แก้รัฐธรรมนูญ แนวรบใหม่สองสภา

25 ธ.ค. 2567 - 03:01

  • ต้องฝ่าด่านถึง 3 ด่าน

  • แผลเก่ายังไม่สะเก็ตดี

  • อาจไม่ปล่อยให้ลากยาวไปได้ไกล

politics-thailand-government-constitution-new-battle-houses-SPACEBAR-Hero.jpg

นับเป็นอีกความพยายามของ ‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่มีความมุ่งมั่นกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน จนอยู่ในขั้นที่เรียกได้ว่า ‘หมกมุ่น’ กันเลยทีเดียว

เพราะตะลอนเดินสายไปพบคนนั้น คนนี้ ทั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภา เลขาธิการ กกต.และตัวแทนนายกรัฐมนตรี เพื่อขอแรงสนับสนุนให้ทำประชามติเพียงสองครั้ง ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ในที่สุดความเพียรของพริษฐ์ ทำท่าจะเป็นผล เมื่อสามารถโน้มน้าวให้คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ตอบรับการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่จะนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่ต้องไปทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน

‘ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4 /2564 ที่ให้ทำประชามติสอบถามประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเสียก่อนว่า เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่หรือไม่’

เอาเป็นว่า ถ้าประธานรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ยอมจรดปากกาเซ็นต์บรรจุร่างเข้าระเบียบวาระตามที่คณะกรรมการฯ มีมติ ฝันที่อยากเห็นการทำประชามติเพียงสองครั้งในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของพริษฐ์ ก็เป็นจริงขึ้นมา

แต่นั่นจะเป็นเพียงด่านแรก แค่อนุญาตให้บรรจุร่างเข้าวาระพิจารณาเท่านั้น ส่วนจะได้พิจารณา หรือพิจารณาแล้วจะผ่านไม่ผ่าน หรือว่าผ่านไปได้แค่ไหน ไม่มีใครให้คำตอบได้ เพราะหนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล

ที่สำคัญร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะนำไปสู่การเกิดแนวรบใหม่ของสภาผู้แทนราษฎร กับวุฒิสภา ที่ต้องมาเผชิญหน้ากันอีกครั้ง หลังแผลเก่าเรื่องกฎหมายประชามติยังไม่ทันได้ตกสะเก็ตดี

โดยทันทีที่ประธานฯ วันนอร์ บรรจุร่างเข้าสู่การพิจารณา อาจมีสว.1 ใน 5 เข้าชื่อกันยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก่อนจะได้พิจารณาในวาระแรกด้วยซ้ำ และหากมีการยื่นร้องดังว่า ก็ต้องแขวนร่างไว้จนกว่าจะมีคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญ

แค่นี้ก็ทำให้ฝันของไอติมค้างเติ่งอยู่ตรงนั้น

หรือสว.อาจไม่ต้องออกแรงเข้าชื่อยื่นเรื่องไปรกศาลรัฐธรรมนูญเปล่า ๆ แต่ไปดักรอตีหัวเอาในวาระแรก หลังปล่อยให้อภิปรายกันเต็มที่แล้ว พอถึงเวลาลงมติก็อ้างไม่ได้ทำประชามติถามประชาชนเสียก่อนว่าจะยินยอมให้จัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่หรือไม่ ก็พร้อมใจกันโหวตไม่รับหลักการ

เมื่อไม่ได้เสียงสว.ถึง 1 ใน 3 หรือ 67 เสียงขึ้นไป ร่างนั้นก็ถูกตีตกไป

แต่หากสว.อยากร่วมสนุกเล่นชักกะเย่อต่อ เพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศตั้งแต่วาระต้น ๆ ก็ปล่อยให้ผ่านวาระแรก ไปว่ากันต่อในชั้นกรรมาธิการ วาระ 2 แล้วไปดูเนื้อหารายละเอียดกันตอนแปรญัตติว่าจะสุดสวิงริงโก้ขนาดไหน จะเอาส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนร้อยเปอร์เซนต์อย่างที่ว่าไว้หรือเปล่า

ถึงตอนนั้น ค่อยไปโหวตไม่เห็นด้วย ตีตกเอาในวาระ 3 ก็คงยังไม่สาย

สุดท้ายต่อให้ฝ่ายการเมืองที่ยอมจูบปากกันไปแล้วในเวลานี้ ยินยอมพร้อมใจกันให้แก้ไขแบบผ่านฉลุยได้ทุกด่านก็ตาม ยังมีประชามติเป็นก้างชิ้นโตขวางคออยู่ ที่สำคัญถ้าต้องทำประชามติกันในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ 

อย่าลืมว่า กฎหมายประชามติที่แก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว ยังถูกฟรีซเอาไว้อยู่ ดังนั้น ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ตามกฎหมายเดิมที่กลัวนักกลัวหนา ก็คงผ่านไปได้ไม่ง่าย และอาจตกม้าตายกันในตอนท้าย

แต่ดูทรงแล้วสว.สีน้ำเงิน คงไม่ปล่อยให้ลากยาวไปได้ไกลนัก และการแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างนี้แหล่ะ ที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้า เปิดแนวรบใหม่ของสองสภาขึ้นอีกครั้ง

ฟังมาว่า ไม่ใช่เฉพาะสว.เท่านั้น แต่ในสภาผู้แทนราษฎรเอง ก็ไม่ได้เอาด้วยกับไอติมทั้งหมด โดยมีบางคนรอไปรอซ้ำที่ปลายซอยด้วย หลังถูกกสว.ดักตีหัวไม่ให้ผ่านตั้งแต่วาระแรก!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์