ทำไม กกพ. ยังรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 2,145 เมกะวัตต์
ทำไม เมินใบสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรณีศีกษา รมต. ‘ไม่เป็นงาน’ เอาดีเข้าตัว
การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) ยังเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) 2,145 เมกะวัตต์ จนจบกระบวนการ ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก 72 ราย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา
ไม่ใช่เรื่อง กกพ. เมินคำสั่งหรือหักหน้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่สั่งให้เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ‘ระงับ’ การรับซื้อไว้ก่อน จนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น
แต่เป็นเพราะ พีระพันธุ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่มีอำนาจสั่งให้ กกพ. ระงับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุรเวียนดังกล่าว
การทำหนังสือถึงเลขาธิการ สำนักงาน กกพ. เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ให้ระงับการรับซื้อไว้ชั่วคราวเป็นการ ‘ลักไก่’ ของพีระพันธุ์ ที่รู้ดีว่าตัวเองไม่มีอำนาจ แต่ทำลงไปเพื่อ ‘สร้างภาพ’ เป็นพระเอก ฉวยโอกาสขี่กระแสคัดค้านการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่พรรคประชาชนปั่นขึ้นมาในช่วงนั้น
โครงสร้างการบริหารนโยบายพลังงงานของประเทศไทย มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. เป็นองค์กรสูงสุด ในการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พีระพันธุ์ ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานร่วมเป็นกรรมการคนหนึ่ง
รองลงมาจาก กพช. คือ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. เป็นตัวเชื่อมระหว่าง กพช. กับหน่วยงานด้านพลังงาน ในการรับนโยบายที่ออกมาจาก กพช. ไปปฏิบัติมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน
กบง. ยังมีหน้าที่ เสนอแนะความเห็นในเรื่องพลังงานต่อ กพช. ด้วย และเลขาธิการ สำนักงาน กกพ. เป็นกรรมการอยู่ในบอร์ด กบง. ด้วย
การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 2,145 เมกะวัตต์ เป็นมติ กพช. ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 และกบง. มีมมติรับทราบ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 กกพ. เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบาย
กกพ . เป็นองค์กรอิสระ แต่ต้องทำงานตามกรอบของ มติ กพช . และ กบง. การสั่งให้ กกพ. ระงับ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ต้องเป็นมติของ กพช. และเป็นคำสั่งของประธาน กบง. ที่ต้องมีมติของที่ประชุมบอร์ด กบง. รองรับ
ไม่ใช่คำสั่งของ พีระพันธุ์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ยิงตรงถึงเลขาธิการ กกพ. เพราะพีระพันธุ์ไม่มีอำนาจสั่ง อำนาจเป็นของประธาน กพช. คือ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องเป็นมติที่ปะชุม กพช. เท่านั้น
พีระพันธุ์ อ้างว่า การรับซื้อพลังงานหมุนเสียนดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไข เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ต้องเป็นมติ กพช. และ กบง. รับทราบสั่งการให้ กกพ. ปฏิบัติ
1 ปี 4 เดือน ที่พีระพันธุ์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน กพช. มีการประชุม 4 ครั้ง ล่าสุดคือ วันที่ 14 พฤษจิกายนที่ผ่านมา
กบง. ที่พีระพันธุ์เป็นประธาน มีการประชุม 8 ครั้ง ล่าสุดคือ วันที่ 25 กันยายน 2567
ถามว่าในที่ประชุม กพช. และ กบง. หลายครั้งที่ผ่านมา ทำไมพีระพันธุ์ จึงไม่เสนอ กพช. ให้ทบทวนวิธีการรับซื้อ หรือสั่ง กกพ. ให้ระงับการรับซื้อไว้ก่อน
ถามว่าในฐานะประธาน กบง. ทำไมจึงไม่เสนอแนะ กพช. ในเรื่องนี้ และทำไมไม่สั่งให้ กกพ. ระงับการรับซื้อไว้ก่อน โดยใช้มติที่ประชุมกบง. แต่กลับออกคำสั่ง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซึ่งไม่มีอำนาจรองรับเลย
ตลอดเวลา 1 ปี 4 เดือน ที่พีระพันธุ์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่เคยพูดถึงนโยบายรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 2,145 เมกะวัตต์เลย จนกระทั่งหัวหน้าพรรคประชาชน ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. เรื่องการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 พีระพันธุ์ได้รับมอบหมายให้มาตอบแทน
พีระพันธุ์พยายามสร้างภาพตัวเองให้เป็น ‘พระเอก’ ด้วยการตอบว่า ถ้าช้ากว่านี้สักหน่อย กระทู้ของพรรคประชาชนจะไม่จำเป็น เพราะกำลังสั่งการให้ ทบทวน การรับซื้อ ในแนวทางที่สอดคล้องกับความเห็นของพรรคประชาชนคือ ใช้วิธีเปิดประมูล แข่งขันกันด้วยราคา แทนการตั้งราคารับซื้อตายตัว
พีระพันธุ์ ยังบอกด้วยว่า เกิดความผิดพลาดในการเขียนมติที่ประชุม เกี่ยวกับวิธีการรับซื้อ ซึ่งกำลังแก้ไขอยู่ โดยไม่บอกว่ามติที่ผิดพลาดนั้นคือ ‘มติของใคร เมื่อไร’
นั่นเป็นครั้งแรกที่สังคมได้ยินพีระพันธุ์ พูดถึงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นการพูดแบบ ‘เอาดีเข้าตัว’ แทนที่จะอธิบายถึงเหตุผลความจำเป็น ใมการรับซื้อครั้งนี้ และทำไมไม่ใช้วิธีประมูล ซึ่ง เลขาธิการ กกพ .คนก่อน ๆ เคยอธิบายในเรื่องเหล่านี้ไว้ชัดเจนแล้ว
อีก 3 สัปดาห์ต่อมา พีระพันธุ์ทำหนังสือถึงเลขา ฯ กกพ. สั่งระงับการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 2,145 เมกะวัตต์ไว้ก่อน แต่ กกพ. ยังเดินหน้าต่อไป เพราะการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นมติของ กพช. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน**‘ไม่มีอำนาจเหนือ** กพช.
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึง การทำงานของพีระพันธุ์ในช่วง 1 ปี 4 เดือนที่ผ่านมาว่า ‘ไม่เป็นงาน’ คือไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง และ ‘ไม่ทำงาน’ ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน แต่เน้นที่การ ‘สร้างภาพ’ กินข้าวกล่องในรถ นั่งมองจอคอมพิวเตอร์ ขับรถเอง
เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ นโยบาย รื้อ ลด ปลด สร้าง มีแต่ความว่างเปล่า