3 เดือนรัฐบาล ‘อิ๊งค์’ สอบตก?!

11 ธ.ค. 2567 - 03:01

  • รอบ 3 เดือน ชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างไร

  • เศรษฐกิจก็ยังตกสะเก็ด

  • นโยบายไปไม่ถึงไหน

politics-thailand-government-digital-flood-SPACEBAR-Hero.jpg

เห็นตีเกราะ เคาะไม้กันใหญ่โต วันพรุ่งนี้ ฤกษ์ดีวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2567 ครบสามเดือนพอดีที่ "อิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงนัดหมายแถลงผลงานว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ภายใต้ชื่องานความยาวหนึ่งบรรทัดเศษ มีทั้งภาษาไทยปนฝรั่ง ข้อความว่า

"2568 โอกาสไทยทำได้จริง 2025 Empowering Thais : A Real Posbility จากผลงานที่เป็นรูปธรรม สู่อนาคตที่ทำได้จริง"

ชื่อดูเก๋ไก๋ตามสไตล์คนรุ่นใหม่ จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกรัฐบาล ฉายหนังตัวอย่างเรียกน้ำย่อยไว้วันก่อนว่า เนื้อหานอกจากจะฉายผลงานรอบสามเดือนแล้ว ยังเป็นการกำหนดทิศทางของประเทศไทยในปีหน้า เพื่อให้แข่งขันกับทุกประเทศในโลกได้

"จากการรายงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องกันว่า ในปี 2568 จะเป็นปีทองของประเทศไทย ทั้งในด้านธุรกิจท่องเที่ยว การเกษตร อุตสาหกรรม และการลงทุนในประเทศต่าง ๆ ที่มีโอกาสทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตได้มากยิ่งขึ้น"

ส่วนจะทำได้ตามประกาศไว้หรือไม่ ต้องรอดูของจริงกันในปีหน้าว่า จะเป็นปีทองของไทยจริง ๆ หรือเป็นแค่ทองชุบ ทองคำเปลว หรือทองม้วน เอาไว้รอดูพร้อมกันตอนนั้น ถ้านายกฯ อิ๊งค์ ยังประคองตัวนั่งอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้

แต่ที่จะแถลงกันใหญ่โตถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ NBT และช่องทางต่าง ๆ ของทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ เข้าใจว่าคงยกเอามาจากนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อที่แถลงต่อสภาไปในวันที่ 12 กันยายนนั่นแหล่ะ มีอะไรบ้างลองไปไล่ดูกัน

1.การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ ๆ

2.ดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

3.เร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมและการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน

4.สร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านต่างๆ ให้กับประชาชน

5.เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมทั้ง ผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล

6.ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" นำเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และฟื้นนโยบาย "ครัวไทยสู่ครัวโลก"

7.ส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า รวมทั้ง ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เช่น สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex)

8.แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการ่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน สกัด ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางลำเลียง รวมทั้ง ค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา

9.เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์

10.ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวก

ที่ว่ามาทั้งหมด ไม่นับคำประกาศในช่วงหาเสียง **"มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี"**ลองเอามือล้วงเข้าไปในกระเป๋า มีชีวิตหายใจเข้าออกอยู่ทุกวันนี้ หลายคนคงตอบตัวเองได้ว่า ในรอบสามเดือนที่ผ่านมา ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

เศรษฐกิจยังตกสะเก็ด ตัวเลขจีดีพียังยักแย่ยักยันทั้งปีโตอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ปีหน้าจะเพิ่มได้ถึงร้อยละ 3 หรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้ ดังนั้น ตัวเลขเฉลี่ยที่ตั้งเป้าไว้ให้โตที่ร้อยละ 5 ต่อปี จึงยังเป็นตัวเลขในฝัน เช่นเดียวกับเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ค่าแรงวันละ 400-600 บาท ก็ยังตั้งไข่ไปไม่ถึงไหน

ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้สัมภาษณ์รายการวิทยุคลื่นหนึ่งไว้ ถึงผลงานสามเดือนรัฐบาลอิ๊งค์ นอกจากแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทให้กับกลุ่มเปราะบาง ที่ไม่ตรงปกตามที่หาเสียงไว้แล้ว เรื่องอื่น ๆ ที่แถลงไว้ 10 ข้อ แทบไม่มีนโยบายด้านไหนที่จับต้องได้

แม้กระทั่ง นโยบายด้านการเมืองที่เริ่มไว้ตั้งแต่สมัยนายกฯ คนก่อน เศรษฐา ทวีสิน ที่อยู่ในพรรคเดียวกัน ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้น หรือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ก็ยังไปไม่ถึงไหน

หรือแม้แต่การแก้หนี้ที่อยู่ในข้อแรกของนโยบาย ที่จะเสนอเป็นชุดมาตรการเศรษฐกิจเข้าครม.วันนี้้ ทั้งพักดอกกเบี้ย แฮร์คัทหนี้ ก็ตีปี๊บกันมาตั้งแต่สมัยนายกฯ เศรษฐา เมื่อสิบเดือนก่อน

แต่สุดท้าย ดร.พิชาย ในฐานะคนที่เป็นครูสอนหนังสือ ก็ยังให้คะแนนผลงานสามเดือนนายกฯ อิ๊งค์ 3 คะแนน จากเต็ม 10 ซึ่งไม่ว่าจะให้เป็นค่าน้ำหมึก ค่าความตั้งใจ หรือให้เพราะอะไรก็ตาม 

แต่สามคะแนนที่ได้ถือว่าสอบไม่ผ่าน

ขณะที่ในวงสนทนาของคนการเมืองบางวง ตรวจการบ้านสามเดือนรัฐบาลอิงค์ ชนิดละเอียดยิบแบบจำแนกกันรายข้อ ลงลึกไปถึงรอยหยักในสมอง แล้วสรุปออกมาตรงกันให้ปรับตกทุกวิชา

เพราะไม่ได้ไปเข้าสอบด้วยตัวเอง!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์