รัฐบาลพ่อเลี้ยง ปี 68 รับมือศึกนอก-ใน

24 ธ.ค. 2567 - 06:23

  • รัฐบาลพ่อเลี้ยงกับสถานการณ์ปี 2568

  • ประเมินโอกาสการเดินหน้าต่อหรือล้างไพ่ใหม่

  • ขึ้นอยู่กับพรรคร่วมว่าคุยกันจบแล้วหรือไม่

politics-thailand-government-manages-thaksin-paethongtarn-SPACEBAR-Hero.jpg

รัฐบาล ‘พ่อเลี้ยง’ ของนายกฯ ‘แพทองโพย’ ฉายาที่ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล ตั้งให้หมาด ๆ ไปเมื่อวานนี้ (23 ธันวาคม 2567) มีชื่อได้รับความสนใจอยู่บนหน้าสื่อมาตลอด ตั้งแต่แถลงผลงานครบ 3 เดือน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา

โดยนายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ได้รับเสียงโหวตจากโพลบางสำนัก ให้เป็น ‘นักการเมืองแห่งปี’ ต่อเนื่องจากผลการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ ที่เลือกให้เป็นสตรีผู้ทรงอิทธิพลอันดับ 3 ในเอเชีย และอันดับ 29 ของโลก

ในท่ามกลางข้อกังขาของเหล่าคอการเมือง ที่ติดตามข่าวสารแบบเกาะขอบสนาม ต่างงุนงงสงสัยที่มาของรางวัลดังกล่าว ประมาณว่า ‘ท่านได้แต่ใดมา ทำสิ่งใดชอบ วานบอก..’

แต่บริวารแวดล้อมใกล้ตัวนายกฯ กลับส่งเสียงสรรเสริญเยินยอ ช่วยกันต่อภาพให้เห็นว่าไม่เฉพาะเสียงตอบรับจากประชาชนคนไทยเท่านั้น แต่ผลงานในรอบ 3 เดือน ของนายกฯ อิ๊งค์ ยังได้รับความเชื่อมั่นจากประชาคมโลกด้วย  

โดยโทรโข่งใหญ่ ‘จิรายุ ห่วงทรัพย์’ ถึงกับประกาศเป้าหมายปี 2568 สำทับตามว่า นายกฯ อิ๊งค์ จะทำให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าในทุกตารางนิ้ว ตามที่ให้คำมั่นไว้ให้เป็นปีแห่งโอกาสของคนไทยทุกคน ‘ปี 2568 โอกาสไทยทำได้จริง หลังจากภาวะเศรษฐกิจสังคมหยุดนิ่งมานานหลายปี’

ใครจะเห็นด้วยเห็นต่างอย่างไร ก็โปรดว่าไปตามจริตของแต่ละคนไป

แน่นอนว่า เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เป็นแขกไม่ได้รับเชิญรายแรก ๆ ที่ออกมาพูดถึงรัฐบาลอิ๊งค์ ในปี 2568 โดย ‘ตั้ม’ พิชิต ไชยมงคล ประกาศให้เป็น ‘ปีเช็กบิล’ พร้อมกับประเดิมนัดหมายแรก วันอังคารที่ 7 มกราคม 2568 ให้ไปเจอกันที่ทำเนียบรัฐบาล

‘ใส่รองเท้าผ้าไปถามหาความยุติธรรม ของขวัญปีใหม่ของประเทศไทย คือความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลมีหน้าที่ทำความยุติธรรมให้กระจ่าง หากไม่สามารถคืนความยุติธรรมให้กระบวนการยุติธรรม รัฐบาลก็ต้องออกไป’

เดอะตั้ม นัดหมายข้อความข้างต้นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้ตั้งแต่หลายวันก่อน

ทีนี้รัฐบาลอิ๊งค์ จะอยู่หรือไปในปี 2568 น่าจะมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ หนึ่ง ปัจจัยภายใน อันหมายถึงความสัมพันธ์ในพรรคร่วมรัฐบาล ที่เริ่มเห็นรอยปริร้าวอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะพรรคการเมืองหลัก ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ ที่แม้จะไปออกรอบตีกอล์ฟสยบเกาเหลากันมาในช่วงวันหยุดที่ผ่านมาก็ตาม

แต่ ‘ทักษิณ-อนุทิน’ ก็ยังต้องคุยกันถี่หน่อยแบบแยกเป็นงานๆ ไป ตามประสาคนรู้ทัน

เพราะในเมื่อต่างรู้ทันกัน ประเภทไก่เห็นตีนงู งูก็เห็นนมไก่ ตีสองหน้าเข้าหากันตลอด สุดท้ายคงอยู่กันได้ไม่ยืด แม้จะทะเลาะตบตีกันบ้างเหมือนคู่ผัวเมียที่ต้องอยู่ด้วยกันไปก็ตาม

แต่ถึงเวลาหนึ่งก็อาจต้อง ‘หย่า’ ขาดกันไปในที่สุด หากมาถึงจุดที่ทนอยู่ต่อไปอีกไม่ไหว ฝ่ายหนึ่งไม่ยอมหงอ อีกฝ่ายก็ไม่ง้อ แต่กว่าเหตุการณ์ที่ว่าจะเกิดขึ้น ก็คงผ่านเข้าสู่ปีที่ 3 หรือปีที่ 4 ไปแล้วนั่นแหล่ะ

และหากวันนั้นมาถึง ไพ่ใบสำคัญในมือของเพื่อไทยคือ ‘ยุบสภา’ ล้างไพ่กันใหม่ แต่ก่อนยุบสภาก็ต้องเขี่ยภูมิใจไทยพ้นครม.เตะโด่งออกไปเป็นฝ่ายค้านก่อน ส่วนเพื่อไทยก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไป และไม่ต้องกลัวจะถูกป่วนในสภา เพราะคงต้องเลือกลงมือในช่วงปิดสมัยประชุมไปแล้ว

แค่นี้เพื่อไทยก็เป็นรัฐบาลรักษาการยาวคุมเลือกตั้งไปจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่

ส่วนปัจจัยที่สอง เป็นแรงกดดันจากภายนอกล้วน ๆ เป็นพวกขาประจำที่พ่อนายกฯ กำลังตั้งท่าจะเช็กบิลเป็นรายๆ อยู่ ซึ่งอย่างหลังนี้จะเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล โดยมีตัวอย่างใน อดีตให้เห็นมาแล้ว หากเงื่อนไขสุกงอม  ม็อบจุดติด ดาบในมือองค์กรอิสระ ก็จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมการเมืองให้ทุกครั้งไป

เพราะฉนั้น หากนายกฯ ‘แพทองโพย’ ลากสถานการณ์เอาตัวรอดจากปัจจัยภายนอกไปได้ ก็จะอยู่ข้ามปี 2568 ไปเจอดาบสองจากศึกในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ที่ตอนนี้หันมาจูบปากพักยกกันด้วยเหตุผลบางประการ

แต่นักวิเคราะห์บางรายใจร้อน ให้รอดูหลังเลือกตั้งอบจ.วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 หากพรรคเพื่อไทยกวาดชัยชนะมาได้แบบเป็นกอบเป็นกำ อาจจะได้เห็นการยุบสภาล้างไพ่ใหม่กันกลางปีหน้าด้วยซ้ำ 

นั่นแสดงว่า ‘ทักษิณ’ ยังขลัง-ยังขายได้ ในขณะที่พรรคส้มคู่แข่ง ยังอยู่ระหว่างสะสมชัยชนะ แต่งตัวไม่เสร็จเสียที 

ปีหน้าที่รัฐบาลพ่อเลี้ยง ประกาศให้เป็นปีแห่งโอกาสจะเป็นโอกาสของใคร นายกฯ แพทองโพย จะอยู่รอดปี 2568 ได้ไม่ได้ก็ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี่แหล่ะ...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์