8 เม.ย.ศาลตัดสิน 4 กสทช. ‘ไตรรัตน์’ ฟ้องหลังโดนปลด

7 เม.ย. 2568 - 03:26

  • คณะกรรมการ กสทช. ชุดนี้ มีเรื่องฟ้องร้องกันต่อเนื่อง

  • วันที่ 8 เมษายนนี้รอคำพิพากษา คดีเลขาฯฟ้อง 4 กรรมการ กสทช.

  • สะท้อนความขัดแย้งในการบริหารองค์กรขั้นรุนแรง

politics-thailand-government-court-rules-SPACEBAR-Hero.jpg

วันที่ 8  เมษายน ศาลาอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นโจทก์ฟ้องกรรมการ กสทช. 4 ราย ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีปลดตนพ้นจากตำแหน่ง รักษาการเลขาธิการ กสทช. 

กรรมการ กสทช. ทั้ง 4 ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต. รศ.ดร. ศุภัช ศุภชลาศัยและ รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์

นอกจากนั้น ผศ.ดร. ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์สิริ รองเลขาธิการกสทช. ถูกฟ้องเป็นจำเลยรายที่ 5 ด้วย

คดีนี้เป็น 1 ใน3 คดี ที่มีเหตุมาจากความขัดแย้งใน กสทช.  

คดีแรก ผศ.ดร. ภูมิศิษฐ์ ฟ้อง ศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.  กรณีไม่แต่งตั้งให้เป็นรักษาการ เลขาธิการ กสทช. แทนนายไตรรัตน์ ตามมติที่ประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 9  มิถุนายน 2566  

ศาลพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธุ์ 2567 เพราะเห็นว่า  จำเลยไม่มีเจตนาพิเศษ ที่จะทำให้โจทก์หรือบุคคลอื่นได้รับความเสียหาย จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157

คดีที่ 2   บริษัททรู ดิจิทัล จำกัด (มหาชน) ฟ้อง ศ.ดร. พิรงรอง ว่าจงใจกลั่นแกล้งให้ได้รับความเสียหายกรณีออกหนังสือเตือน ผู้รับใบอนุญาตกิจการทีวี ให้ระมัดระวัง การแทรกโฆษณาบนแพลตฟอร์ม ทรูไอดี

วันที่ 6 กุมภาพันธุ์ 2568   ศาลสั่งจำคุก ศ.ดร. พิรงรอง 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา เพราะเห็นว่า  มีเจตนากลั่นแกล้งบริษัททรู ดิจิทัล ให้ได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาในคดีนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า  แปลกประหลาด ผิดปกติ เพราะบรรยายคำฟ้องของโจทก์อย่างละเอียด แล้วศาลตัดสินเลยว่า จำเลยผิดหลังจากนั้นจึงอ้างถึงคำให้การของจำเลยแบบสรุป ไม่ลงรายละเอียดแล้วระบุว่า ฟังไม่ขึ้น

นอกจากนั้น  คำให้การของพยานปากสำคัญที่ปรากฏในคำพิพากษา ยังไม่ตรงกับข้อความในบันทึกคำให้การของพยานรายดังกล่าว ซึ่งมีผลต่อรูปคดีอย่างมาก กล่าวคือในคำพิพากษา อ้างคำให้การของพยานว่า พิรงรอง เป็นคนเร่งรัดให้ออกหนังสือเตือน  แต่ในบันทึกคำให้การพยาน  พิรงรองไม่ได้เร่งรัด 

การพิพากษาคดีจึงต้องจับตาดูว่า ศาลจะตัดสินอย่างไร  เพราะหนึ่งในองค์คณะผู้พิจารณาคดี  เป็นเจ้าของคำพิพากษาในคดีทรู ฟ้องพิรงรองด้วย และเป็นผู้พิพากษาในคดีที่มีผู้ร้อง กรรมการ กสทช. กรณีมีมติให้ควบรวมทรู ดีแทค โดยสั่งให้ยกฟ้อง เพราะหลักฐานไม่พอ

สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจาก การนำเงิน 600 ล้านบาทจากกองทุนวิจัยและพัฒนา (กทปส.) ไปสนับสนุน การกีฬาแห่งประเทศไทย  (กกท.) ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022  แต่กลุ่มทรู ซึ่งออกเงินเพียง 300 ล้านบาท กลับได้สิทธิถ่ายทอดสดถึง 32 คู่ จากทั้งหมด 64 คู่  จนถูกร้องเรียนจากสมาคมทีวีดิจิทัล  และยังได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดเพียงผู้เดียวทางทรู วิชั่น , ทรูไอดี ทำให้ทีวีดาวเทียม และไอพีทีวี อื่นๆ ต้องจอดำ ทำให้ กสทช. ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง และนำไปสู่การลงมติของ 4  กสทช. ให้ นายไตรรัตน์พ้นจากหน้าที่ 

อย่างไรก็ตาม นายไตรรัตน์ยังคงเป็นรักษาการเลขาธิการ กสทช. จนถึงปัจจุบัน เพราะ นพ. สรณ ไม่ยอมเซ็นคำสั่งปลด แม้จะเป็นมติเสียงข้างมากของบอร์ด กสทช.

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์