การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ( 1 เมษายน) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานที่ประชุมว่าได้ลงพื้นที่เกิดเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมาทั้งตึกจากแผ่นดินไหววันที่ 28มีนาคม เพื่อตรวจสอบและเก็บตัวอย่างเหล็กที่ใช้ทั้งเหล็กข้ออ้อย และเหล็กกลมทั้งหมด 6 ขนาดด้วยกัน ส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตรายเดียวกันและได้ส่งตัวอย่างทั้งหมดไปตรวจสอบที่สถาบันเหล็ก
นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งข้อสังเกตว่า เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างตึก สตง. มีตรารับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรรมหรือ ‘มอก.’ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกให้ทุกเส้น ‘ไม่ทราบว่าให้ มอก.ไปได้อย่างไร’ และไม่แน่ใจว่าจะเอาผิดผู้รับเหมาได้หรือไม่ เพราะเขาใช้เหล็กที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโดยกระทรวงอุตสาหกรรม
ปิดโรงงงานซินเคอหยวน แต่ปล่อยเหล็ก‘SKY’ท่วมตลาด
สำหรับเหล็กที่ใช้สร้างอาคาร สตง.ดังกล่าว เกือบทั้งหมดเป็นยี่ห้อ SKY ของบริษัทซินเคอหยวน สตีล จากจีนที่มาตั้งโรงงานที่จ.ระยอง อีก 2 ยี่ห้อคือ TATA ของบริษัท ทาทา สตีล จากอินเดีย และTYS ของบริษัทไทยคูณ ที่ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย
‘ซินเคอหยวน’ เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยเมื่อหลายปีก่อน และเป็นต้นเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยล่มสลาย เพราะซินเคอหยวนเป็นผู้ผลิตเหล็กใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของจีน สามารถผลิตและขายเหล็กในราคาถูกกว่าเหล็กไทยมาก
โรงงานเหล็กของซินเคอหยวนที่ระยองประสบ **‘อุบัติเหตุร้ายแรง’**หลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 เกิดระเบิดจากการรั่วไหลของถังก๊าซ LPG ขนาด 110,000 ลิตร
หลังเกิดเหตุกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตรวจพบเหล็กข้ออ้อยของโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจึงสั่ง **‘ปิด’**โรงงานตั้งแต่วันที่ 19ธันวาคม
อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งปิดโรงงาน แต่ไม่ได้สั่ง ‘ห้าม’ ใช้เหล็กยี่ห้อ SKY ของซินเคอหยวน และไม่ได้มีการนำเหล็กยี่ห้อ SKY ออกจากตลาด เหล็กยี่ห้อ SKY ที่ยังอยู่ในสต็อกเป็นจำนวนมากจึงยังคงถูกนำไปใช้ก่อสร้างอาคารสูง ถนน ทางด่วนตามเดิมเพราะมีราคาถูก
‘เอกนัฏ’มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ 7 เดือน ก่อนหน้านั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคือ ‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ซึ่งเป็น สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ เช่นเดียวกัน