เปิดงบกำลังประจำถิ่น กว่า 4 พันล้านกับภารกิจพิทักษ์ จชต.

20 พ.ค. 2568 - 01:54

  • เปิดงบประมาณเทียบบัญญัติไตรยางศ์กับกำลังพลของหน่วยกำลังประจำถิ่นชายแดนใต้ ที่ร่วมกันของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม

  • กำลังพลนับหมื่นกับงบประมาณหลายพันล้าน กับแก้ปัญหาความไม่สงบ ที่ยังไม่เคยจบได้จริง แต่มีคนเจ็บจริง ตายจริง ไม่นับรวมทรัพย์สินเสียหาย

  • การบริหารงบแฝงจากมือที่น่าจะมองเห็น แต่พูดไม่ได้ พร้อมตั้งคำถามที่คนไทยทั้งประเทศรอคำตอบ…แต่ใคร(รู้จริง)จะช่วยตอบให้กระจ่างได้

กองกำลังประจำถิ่น ซึ่งเอ่ยถึงไปบางส่วนใน EP.5 มา EP.6 นี้จะขยายการใช้งบประมาณของแต่ละหน่วย สำหรับสมาชิกอาสารักษาดินแดน สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งขึ้นภายใต้การบังคับบัญชาของกองบังคับการควบคุมของกองอาสารักษาดินแดน จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ บก.ควบคุม อส.จชต.

ที่ตั้งของหน่วย ตั้งอยู่ภายในส่วนปฏิบัติการจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง ศูนย์ฝึกอบรมกองกำลังประจำถิ่นท่าสาป ตำบลท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา

โครงสร้างประกอบด้วย บก.อส.จชต. ที่ปฏิบัติงานในภารกิจด้านความมั่นคง จำนวน 6,925 อัตรา ประกอบด้วย 

ส่วน บก.ควบคุม อส.จชต. ที่ล่าสุดมีนายกองโท ดำรงศักดิ์ แก้วดวง ผู้ตรวจราชการกรมการปกครองเขต 7 ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับกองบังคับการควบคุมกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนบก.มีกำลังพล 271 นาย 

กองร้อย อส. ชุดรักษาความปลอดภัยบนขบวนรถไฟ จำนวน 224 อัตรา

กองร้อย อส. ชุดรักษาความปลอดภัยเขตเมือง จำนวน 5 เมือง เมืองละ 210 อัตรา รวม 1,050 อัตรา ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอเมืองยะลา อำเภอเบตง อำเภอเมืองนราธิวาส และอำเภอสุไหงโก-ลก

สมาชิก อส.ชุดคุ้มครองตำบล หรือ ชคต. จำนวน 164 ตำบล ตำบลละ 33 อัตรา รวม 5,412 อัตรา ประกอบด้วย

ชุดคุ้มครองตำบลในพื้นที่ 4 อำเภอของ จังหวัดสงขลา 15 ตำบล รวม 495 อัตรา

ชุดคุ้มครองตำบลในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 57 ตำบล รวม 1,881 อัตรา

ชุดคุ้มครองตำบลในพื้นที่จังหวัดยะลา 41 ตำบล รวม 1,353 อัตรา

ชุดคุ้มครองตำบลในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส 51 ตำบล รวม 1,683 อัตรา

ส่วนที่สองเป็นสมาชิก อส.ที่ปฏิบัติงานในภารกิจปกติของมหาดไทย จำนวน 4,564 อัตรา ปฏิบัติงานตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ซึ่งกำหนดไว้ 6 ประการ คือ 

(1) บรรเทาภัยที่เกิด จากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก 

(2) ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่าย ปกครองหรือตำรวจ 

(3) รักษาสถานที่สำคัญ และการคมนาคม 

(4) ป้องกันจารกรรม สดับตรับฟัง และรายงาน ข่าว 

(5) ทำการช่วยให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ต้องการ และตัดทอนกำลังข้าศึก 

(6) เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น

จำนวนสมาชิกอาสาสมัครรักษาดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ทั้ง 2 ส่วน ล่าสุดปี 2568 มีจำนวน 11,489 นาย 

งบประมาณในส่วนกำลังพลของสมาชิกอาสาสมัครรักษาดินแดน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 

เงินเดือนขั้นต้น 10,000 บาท ต่ออัตรา สูงสุด 16,000 บาทต่ออัตรา หรือค่าเฉลี่ยประมาณ 13,000 บาทต่ออัตรา หรือ 13,000 x 11,489 = 149,357,000 บาท ต่อเดือน หรือประมาณ 1,789 ล้านบาทต่อปี 

นอกจากนั้นยังมีค่าตอบแทนพิเศษ สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา อีกคนละ 2,500 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับ 2,500 x 11,489 = 28,722,500 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 344 ล้านบาทต่อปี 

รวมงบประมาณกำลังพลของบก.อส.จชต. 1,789 + 344 = 2,133 ล้านบาทต่อปี 

ยังไม่รวมงบประมาณจัดหาอาวุธประจำกาย ที่ปัจจุบันอาสาสมัครรักษาดินแดนใช้อาวุธประจำกาย เป็นปืนเล็กยาว HK-33 A2 โดยราคาที่เคยประกาศจัดซื้อ ประมาณ 78,000 บาทต่อหนึ่งกระบอก และปืนสั้นประจำกาย ขนาด 9 มม. ราคาที่เคยประกาศจัดซื้อ ประมาณ 55,000 บาท ต่อหนึ่งกระบอก

ส่วนอีกกองกำลังประจำถิ่น ที่กองทัพบกจัดตั้งขึ้นเพื่อทดแทนกำลังทหารหลักที่จะต้องถอนออกจากพื้นที่ คือ กองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนใต้ 

อัพเดทล่าสุด กกล.ทพ.จชต. ประกอบด้วย 9 กรมทหารพราน หรือ จำนวน 144 กองร้อยทหารพราน 9 หมวดทหารพรานหญิง จำนวน 13,868 อัตรา ประกอบด้วย

กรมทหารพรานที่ 41 กรมทหารพรานที่ 42 กรมทหารพรานที่ 43 กรมทหารพรานที่ 44 กรมทหารพรานที่ 45 กรมทหารพรานที่ 46 กรมทหารพรานที่ 47 กรมทหารพรานที่ 48 กรมทหารพรานที่ 49และหมวดทหารพรานหญิง

ผู้บังคับการกรมทหารพรานแต่ละกรม อัตราเทียบเท่าผู้บังคับกองพัน แต่มีอัตราพันเอก หรือที่เรียกกันว่า ผู้พันอัตราพันเอก 

ผู้การแต่ละกรม จะมีบังคับบัญชากำลังทหารพราน ประกอบด้วยอัตราเต็มกำลัง กรมละ 1,489 นาย จำนวน 16 กองร้อย กองร้อยละ 90 นาย และ 1 หมวดทหารพรานหญิง 49 นาย 

หนึ่งกองร้อยจะเป็นอาสาสมัครทหารพราน 74 นาย นายทหารประทวนและสัญญา บัตร 16 นาย หรือคิดเป็น 82.22% ถือว่า เป็นกำลังพลผู้ปฏิบัติงานหลักของกองร้อย(ข้อมูลจากเอกสารวิจัยส่วนบุคคล เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของอาสาสมัครทหารพรานกองทัพบก ของพันเอก บุญส่ง พรมนิล ขณะดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากองยุทธการ มณฑลทหารบกที่ 25 วิทยาลัยการทัพบกปี 2564)

ดังนั้น 1 กรมทหารพราน จะเป็นกำลังพลที่เป็นอาสาสมัครทหารพราน กองร้อยละ 74 นาย หรือ 1,184 นาย และทหารพรานหญิง 40 นายโดยเฉลี่ย รวมกรมละ 1,224 อัตรา

กกล.ทพ.จชต. จำนวน 9 กรม จึงมีกำลังพลเฉพาะอาสาสมัครทหารพราน รวม 9 x 1,224 = 11,016 อัตรา 

ส่วนงบประมาณค่าตอบแทนกำลังพลทหารพรานนั้น งานวิจัยส่วนบุคคลของ พ.อ.บุญส่ง ระบุว่ากองทัพบกได้ดูแลสวัสดิการความเป็นอยู่กำลังพลชั้นผู้น้อยทุกระดับ สำหรับอาสาสมัครทหารพราน ได้กำหนดหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนสิทธิประโยชน์ ได้แก่ เงินเดือน เงินเพิ่มการครองชีพพิเศษชั่วคราว 

สำหรับผู้ที่ได้รับเงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท ให้ได้รับเงินรายเดือนไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท โดยมีอัตราเงินเดือนสูงสุดที่ 16,790 บาท เงินเบี้ยเลี้ยงสนามคนละ 200 บาท/วัน เงินค่าเสบียงอาหารคนละ 15 บาท/วัน เฉลี่ยจะได้รับเงินต่อเดือน 17,000 บาท ต่อคน 

เมื่อแยกเป็นเงินเดือนเฉลี่ยคนละ 13,000 บาท งบประมาณด้านเงินเดือนของ กกล.ทพ.จชต. แต่ละกรม โดยประมาณ คือ 13,000 x 1,224 = 15,912,000 บาท หรือประมาณ 15 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 180 ล้านบาทต่อปี 

ส่วนเบี้ยเลี้ยงสนาม จำนวน 200 บาท ต่อคน ต่อวัน ประมาณ 1,224 x 200 = 244,800 บาทต่อวัน หรือ 7,344,000 บาทต่อเดือนต่อกรม หรือ 88 ล้านบาทต่อปี 

ส่วนค่าประกอบเลี้ยงคนละ 15 บาทต่อคนต่อวัน ประมาณ 1,224 x 15 = 18,360 บาทต่อวัน หรือ 550,800 บาทต่อเดือนต่อกรม หรือ 6.6 ล้านบาทต่อปี 

ผู้บังคับการกรมทหารพรานแต่ละกรม จึงมีงบประมาณด้านกำลังพลที่เป็นเงินเดือน 15 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 180 ล้านบาทต่อปี เบี้ยเลี้ยงสนาม 7.3 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 88 ล้านบาทต่อปี ค่าประกอบเลี้ยง 550,800 บาทต่อเดือน หรือ 6.6 ล้านบาทต่อปี 

รวมแต่ละกรม จะมีงบประมาณด้านกำลังโดยเฉลี่ยกรมละ 22.85 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 274.2 ล้านบาทต่อปี 

กกล.ทพ.จชต. จำนวน 9 กรม จึงมีงบประมาณด้านกำลังพล เดือนละ 205.7 ล้านบาท หรือ 2,467 ล้านบาทต่อปี 

อัตรากำลังพลของกองกำลังประจำถิ่น ทั้งอาสาสมัครรักษาดินแดน และอาสาสมัครทหารพราน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา จึงมีกำลังพลโดยรวมประมาณ    11,489 + 11,016 = 22,505 นาย 

งบประมาณกำลังพล ทั้งเงินเดือน ค่าตอบแทนพิเศษรายเดือน เบี้ยเลี้ยงสนาม และค่าประกอบเลี้ยง รวมทั้ง 2 กองกำลัง ประมาณ 2,133 + 2,467 = 4,600 ล้านบาท ต่อปี 

กำลังพล 22,505 นาย และงบประมาณ 4,600 ล้านต่อปี กำลังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ถูกตั้งคำถามว่า เป็นโมเดลที่แก้ปัญหาไฟใต้ถูกทางหรือไม่ ท่ามกลางเหตุร้ายรายวัน ที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง 

หมายเหตุ 

งบ 4,600 ล้านบาท เป็นงบประมาณด้านกำลังพลเท่านั้น ไม่นับรวมงบประมาณโครงการอื่นๆ งบการข่าว งบจัดซื้ออาวุธ อุปกรณ์พิเศษ และงบด้านความมั่นคงอื่นๆ 

อย่าแปลกใจ…ที่ทำไมเรื่องเล่าขาน ตำนาน มือที่มองเห็น ซึ่งยังคงสอดแทรกเข้าไปก้าวก่ายการบริหารงานในกองทัพภาคที่ 4 ยังคงเป็นเรื่องเล่าขำๆ และเล่าสู่กันฟังในวงกาแฟแบบไม่รู้จบ 

เล่าไป ขำไป แต่ไม่มีใครยอมหรือกล้ายืนยันว่า เป็นเรื่องจริง หรือ แค่เรื่องเล่า เม้าท์กันสนุกๆ 

ใครรู้จริง…ยกมือขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์