘จุดยืน’ เนื่องจากพบว่า สิงคโปร์กำลัง**‘สูญเสีย’**ความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว เพราะเป็นเพียงเกาะเล็กๆที่ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ และมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณีที่จะเป็นจุดขาย เนื่องจากเป็นประเทศที่ยังไม่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานเหมือนประเทศอื่น ทำให้ขาด ‘เสน่ห์’ และ ‘จุดขาย’ นอกจากแหล่งช็อบปิ้งที่กำลังมีคู่แข่งอย่างไทย และมาเลเซีย ที่พยามสร้างให้เป็น ‘สวรรค์ของนักช็อปปิ้ง’ เช่นกัน ไม่ต่างกับแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอื่นๆทั่วโลก
ลี กวน ยู เริ่มตระหนักว่า ลำพังการเป็น first world city ไม่พอแล้วในศตรรษใหม่ สิงคโปร์ขาดแรงดึงดูดพอสำหรับนักท่องเที่ยว ไม่มีอะไรน่าดึงดูดใจ นอกจากเมืองสะอาด ผู้คนมีระเบียบวินัย จนมีคำกล่าวจากคนจีนจากฮ่องกงและไต้หวันว่า สิงคโปร์ เหมือน ‘น้ำใสเกินไปจนไม่มีปลา’
การประกาศนโยบายที่จะสร้าง รีสอร์ตแบบบูรณาการ ที่มีกาสิโนแบบถูกกฎหมายรวมอยู่ด้วย ทำให้เขาเสีย ‘เครดิต’ ไปพอสมควร เพราะถูกต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ก็มีการประกาศให้คำมั่นว่าจะมีมาตรการที่เข้มงวด ไม่ปล่อยให้พลเมืองติดพนันอย่างเด็ดขาด (gambling inducement) และจะสร้างระบบมาคุม
สิงคโปร์ใช้ ‘เก็นติ้ง’ ของมาเลเซียเป็นต้นแบบของ แหล่งท่องเที่ยวแบบบูรณาการ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าเป้าหมาย โดยเริ่มก้าวแรกจากกระบวนการเปิดให้ผู้ประมูลที่สนใจนำเสนอแนวคิดและรูปแบบของ รีสอร์ตแบบบูรณาการ ที่จะให้เห็นภาพชัดเจนว่ามีอะไรที่เป็นไปได้
ไม่ใช่สนใจเพียงการเปิดกาสิโน โดยจะต้องมีองค์ประกอบที่ตอบโจทย์ในเรื่องของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและนักธุรกิจ รวมทั้งครอบครัว โดยมีพื้นที่กาสิโนไม่เกิน 3% ของพื้นที่ทั้งหมด
สิงคโปร์กำหนดพื้นที่การลงทุนไว้เพียงสองแห่ง คือ ‘มารีน่า เบย์ ฟร้อนท์’ โดยวางเป้าหมายให้ Marina Bay Front เน้นในเรื่องของธุรกิจส่งเสริมการประชุมนานาชาติและนิทรรศการ ที่มี โรงแรม ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ แหล่งช็อปปิ้ง ร้านอาหาร และความบันเทิง เพื่อยกระดับความเป็น ‘สมาร์ตซิตี้’ เสริมบทบาทในฐานะศูนย์กลางธุรกิจและการเงิน โดยมี กาสิโน เป็นเพียงส่วนเสริมเพื่อสร้าง **‘เสน่ห์’**และช่วยสร้างผลตอบแทนให้กับกลุ่มผู้ลงทุนที่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนหลายแสนล้านบาท
ขณะที่ ‘เซนโตซา’ Sentosa ถูกพัฒนาให้เป็นรูปแบบรีสอร์ตที่เป็นมิตรสำหรับครอบครัว ที่มีทั้งโรงแรม สวนสนุก ร้านอาหาร และแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้เกิดกิจกรรม โดยมีพื้นที่กาสิโนไม่เกิน 5% ของพื้นที่ทั้งหมด
มีกลุ่มทุนกาสิโนข้ามชาติ และกลุ่มทุนในประเทศถึง 19 รายที่เสนอแผนให้รัฐบาลสิงคโปร์พิจารณา จนในที่สุดมีการตัดสินให้ กลุ่ม Marina Bay Sands จากเวกัส ให้พัฒนาพื้นที่ มารีนาเบย์ และ กลุ่ม Genting จากมาเลเซีย และ Universal Studio เข้ามาพัฒนาพื้นที่ของเกาะเซนโตซา
แต่สิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์วิตกมากที่สุด ไม่ใช่ความเรื่องความสำเร็จของการลงทุนในโครงการทั้งสองแห่ง แต่คือเรื่อง**‘ผลกระทบทางสังคม’** ที่จะตามมา ที่อาจส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์และค่านิยมของคนสิงคโปร์ในเชิงลบ
เพราะเหตุนี้ จึงต้องมีการกำหนด ‘กฎเหล็ก’ ที่เข้มข้นมากพอที่จะมั่นใจว่า สังคมของสิงคโปร์จะมี ‘ภูมิต้านทาน’ มากพอที่จะรับแรงกระแทกทางสังคมที่จะตามมาจากแนวโน้มธุรกิจการพนันที่จะขยายตัวมากขึ้น
มีการกำหนดค่าเข้าเล่นกาสิโนสูงถึงวันละ 100 เหรียญสิงคโปร์ หรือปีละ 2 พันเหรียญ ห้ามไม่ให้ผู้ที่มีฐานะการเงินเปราะบาง และให้สมาชิกในครอบครัวสามารถขอให้ ‘ห้าม’ คนในคอรบครัวเข้า มีการยกเว้นการปล่อย ‘เครดิต’ สำหรับนักพนันชาวสิงคโปร์
นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการนำเม็ดเงินจากผลกำไรไปช่วยในโครงการเชิงสังคม และมีโครงการเพื่อบำบัดนักพนันที่เสพติดการพนันจนเกิดปัญหาครอบครัวและสังคม รวมทั้งการให้การศึกษาเพื่อสร้าง ‘ภูมิคุ้มกัน’ กับเยาวชนคนหนุ่มสาว
ที่สำคัญ ทุนกาสิโนข้ามชาติที่เข้ามาลงทุน จะต้องสร้างหลักประกันให้มั่นใจได้ว่า ภาพลักษณ์ของสิงคโปร์ในฐานะประเทศที่เคารพกฎหมาย โปร่งใส มีธรรมาภิบาล ไม่มีปัญหาทุจริต คอรัปชั่น จะไม่ถูกทำลายลงไป และ ปัญหาอาชญากรรม การฟอกเงิน จะไม่เกิดตามมาจนทำลายค่านิยมที่ดีงามของคนสิงคโปร์
รัฐบาลสิงคโปร์ ยอมรับว่าเพื่อรักษาค่านิยมที่ดีงามของคนสิงคโปร์เอาไว้ อาจจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสร้างภูมิต้านทาน และเกราะป้องกันทางสังคม แต่คงไม่สามารถ ‘ปิดกั้น’ ตัวเอง เหมือนที่ อดีตประธานาธิบดี ‘เติ้ง เสี่ยว ผิง’ เคยกล่าวไว้ว่า
‘เราจำเป็นต้องเปิดหน้าต่างเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ ขณะเดียวกันก็ต้องต่อสู้กับแมลงวันและแมลงที่รบกวนด้วย’
รัฐบาลสิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มที่**‘คัดค้าน’และ‘ต้าน’**แนวคิดการเปิดกาสิโนถูกกฎหมาย มากกว่าที่จะผลักให้กลายเป็นฝั่งตรงข้าม โดยเปิดกว้างรับฟังความเห็นและพยายามอธิบายเหตุผลความจำเป็น รวมทั้งมาตรการป้องกันต่างๆที่จะนำมาใช้บังคับ พร้อมทั้งเปิดให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางกรอบกติกา เพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดผลกระทบในทางลบให้น้อยที่สุด
หากดูเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของสิงคโปร์จะพบว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ ต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมและสร้างภูมิต้านทางให้สังคม ซึ่งสิงคโปร์อาจจะมี **‘จุดแข็ง’**ที่สังคมให้ความสำคัญกับ ค่านิยมของการทำงานหนัก พากเพียร และเคารพกฎหมาย ที่เป็นเกราะคุ้มกัน และมีพลังต้านทานอิทธิพลด้านลบอย่างแข็งแกร่ง จนทำให้สังคมไม่มีปัญหาเหมือนหลายๆประเทศใกล้บ้านเรา
คำถามสำคัญที่เราต้องตอบให้ได้ เมื่อนักการเมืองไทย ยกตัวอย่างสิงคโปร์มาเป็นต้นแบบ ทั้งๆที่สภาพบริบททางสังคมไทยและสิงคโปร์แตกต่างกันราว ‘ฟ้ากับเหว’ ทั้งจิตสำนึกของนักการเมือง และค่านิยมของคนในสังคม เพราะแทบไม่ต้องสังสัยเลยว่า
การยกบ่อนใต้ดินขึ้นมาบนดินจะทำให้บ่อนใต้ดินหายไป และจะ ‘กัดเซาะ บ่อนทำลาย’ หลักนิติรัฐและคุณธรรมของประเทศให้เลวร้ายลงไปอีกมากมายขนาดไหน
อนาคตของเด็กไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อเราปลูกฝังทัศนคติว่า ‘ไม่ต้องทำงานก็รวยได้ด้วยการพนัน’ และเรายังทำให้คนในชาติให้เห็นว่า เงินคือคำตอบเดียวในจักรวาล หรือ ‘เงินคือพระเจ้า’
วิธีคิด และทัศนคติแบบผิดๆ ที่ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ ‘the End justified the means’ นำเรื่องกาสิโน ไปเปรียบกับสิงคโปร์ แต่ไม่ไปเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้านติดชายแดนเมียนมาร์ และกัมพูชา ยิ่งสะท้อนถึงความวิบัติในตรรกะของนักการเมืองไทยอย่างยิ่ง
จนถึงวันนี้ หากสังเกตจะพบว่า อดีตนายกฯ ลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ ไม่เคยประกาศสำเร็จหรือแสดงความภาคภูมิใจกับผลงานนี้ของรัฐบาลเขาเลย และบางทีหากสิงคโปร์ย้อนเวลากลับไปได้ หรือมีทางเลือกอื่น เขาอาจไม่ทำเรื่องกาสิโน ก็เป็นได้
หันกลับมามอง ผู้นำไทย โดยเฉพาะ นายกฯอิ๊งค์แพทองธาร ทั้งในฐานะเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีลูกเล็กๆสองคน ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากผู้นำสิงคโปร์ เธอจะมีความกล้าหาญทางการเมืองมากพอที่จะ ‘ขัดใจ’ พ่อ ‘หยุดม้าไว้ริมหน้าผา’ เลิก ‘เร่งร้อน เร่งรีบ และรวบรัด’ ในการดันการเปิดกาสิโนแบบถูกกฎหมาย ทั้งๆที่ประเทศไทยยังขาดความพร้อมในเรื่องของคน และด้านการบังคับใช้กฏหมาย แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้หรือไม่
รัฐบาลอาจจะสามารถเปลี่ยนภาพของอบายมุขจาก ‘ดำเป็นขาว’ ในนามผลประโชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ อย่างที่ นักคิดนักเขียน ‘ อัลแบร์ กามูส์’ กล่าวไว้ว่า
‘คนเราสามารถหาปรัชญามารองรับความเลวร้ายที่จะทำเสมอ’
แต่ต้องไม่ลืมว่า ในที่สุดผลของการกระทำในวันนั้นจะยังคงเป็น ‘ตราบาป’ ของรัฐบาลชุดนี้และนายกฯอิ๊งค์ แพทองธาร ตลอดไป...