แจกเงินหมื่น เฟส 2 บน 3 ความเสี่ยง?!

28 ม.ค. 2568 - 02:57

  • เสี่ยงต่อการกระทำความผิด พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น

  • เสี่ยงต่อการทำผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง

  • เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลัง พ.ศ.2561

politics-thailand-government-give-ten-thousand-risks-SPACEBAR-Hero.jpg

เห็นสื่อพร้อมใจกันพาดหัวข่าว เฮ ๆๆๆ กันเกือบทุกกฉบับ เรื่องแจกเงินหมื่น ทั้ง ๆ ที่ไส้ในมันคือ  เงินหมู่เฮา กันทั้งนั้นแหล่ะ รับแจกกันไปในวันนี้ ต้องมาใช้หนี้คืนในวันข้างหน้า

แจกแบบฝนตกไม่ทั่วฟ้า แต่ไม่ว่าได้ ไม่ได้ ก็ต้องร่วมรับผิดชอบหนี้ก้อนนี้ด้วยกัน

รัฐบาล ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ได้แจกเงินสด ๆ จำนวนหนึ่งหมื่นบาท ให้กับประชาชนไปอีกรอบหนึ่ง จำนวน 3 ล้านคน ในวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เที่ยวนี้ให้กับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ภายใต้ชื่อโครงการ ‘สูงวัยชื่นมื่น เงินหมื่นถ้วนหน้า’

แต่ก็อย่างที่ว่าไว้ฝนตกไม่ทั่วฟ้า

เพราะกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และไม่ได้มาลงทะเบียนกับแอปฯ ทางรัฐไว้ ยังตกหล่นอยู่ ซึ่งจะมีการเก็บตกอีกครั้ง โดยทำคู่ขนานกันไปกับการแจกรอบ 3 ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

โดยรอบสุดท้ายที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน จะเรียกเป็นรอบเก็บตกก็คงไม่ผิด เพราะตกค้างมาจากสองรอบแรก ที่ให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางก่อนและตามมาด้วยพวกชราชน

เอาเป็นว่า พวกที่ไปลงทะเบียนไว้แล้ว ถ้าอายุต่ำกว่า 60 ลงมาถึง 16 ปี หากมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ คือ มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 7 หมื่นบาท และมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท ก็รอรับทรัพย์กันได้ในช่วงไตรมาส 2 

ทีนี้ปัญหาที่จะตามมาคือ เงินงบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลนำมาละเลง รอบแรก 1.4 แสนล้านบาท รอบสอง 3 หมื่นล้านบาท และรอบสามอีกราว 1.6 แสนล้านบาท เบ็ดเสร็จรวม 3.3 แสนล้านบาทนั้น

เป็นเงินหลวงที่รัฐบาลกู้มาแจก ผ่านการจัดงบประมาณแบบขาดดุล โดยนำไปใส่ไว้ในงบกลางและเป็นเม็ดเงินสำหรับการใช้จ่ายในหมวดการลงทุน ภายใต้โครงการที่เรียกแบบเท่ ๆ ว่า เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่หากย้อนกลับไปดูความเป็นมาของโครงการนี้ นับตั้งแต่การหาเสียง รวมถึงที่ยื่นเป็นนโยบายต่อ กกต.เอาไว้ จนกระทั่งแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มันกลายเป็นหนังคนละม้วน สิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำ ไม่ตรงกัน

พูดแล้วทำก็จริง แต่ที่แจกไปมันไม่ตรงปก!!

เมื่อมันเกิดการ_ผิดฝาผิดตัว_ ที่ไม่ใช่แค่เปลี่ยนจากดิจิทัลวอลเล็ต มาเป็นการแจกเงินสด ๆ เท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนจากไม่กู้มาเป็น ‘กู้มาแจก’ แถมแจกแบบสงเคราะห์ แจกแบบกระปริบกระปรอย

ไม่มีผลคูณ ไม่เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 5-6 รอบ อย่างที่โม้ไว้

แถมการแจกในรอบที่สอง เวลายังคาบเกี่ยวกับการ**เลือกตั้ง อบจ.**ที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์นี้อีกด้วย แม้คนในพรรคเพื่อไทย จะพร้อมใจกันปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่เกี่ยวกันกันอย่างไรก็ตามเถอะ

แต่ทุกเวทีที่ผู้ช่วยหาเสียงของเพื่อไทยไปปราศรัย ก็ไม่พลาดที่จะเอ่ยถึงเรื่องการแจกเงินหมื่น ที่มีขึ้นในวันที่ 27 มกราคม โดยเฉพาะผู้ช่วยหาเสียงกิตติมศักดิ์ทักษิณ ชินวัตร ได้ย้ำทุกครั้งถึงเรื่องนี้  

แม้การแจกเงินหมื่นหนนี้จะเป็นครั้งที่สองก็ตาม แต่หากนำหลักวิญญูชนที่รู้หรือควรรู้มาเทียบเคียงแล้ว ก็คงพออนุมานได้ว่า มันเป็นการบังเอิญอย่างร้ายกาจ หรือมีเจตนาอื่นใดซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่หรือไม่กันแน่

เพราะฉะนั้น การกดปุ่มแจกเงินหมื่น เฟส 2 ของรัฐบาลพ่อ-ลูกครั้งนี้ จึงอยู่บนความเสี่ยงอย่างน้อย 3 ประการ คือ ประการแรก เสี่ยงต่อการกระทำความผิด พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น เรื่องสัญญาว่าจะให้และการเอาเปรียบคู่แข่ง ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม

ประการที่สอง เสี่ยงต่อการทำผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ยื่นเสนอนโยบายหาเสียงไว้อย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำตามที่ได้ประกาศหรือแสดงต่อ กกต.ไว้

ประการสุดท้าย เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลัง พ.ศ.2561 โดยเฉพาะที่พูดถึงกันอย่างมากใน มาตรา 9 ความว่า

"คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ

คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว"

หากพิจารณาตามความในมาตรา 9 แล้ว การกระทำของรัฐบาลมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก ทั้งท่อนแรกเรื่องของการรักษาวินัยการใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด และท่อนหลังที่เป็นการมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง

ส่วนผิดถูกอย่างไร เมื่อได้ทำลงไปแล้ว จะกลัวถูกร้องหรือใครอยากร้องก็ให้ร้องไป ก็คงว่ากันตามสะดวก แต่งานนี้ที่แจกแล้ว แจกอยู่ และกำลังจะแจกต่ออีก ล้วนตั้งอยู่บนสามความเสี่ยงที่ว่ามาทั้งนั้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์