กกต.กับโลกวัชชะ ทางการเมือง

29 ม.ค. 2568 - 03:00

  • เลือกตั้ง อบจ.ซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ

  • คนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เป็นผู้ช่วยหาเสียงได้

  • เลือกตั้ง อบจ.เป็นวันเสาร์ จะมีผู้มาใช้สิทธิ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

politics-thailand-government-local-elections-thaksin-pita-SPACEBAR-Hero.jpg

เข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.ที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ โดยแยกเป็นนายก อบจ. 47 จังหวัด และสมาชิกสภาจังหวัด (ส.อบจ.) ทั่วประเทศ 76 จังหวัด

ส่วนนายก อบจ.อีก 29 จังหวัด ได้ชิงลาออกก่อนครบวาระและเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้แล้ว จนกลายเป็นปัญหาให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ ว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะต้องมีการเลือกตั้ง อบจ.ซ้ำซ้อนถึงสองครั้ง

เรื่องของเรื่องเนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ในวาระได้ 4 ปี นับจากวันที่ดำรงตำแหน่ง ดังนั้น เมื่อตำแหน่งว่างลง คนใหม่ที่มาแทนก็จะเริ่มนับหนึ่งใหม่ในวาระของตัวเอง โดยอยู่ทำหน้าที่ไปจนครบ 4 ปี

ทั้งนี้ ต่างจากวาระของ ส.อบจ.ที่จะต้องครบวาระและเลือกตั้งในคราวเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ โดยหากมีเหตุต้องเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่าง ผู้ที่ได้รับเลือกเข้ามาใหม่ก็จะอยู่ในตำแหน่งได้เท่าที่เวลาของสภาเหลืออยู่เท่านั้น

เป็นหลักการเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

ดังนั้น ในอนาคตหากไม่อยากให้สิ้นเปลืองเงินหลวงซ้ำซ้อนอย่างที่เป็นอยู่ ผู้ที่รับผิดชอบคงต้องไปคิดอ่านหาทางแก้ไข อุดช่องโหว่ช่องว่าง ไม่ให้มีรูหมาลอดทางการเมืองในส่วนของผู้บริหารท้องถิ่นกันต่อไป

แต่สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นคงไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีอีกหลายข้อที่อดีตกกต.สมชัย ศรีสุทธิยากร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ให้กกต.นำไปสรุปเป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงแก้ไข อาทิ การเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง ส่งผู้สมัครท้องถิ่นได้ ทำให้พรรคการเมืองมาแข่งขันกันในเวทีท้องถิ่น และสร้างความได้เปรียบในฐานะที่เป็นรัฐบาล

การนำนโยบายระดับประเทศมาขายฝันในการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยสิ่งที่หาเสียงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น หรือการใช้ผู้ช่วยหาเสียงจากคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่เป็นเบอร์ใหญ่ มีอิทธิพลเหนือพรรค รวมทั้ง การใช้โครงการประชานิยมของรัฐ เพื่อสร้างคะแนนนิยมในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง เช่น การแจกเงิน 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุทั้งประเทศ

ลำพังที่อดีตกกต.สมชัย ไล่เรียงมาก็นับว่าหนักหนาสาหัสอยู่เอาการ บางเรื่องคงต้องไปปรับแก้กฎหมาย วางกรอบ แบ่งเส้นกันเสียใหม่ ระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ 

แต่บางเรื่องมีกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่กกต.ไม่ได้นำมาบังคับใช้อย่างจริงจังเท่านั้นเอง

วันนี้คงต้องยอมรับกันว่า มาตรฐานการปฏิบัติของ กกต.ชุดปัจจุบัน มีความแตกต่างจาก กกต.ในอดีตอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการประกาศรับรอง สส./สว.หรือการให้ใบเหลือง ใบแดง ที่เป็นไปแบบประหยัด และยืดหยุ่น

ไม่เห็นมีการแขวนแล้ว แขวนอีก เลือกตั้งซ้ำ ๆ ชนิดให้เบื่อกันไปข้าง เกิดขึ้นในยุคนี้

ในทางกลับกัน กลับได้เห็นมาตรฐานใหม่เกิดขึ้น คือ ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ ที่คนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง กกต.ชุดนี้ก็เปิดให้มาทำหน้าที่ได้ แถมกรอบยังกว้างเป็นมหาสมุทร พูดได้ในทุก ๆ เรื่อง

แต่มีบางสิ่งที่กกต.ชุดนี้อาจจะหลงลืมหรือไม่ก็มองข้ามไป คือ การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้จัดขึ้นใน ‘วันเสาร์’ ทั้ง ๆ ที่การเลือกตั้งทุกระดับในอดีต กำหนดให้มีขึ้นใน ‘วันอาทิตย์’ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว

เพราะสถานประกอบการบางแห่งของภาคเอกชนที่ทำงาน 6 วัน จะทำงานถึงวันเสาร์ และหยุดในวันอาทิตย์ จึงทำให้เป็นปัญหากับผู้ที่ไม่อาจลางานหรือทิ้งงานมาใช้สิทธิได้ ไม่ว่าจะเพราะกลัวขาดรายได้ หรือกลัวเสียวันลา หรือจะด้วยเหตุใดก็ตาม

ส่วนเหตุผลที่กกต.ชี้แจงไป ไม่ว่าจะเป็นการขยับออกไปเลือกในวันอาทิตย์ แล้วกลัวคาบเกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นวันสุดท้ายของกรอบเวลา 45 วันพอดี หรือหากจะร่นเข้ามาอีก 1 สัปดาห์ ก็เกรงผู้สมัครจะมีเวลาหาเสียงน้อยนั้น

เหตุผลอย่างหลังน่าจะฟังไม่ขึ้น เพราะผู้สมัครรู้อยู่แล้วว่าจะต้องมีการเลือกตั้งหลังจากครบวาระ

ขณะที่การเปลี่ยนวันหย่อนบัตรจากวันอาทิตย์ มาเป็นวันเสาร์ต่างหาก ที่ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง ต้องขาดโอกาสไม่ได้มาใช้สิทธิ์ ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกตั้งเป็น ‘หน้าที่’ ของประชาชน และหากไม่ออกมาเลือกตั้ง ก็จะทำให้เสียสิทธิต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

ยกเว้นไปแจ้งรักษาสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้

เอาเป็นว่า การที่กกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้งอบจ.ขึ้นในวันเสาร์ จะทำให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งไม่สามารถออกมาทำหน้าที่ของตัวเองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้ ทั้งยังเพิ่มภาระให้ประชาชนต้องไปแจ้งรักษาสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

รอดูว่าการเลือกตั้ง อบจ.หนนี้ จะมีผู้มาใช้สิทธิ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ หากมาน้อยกว่าเที่ยวที่แล้ว กกต.ก็ต้องไปดูว่าเป็นเพราะอะไร การเปลี่ยนจากวันอาทิตย์มาเป็นวันเสาร์ มีผลหรือไม่

ที่ผ่านมากกต.ชุดนี้ ถูกนินทาค่อนแคะอยู่หลายเรื่อง บางเรื่องแม้กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ แต่พอทำไปแล้ว ก็ถูกอีกฝ่ายติฉินนินทา เพราะทำให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้นในการแข่งขัน เหมือนกับที่จัดให้มีการเลือกตั้งในวันเสาร์

อย่างนี้เขาเรียก ‘โลกวัชชะ’ ทางการเมือง ไม่ผิดกฎหมาย แต่โลกเขาติฉินนินทา เพราะมันไม่เหมาะสมเท่านั้นแหล่ะ!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์