เรือธงล่มอีก บิ๊ก กปปส.ฉุนขวางนิรโทษกรรม

16 ต.ค. 2567 - 03:00

  • จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สะดุด

  • ต้องรอการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ที่่ถูก

  • ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะเสร็จทันสมัยประชุมนี้หรือไม่

politics-thailand-law-amnesty-rally-SPACEBAR-Hero.jpg

วันนี้ไม่เพียงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สะดุด เพราะต้องรอการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ที่่ถูกวุฒิสภาเสียบสกัดและอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา ซึ่งไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะเสร็จทันสมัยประชุมนี้หรือไม่เท่านั้น

กฎหมายนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองก็ทำท่าจะสะดุดตามไปด้วย

เดิมมีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสองฉบับที่ถูกเสนอเข้าสู่สภา โดยร่างหนึ่งเป็นของพรรคประชาชน หรือพรรคก้าวไกลเดิม ส่วนอีกร่างเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งสองร่างแตกต่างทั้งชื่อและเนื้อหา แต่โครงเดียวกัน คือ นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง

ทว่าก่อนที่สภาผู้แทนราษฎร จะได้พิจารณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาลได้เสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก่อน ซึ่งใช้สูตรเดียวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

แทบจะเป็นก๊อปปี้เดียวกันด้วยซ้ำ

ที่สรุปอย่างนั้น ก็เพราะหลังศึกษาเสร็จ แทนที่จะให้ทุกอย่างเดินหน้าไปต่อ แต่กลับมีเหตุให้ต้องหยุดชะงักลงเสียอย่างนั้น และเพิ่งจะได้ฤกษ์นำเข้าที่ประชุมสภาฯ วันพรุ่งนี้(7 ต.ค.67) แต่ก็ยังก้ำกึ่งว่าจะเลื่อนออกไปอีกหรือไม่

โดยเหตุผลที่นำมาอ้างเลื่อนการพิจารณา เนื่องจากเห็นว่า พรรคการเมืองยังเห็นไม่ตรงกันโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล จึงเกรงจะเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก่อนหน้านี้

การอ้างเหตุผลดังกล่าว ดูเหมือนจะไม่ค่อยแนบเนียนนัก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การชิงยื่นขอแก้ไนรัฐธรรมนูญรายมาตรา 6 ประเด็น ของพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นการออฟไซด์ของเพื่อไทยเอง จนถูกพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันหมั่นไส้

แถมไม่สำนึกยังไปปกล่าวหาพรรคอื่นว่า ‘กลับลำ’ อีก เลยถูกสั่งสอนซ้ำเรื่องติดเบรคแก้กฎหมายประชามติ

ส่วนเรื่องผลศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นคนละแบบกัน เพราะได้ตกผลึกร่วมกันในชั้นกรรมาธิการที่ศึกษาแล้วว่า จะไม่มีการเคาะว่าจะเอาแบบไหน แต่จะสรุปเป็น 3 แนวทาง พร้อมแนบความเห็นเสนอให้ที่ประชุมสภาฯ ไปว่ากันเอาเอง 

โดยทั้งสามแนวทางที่ว่านั้น เฉพาะคดีที่มีความอ่อนไหวเกี่ยวกับมาตรา 112 เท่านั้น ได้แก่

1.ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว

2.เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไข ซึ่งได้เสนอเงื่อนไขไว้ด้วย

3.เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยไม่มีเงื่อนไข

ส่วนเนื้อหาที่เหลือเป็นโครงใหญ่ ต่างเห็นพ้องร่วมกันทั้งหมด อาทิ ช่วงเวลาในการนิรโทษกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน คดีหลัก คดีรอง รวมทั้ง นิยามของคําว่า 'การกระทําที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง'

เมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันอย่างนี้แล้ว จึงไม่มีเหตุที่ต้องเลื่อนนำผลศึกษาเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ผ่านมาถูกฝ่ายค้านทวงถามอยู่หลายครั้ง เพราะเกรงจะไม่ทันสมัยประชุมที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ตุลาคมนี้

แต่ที่คนในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันกังขา คือ ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคฯ ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการนำผลศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ เข้าสภาฯ ในสัปดาห์นี้ 

โดยจุรินทร์ มองว่า ผลศึกษาดังกล่าวของคณะกรรมาธิการฯ เป็นเรื่องล่อแหลม เนื่องจากได้มีการเสนอแนวทางการนิรโทษกรรมความผิด มาตรา 112 เข้าไปด้วย ซึ่งยังเป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างกันอยู่มาก ทั้งในหมู่พรรคการเมือง แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน และประชาชน

‘หากสภาฯ พิจารณาแล้วมีมติเห็นควรส่งให้รัฐบาลรับไปพิจารณา ปัญหาก็จะตกไปอยู่กับรัฐบาล ผมเห็นว่าขณะนี้รัฐบาลมีปัญหามากแล้ว ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ จนแก้กันไม่หวาดไม่ไหว จึงเห็นว่ายังไม่ควรเอาเรื่องนี้สุมเพิ่มเข้าไปอีก’

การออกมาให้ความเห็นเพียงไม่กี่ประโยคข้างต้นของ ‘อู๊ดด๊า’ เหมือนจะผิดฝาผิดตัวไปสักหน่อย เพราะค่อนไปทางห่วงใยเสถียรภาพรัฐบาลเป็นพิเศษ ซึ่งไม่น่าจะเป็นความเห็นที่ออกมาจากปากคนในประชาธิปัตย์ แถมยังอยู่กันคนละฟากกับกลุ่มที่เข้าร่วมรัฐบาลอีกต่างหาก

เรื่องนี้บนหน้าสื่อแม้จะไม่มีเสียงคัดค้านออกมาให้เห็น แต่กลับมีเสียงสบถ ก่นด่าอู๊ดด๊า ดังลั่นมาจากระดับ ‘บิ๊กกปปส.’ เดิม ที่เป็นศิษย์เก่าประชาธิปัตย์ เพราะออกแรงผลักดันเรื่องนิรโทษกรรมมานาน แต่กลับถูกคำพูดหล่อ ๆ เพียงไม่กี่ประโยค ทำให้ความหวังต้องหลุดลอยไกลออกไปอีก 

วันนี้แม้พรรคประชาธิปัตย์ และรวมไทยสร้างชาติ จะมีมติคว่ำรายงานผลการศึกษาเพราะติดใจเรื่องมาตรา 112 ก็เป็นจุดยืนเดิมที่เคยประกาศไว้ และคนที่ออกมาพูดก็ไม่ได้เคยร่วมเป่านกหวีดด้วย

การแสดงท่าทีดังกล่าว จึงได้สร้างความขุ่นมัวในจิตใจให้กับกลุ่มคนที่ออกแรงขุดบ่อในช่วงนั้นไม่น้อย

ดังนั้น วงข้าวพรรคร่วมรัฐบาลที่จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคมนี้ นอกจากจะล้างใจเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ กฎหมายประชามติ และเรื่องอื่นๆ แล้ว คงต้องมาถามใจเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมกันอีกรอบ ตกลงจะเอากันอย่างไร 

เพราะแกนนำแกนนอนที่มีคดีติดตัวพะรุงพะรังเขารอกันมานานแล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์