ผลการเลือกตั้งซ่อมสส.เขต 8 นครศรีธรรมราช ในวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นของขวัญที่ไม่ดีนักของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เพิ่งผ่านการประชุมใหญ่ประจำปีและก้าวเข้าสู่ปีที่ 80 ไปก่อนวันหย่อนบัตรแค่วันเดียว
โดยในวันประชุมใหญ่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้า ปชป.ประกาศจุดยืนต่อมวลหมู่สมาชิกว่า ส่วนตัวยึดมั่นในหลักการและอุดมการณ์ประชาธิปไตยสุจริต และยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง เลือกตั้งปี 2562 ตนสอบตกเพราะไม่ยอมซื้อเสียงก็ยอมรับสภาพแต่ภูมิใจ และยืนอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ก็ยังยืนอยู่พร้อมที่จะต่อสู้และทุ่มเทที่จะนำพรรคประชาธิปัตย์กลับมาให้ได้ ตนจะไม่ยอมให้มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน หรือทำให้พรรคประชาธิปัตย์นั้นเสื่อมหรือแปดเปื้อน
“การประชุมครั้งก่อนเราเป็นฝ่ายค้าน วันนี้เรามาประชุมเราเป็นรัฐบาลได้ 7 เดือนกว่า การเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ มาตามข้อบังคับพรรคทุกประการ ไม่ใช่เฉลิมชัยหรือใครคนใดคนหนึ่งบอกว่าเป็นรัฐบาลก็เป็นได้ พรรคเราขับเคลื่อนด้วยข้อบังคับพรรคมาตลอด ประชาธิปไตยความเห็นต่างมีได้ แต่ความเห็นต่างนั้นจะต้องไม่ทำความเสียหายให้กับองค์กร”
เฉลิมชัย ย้ำว่า เมื่อเราตัดสินใจมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันว่าหลักการของเราไม่มีเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องซื่อสัตย์สุจริต การที่ตนได้เข้าไปเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการที่ เดชอิศม์ ขาวทอง ได้เข้าไปเป็น รมช.สาธารณสุข เป้าหมายของเราคือวางนโยบายและสิ่งต่างๆ เพื่อให้พรรคเดินไปข้างหน้า
"เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย" ทิ้งท้ายคำประกาศต่อหน้ามวลหมู่สมาชิกชาวสีฟ้าในวันนั้นว่า**"คำตอบอยู่ที่การเลือกตั้งครั้งหน้า"**
แต่ผลการเลือกตั้งซ่อมสส.เขต 8 นครศรีธรรมราช ที่ปรากฎออกมา ดูเหมือนคนเมืองคอนจะพิพากษา ปชป.ไปก่อนแล้ว ไม่รอให้ถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่สภายังเหลือเวลาอีกร่วมสองปี หากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นก่อน
ในอดีตภาคใต้ เปรียบเป็น "เมืองหลวง" ของประชาธิปัตย์ โดยยึดเก้าอี้สส.ได้เกือบทั้งภาค ยกเว้นในบางเขตของจังหวัดชายแดนด้ามขวาน ที่มีลักษณะเฉพาะของชุมชนชาวมุสลิม และด้วยการผูกขาดเก้าอี้ สส.ภาคใต้มานาน จึงมีคำพูดเปรียบเปรยว่า ต่อให้ส่ง "เสาไฟฟ้า" ลงสมัครคนใต้ก็ยังเลือก
หรืออีกหนึ่งเรื่องเล่าที่ว่า หากคนไทยเกิดมาก็ได้ชื่อนับถือศาสนาพุทธ ตามบิดา มารดา ผู้บังเกิดเกล้า ฉันใด ความเป็นประชาธิปัตย์ของคนภาคใต้ ก็ถูกส่งผ่านกันมาทางสายเลือด ฉันนั้น ปู่ ย่า ตายาย เลือกพรรคประชาธิปัตย์ พ่อ แม่ ลูกก็เลือกตาม
สาเหตุที่คนภาคใต้ในอดีตเลือกพรรคประชาธิปัตย์สืบ ๆ กันมา เพราะมีจุดแข็งในเรื่องของหลักการ อุดมการณ์ ดังสโลแกนที่ยึดถือกันมานาน "ประชาธิปัตย์ ยืนหยัดเคียงข้างประชาชน"
เป็นพรรคการเมืองที่ต่อสู้กับเผด็จการ ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างเข้มข้น จนเป็นที่มาของสมญานามการเมืองที่เรียกขานกันว่า ฝ่ายค้านมืออาชีพ
"ประชาธิปัตย์" แม้จะเข้า ๆ ออก ๆ ไปเป็นรัฐบาลอยู่หลายครั้ง แถมบางครั้งเป็นแกนนำรัฐบาลด้วยซ้ำ มีหัวหน้าพรรคชื่อ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึงสองครั้ง และเว้นระยะห่างไปอีกนาน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคอีกคน ก็ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย
"ชวน-อภิสิทธิ์" ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในสถานการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังรักษาระยะในเรื่องของจุดยืน หลักการ และอุดมการณ์ของพรรคเอาไว้ ไม่ถึงกับออกนอกลู่นอกทาง
ทว่าเริ่มมาเสียศูนย์ เอาในช่วงหลังเลือกตั้งปี 2562 ที่พากันเข้าร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยไม่รักษาคำพูดที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียง "จะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล" กับพล.อ.ประยุทธ์ จน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องเอาตัวเองบูชายันต์ทางการเมือง ด้วยการลาออกจาก สส.ไป
สุดท้ายมาถึงยุคของ "เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย" ที่นำพาพรรคประชาธิปัตย์ "แหกโค้ง" ไปเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ทั้ง ๆ ที่มีจุดยืน อุดมการณ์ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และต่อสู้กันในทางการเมืองมายาวนานตลอดสองทศวรรษ
จนทำให้ความเป็นเมืองหลวงของประชาธิปัตย์ในภาคใต้ ถูกตีแตกไปทีละเขตสองเขต ด้วยหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ จุดยืนและหลักการของประชาธิปัตย์ ที่เปลี่ยนไปแบบสุด ๆ จากหน้ามือเป็นหลังมือ
ความพ่ายแพ้ในสนามบ้านเกิดของ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตสส. 9 สมัย อดีต รมว.ศึกษาธิการ ขุนพลภาคใต้ของ ปชป.เที่ยวนี้ ไม่เฉพาะตัวชินวรณ์เท่านั้น ที่หมดสภาพ แต่พรรคการเมืองเก่าที่ก้าวสู่ทศวรรษที่ 8 อย่างประชาธิปัตย์ คงถึงเวลาต้องรูดม่าน ปิดฉากเมืองหลวง ปชป.ในภาคใต้ลงอย่างถาวรด้วย
เพราะประชาธิปัตย์ชั่วโมงนี้ มีปัญหาทั้งหลักการที่เปลี่ยนไป และตัวบุคคลที่มีตำหนิมากน้อยแตกต่างกัน ในขณะที่วัฒนธรรมการลงคะแนนเสียงของคนในภาคใต้ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
เพราะฉะนั้น สนามเลือกตั้งใน 14 จังหวัดภาคใต้ ต่อจากนี้พรรคการเมืองไหนที่มีความพร้อมแบบ "กล้าธรรมโมเดล" ก็สามารถเข้าไปปักธงได้ ไม่มีพรรคไหนผูกขาดเก้าอี้สส.ไว้หมือนในอดีต
พรุ่งนี้ โอกาสที่ประชาธิปัตย์ จะทวงคืนความยิ่งใหญ่ในภาคใต้กลับมาเหมือนเดิม คงเป็นไปได้ยากยิ่ง เมื่อ ปชป.รูดม่านเมืองหลวงปักษ์ใต้ การเมืองไทยก็เหมือนรำวงย้อนยุค กลับไปอยู่ในมือของกลุ่มบ้านใหญ่อีกครั้ง