ในวันที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำลังตกเป็นจำเลยสังคมไปพร้อมกับการเป็นผู้เสียหายในคราวเดียวกัน หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง และอาคาร สตง.ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เป็นอาคารเดียวที่ถล่มลงมา
ตลอดเวลาหนึ่งเดือนเศษที่ผ่านมา นอกจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาสอบสวนหาสาเหตุการถล่มของอาคารสูงขนาด 30 ชั้น และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่รับไปสอบเป็นคดีพิเศษแล้ว
องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการทั้งในสภาผู้ทนราษฎรและวุฒิสภา ทั้งกรรมาธิการสามัญ-วิสามัญ ต่างช่วยกันถอดบทเรียน ร่วมกันค้นหาความจริงด้วยอีกทาง
สารพัดข้อมูลเกี่ยวกับ สตง.ที่ถูกนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ จากการตรวจสอบและสืบเสาะหากันเอาเองผ่านช่องทางต่าง ๆ หลังเหตุการณ์ตึกถล่ม ทำให้สังคมได้เรียนรู้และรู้จักสตง.เพิ่มมากขึ้น
จนนำไปสู่การตั้งปุจฉาถามกันว่า สตง.เป็นองค์กรตรวจสอบ แล้วใครจะตรวจสอบ สตง.?!
นอกจากธรรมชาติที่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ สตง.แล้ว สังคมเองก็ได้ร่วมกันทำหน้าที่ตรวจสอบ สตง.ไปด้วยในคราวเดียวกัน ล่าสุดจากข้อมูลที่คณะกรรมาธิการอีกชุดหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะนี้ชื่อยาวเกือบสองบรรทัด มีชื่อเต็ม ๆ ว่า
"คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัย การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างอย่างเป็นระบบ" มี ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ดูแค่ชื่อก็รู้ว่ามีภารกิจครอบจักรวาลขนาดไหน
การประชุมของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ในวันพุธที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีประเด็นใหม่สุดทึ่งอีกอันหนึ่งของ สตง.คือ การเช่าที่ดินการรถไฟฯ ผืนที่ใช้สร้างอาคารสตง.แห่งใหม่ที่เพิ่งถล่มไป ในราคาที่แพงลิ่ว เป็นเงินจำนวน 764,192,996 บาท (เจ็ดร้อยหกสิบสี่ล้านหนึ่งแสนเก้าหมื่นสองพันเก้าร้อยเก้าสิบหกบาท) สัญญาเช่า 15 ปี
โดยเริ่มจ่ายค่าเช่าปีแรกในปี 2562 เป็นเงินจำนวน 255,559,522 บาท (สองร้อยห้าสิบห้าล้านห้าแสนห้าหมื่นเก้าพันห้าร้อยยี่สิบสองบาท) และวงเงินที่ได้รับการจัดสรรตั้งแต่ปี 2561-2576 โดยเพิ่มขึ้นปีละ 5 เปอร์เซ็นต์
เฉลี่ยค่าเช่าที่ดินปีละ 50.9 ล้านบาท ทอนเป็นรายเดือนตกเดือนละ 4.2 ล้านบาท
"ปลอดประสพ" ซึ่งมีอารมณ์ขุ่นๆ เล็กน้อยจากการที่ผู้ว่าสตง. ไม่ได้มาชี้แแจงเอง แต่มอบให้รองผู้ว่า สตง.มาชี้แจงแทน ในระหว่างการแถลงผลการประชุม เมื่อพูดถึงตัวเลขค่าเช่าข้างต้นถึงกับใช้คำว่า "เป็นเศรษฐีนักหรือ"
ก่อนหน้านั้น ในที่ประชุม สุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่า สตง.ได้ชี้แจงที่มาของที่ดินว่า เดิมจะจัดสร้างอาคารสตง.แห่งใหม่ ในย่าน จ.ปทุมธานี พื้นที่กว่า 20 ไร่ แต่ภายหลังพบว่าบริเวณดังกล่าวมีแนวโน้มเกิดน้ำท่วมสูง 2 เมตร จึงพิจารณาย้ายมาใช้พื้นที่กรมทหารราบที่ 11 แต่พื้นที่ไม่รองรับการก่อสร้างตามแบบอาคารที่ได้ออกแบบไว้ จึงเปลี่ยนมาใช้สถานที่ปัจจุบัน ที่สอดคล้องกับแบบอาคาร สตง.
แต่ประเด็นการย้ายสถานที่ก่อสร้างจาก จ.ปทุมธานี ถูกคณะกรรมาธิการฯ โต้แย้งไว้ในข้อสังเกตข้อแรก โดยปลอดประสพ ระบุว่า ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องย้ายสถานที่ก่อสร้างจากปทุมธานีมาจตุจักร
"การอ้างว่าน้ำท่วม ไม่ใช่เหตุผลที่ฟังได้ เอไอที สวทช.นิคมอุตสาหกรรมมากมายในบริเวณนั้นก็สร้างเขื่อนรอบๆ และอยู่กันมาได้จนถึงทุกวันนี้ ถ้าวันนั้น สตง.ถามผู้รู้เช่นตนเอง ก็จะแนะนำไปว่าไม่จำเป็นต้องย้าย เป็นความคิดที่ผิดแล้วก่อปัญหามาก"
การเช่าที่ดินในราคาดังกล่าวของสตง.จะถูกหรือแพงอย่างไร ในฐานะส่วนราชการด้วยกันกับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือการรถไฟฯ คิดค่าเช่าในอัตราเดียวกับที่ปล่อยให้เอกชนทั่วไปเช่า คงต้อไปดูในรายละเอียด เพราะถือเป็นที่ดินย่านธุรกิจ
แต่ทั้งหมดที่ว่ามา น่าจะพอสรุปได้ว่า สตง.นั้น ถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานอื่น แต่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ตรวจสอบตัวเอง
หากมีโอกาสแก้กติกาหรือออกแบบกติกากันใหม่เมื่อไหร่ คงต้องมาสังคายนาปมปัญหาตรงนี้กันด้วย