อวสานรัฐธรรมนูญ ฉบับ ‘จุ๊หมาน้อยขึ้นดอย’

26 พ.ย. 2567 - 03:01

  • มีทั้งปัญหาเกณฑ์ออกเสียงประชามติ

  • อาศัยวรรคท้ายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 138

  • ค้านหลังชนฝา คาดลากยาวไปอีกนาน

politics-thailand-government-opposition-constitution-time-SPACEBAR-Hero.png

หลังรัฐบาลและฝ่ายค้านออกแรงปลุกปล้ำกันมาเป็นเวลานานหนึ่งปีเศษ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนร่วมกัน โดยการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่าง

ล่าสุดดูเหมือนจะวงแตก เดินมาถึงทางตันเสียแล้ว เมื่อเกิดการหักกันไปมาของสภาล่างกับสภาสูง เรื่องเกณฑ์ออกเสียงประชามติ ระหว่างเสียงข้างมากชั้นเดียว กับเสียงข้างมากสองชั้น

สุดท้ายเป็นที่แน่นอนว่า พรรคเพื่อไทย คงเลือกอาศัยเทคนิคทางกฎหมาย ปล่อยให้เวลาผ่านไปจนครบ 180 วัน แล้วค่อยนำร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร มายืนยันประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยไม่ต้องผ่านวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 ต่อไป 

แต่อาจไม่ต้องเสียเวลารอนานถึง 180 วัน หลัง ชูศักดิ์ ศิรินิล นักกฎหมายเจ้าความคิด ‘อิ๊กคิวซัง’ แห่งเพื่อไทย ไปเปิดเจอข้อความในวรรคท้ายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 ที่บัญญัติไว้ว่า ถ้าเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน ให้ลดเหลือ 10 วัน ให้นำร่างที่ยับยั้งไว้มายืนยันประกาศใช้ได้

โดยเตรียมจะยื่นเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียกประชุมประธานคณะกรรมาธิการสามัญ จำนวน 35 คณะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 134 ให้ร่วมกันวินิจฉัยเรื่องนี้

ทันทีที่ ‘อิ๊กคิวซัง’ จากเพื่อไทยโยนประเด็นนี้ออกมา ทำให้คนจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และผลักดันร่วมกันมาตั้งแต่ต้น เกิดอาการหมั่นไส้และรู้สึกรำคาญขึ้นมาในบัดดล กับลีลาโยกโย้ ไม่จริงใจสะสมมาตลอดเวลาของการศึกษา

ที่มีปัญหารายทางมาตลอด ทั้งการทำประชามติกี่ครั้ง ต้องแก้ พ.ร.บ.ประชามติเสียก่อน จนมาสะดุดที่เกณฑ์การออกเสียง ซึ่งตกลงกันไม่ได้จะใช้เสียงข้างมากกี่ชั้น

จนทำให้ไทม์ไลน์ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้เดิมผ่านไปทั้งหมด ไม่สามารถทำอะไรได้ทัน แม้แต่จะตั้ง ส.ส.ร.เอาไว้ก่อนสภาชุดนี้ครบวาระ ก็แทบจะปิดประตูตาย เพราะกระบวนการที่ต้องนำรายชื่อส.ส.ร.ขึ้นทูลเกล้าฯ คาบเกี่ยวกับการสิ้นสุดลงของสภาชุดนี้พอดี 

การออกมาแสดงความพยายามของชูศักดิ์ จึงถูกมองเป็นการแอบหาเสียงกับรัฐธรรมนูญใหม่เสียมากกว่า เพราะหากดูตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 134 ที่บัญญัติความหมายของร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงินไว้ 4 วงเล็บ ซึ่งหมายความถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 

(1) การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร

(2) การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมารรายจ่ายของแผ่นดิน

(3) การกู้ การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ

(4) เงินตรา

วิญญูชนทั่วไปใคร่ครวญดูย่อมรู้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เป็นกฎหมายการเงินหรือไม่?

ล่าสุดสองแกนนำในพรรคร่วมรัฐบาล ที่มองปมกฎหมายประชามติต่างมุมกัน ได้ออกมาเปิดหน้าชกกันผ่านสื่อแบบเต็ม ๆ โดย นิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ถือเป็นกฎหมายการเงินและเลยขั้นตอนที่จะให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เชิญประธานกรรมาธิการสามัญทุกคณะมาตัดสิน

“ขณะนี้เลยเวลาข้อสงสัยมาแล้ว ถ้าไปเชิญประธานกรรมาธิการทุกคณะมาร่วมกันพิจารณาแล้วใช้เสียงข้างมาก อาจผิดรัฐธรรมนูญได้ เพราะไม่เป็นพ.ร.บ.การเงิน หรือถ้าเป็นก็เลยเวลาที่จะทักท้วง สายไปแล้ว"

ส่วนมือกฎหมายเพื่อไทย ชูศักดิ์ ศิรินิล หลังถูกสวนแรง ๆ ก็ยอมรับว่าขั้นตอนนี้เลยมาแล้วจริง ๆ และไม่ได้เถียง แต่ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมา หมายความว่าเมื่อมีปัญหากรรมาธิการร่วมเห็นไม่ตรงกัน ถือเป็นอุปสรรคของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงคิดว่าทางออกควรเป็นอย่างไร ซึ่งการตีความว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ไม่ได้ฟันธงว่าเป็นไปตามนั้น หากไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร 

“สิ่งที่นายนิกรพูดมาผมก็ไม่ได้เถียงอะไร แต่ปัญหาข้อกฎหมายต้องหารือกันว่ามีทางออกอะไรหรือไม่”

ชูศักดิ์ ย้ำจะดันเต็มที่ให้เกิด ส.ส.ร.ก่อนหมดวาระรัฐบาลชุดนี้ ส่วนการเลือกตั้งก็ใช้กติการัฐธรรมนูญฉบับเก่าไปก่อน พร้อมปิดประตูการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ทั้ง ๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีความคิดจะทำคู่ขนานกันไป แต่เมื่อจะมอบหมายให้ ส.ส.ร.ยกร่างแล้ว ประเด็นแก้รายมาตราก็คงไม่มี

"เราจะมอบหมายให้ส.ส.ร.ยกร่างแล้ว ซึ่งถือเป็นตัวแทนประชาชน หากไปทำรายมาตราอีกก็จะดูไม่สมเหตุสมผล เว้นแต่กรณีจำเป็นจริง ๆ แต่เมื่อดูสถานการณ์ตอนนี้แล้วก็ไม่มีอะไรที่คอขาดบาดตาย"

ในขณะที่นิกร กางปฏิทินใหม่ดูหลังครบ 180 วันแล้ว ต้องบวกไปอีก 100 วัน กว่าจะเริ่มทำประชามติได้ ดังนั้น การทำประชามติครั้งแรกต้องขยับไปในช่วงต้นเดือนมกราคม ปี 2569 และกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ น่าจะอยู่ในราวเดือนตุลาคม ปี2571

ถ้าขืนลากยาวกันไปขนาดนี้ ใครที่รออยู่ต้องเลิกหวัง เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ ‘จุ๊หมายน้อยขึ้นดอย’ ไปแล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์