แม้คนในพรรครัฐบาลหลายคน จะยังคงมีความหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จทันการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2570 ทั้งๆ ที่เวลาล่วงเลยมาถึงวันนี้ ปฏิทินที่วางเอาไว้แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้วก็ตาม
‘ผมยังหวังอย่างนั้น’
‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีหมวกอีกใบเป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามนักข่าวไว้ในช่วงต้นสัปดาห์ หลังการนัดหมายพูดคุยกันในกลุ่มหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก
แต่มือกฎหมายเพื่อไทย ก็ยังหวังจะได้รัฐธรรมนูญใหม่ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าอยู่
ไม่เพียงมือกฎหมายรัฐบาลเท่านั้น ‘นิกร จำนง’ ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ถูกวางตัวให้ขับเคลื่อนงานด้านกฎหมายและทำงานคู่กับชูศักดิ์มาตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นคณะทำงานศึกษาในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ก็มีความรู้สึกที่ไม่ต่างกัน
‘ตราบใดที่ยังมีเวลาเหลืออยู่ ตราบที่ยังมีลมหาย ก็เชื่อว่าจะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่’
นิกร อาจจะขีดกรอบไว้ไกลสักหน่อย เพราะไม่ได้ตั้งหมุดหมายว่าต้องทันเลือกตั้งครั้งต่อไปเท่านั้น แต่ตราบที่ยังมีลมหายใจก็จะผลักดันเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต่อไป
คงเป็นเพราะประเมินสถานการณ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลนาทีนี้ โอกาสจะได้เห็นความ**‘รอมชอม’**เกิดขึ้น น่าจะเป็นไปได้ยาก ไหนจะแก้กฎหมายประชามติ ที่เห็นไม่ตรงกันแล้ว ยังถูกเทเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมอีกต่างหาก
ทำให้ทุกอย่างดูรวนไปหมด โดยเฉพาะความเป็นแกนนำรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ที่นับวันยิ่งถูกท้าทายเพิ่มขึ้น
‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ผู้จัดการรัฐบาล ถึงกับออกอาการหงุดหงิดเล็กน้อย เมื่อถูกถามถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ถ้าเสร็จไม่ทันจะเป็นปัญหาหรือไม่
‘อย่าพึ่งพูดถ้าเรายังไม่รู้ เวลายังเหลืออีกสองปีกว่า เกือบสามปี อย่าพึ่งถ้า รอให้สถานการณ์มันเกิด มันมีเงื่อนไขอีกหลายอย่าง’
คำตอบที่ว่าของภูมิธรรม เท่ากับ**‘ยอมรับ’**ถึงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น จะต้องมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพมากขึ้น
‘ความตั้งใจของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำ เราพยายามทำให้ทัน แต่จะทันหรือไม่นั้น อยู่ที่การถกเถียง ความเห็นต่างหากไม่มากก็เดินได้เร็ว แต่ถ้าเห็นต่างกันมากก็ต้องใช้เวลา’
พูดเหมือนจะเข้าใจปัญหาแต่ก็แฝงความรู้สึกแบบปลง ๆ ไว้อยู่บ้าง
ในขณะที่ ‘สิงห์หนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ปลุกคนกระทรวงคลองหลอด ให้ทำตัวเป็นสิงห์และต้องไม่ร้อง ‘เงี๊ยว’ ยังคงยืนหลักชัดเจนการออกเสียงประชามติเรื่องสำคัญต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้น
พร้อมกับย้ำถึงจุดยืนดังกล่าวของพรรคภูมิใจไทย เป็นการยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน ในการที่จะมีดับเบิ้ลล็อค ซึ่งจะมีความรอบคอบมากกว่า
‘ไม่ใช่เด็กดื้อ แต่เป็นการรักษาประโยชน์ของพี่น้องประชาชน จะเป็นความดื้อได้อย่างไร’
อนุทิน ยัง ‘ตำหนิ’ คนที่พูดถึงพรรคภูมิใจไทยมีความสัมพันธ์กับ สว.ไม่ควรกล่าวในลักษณะชี้นำหรือทำให้ประชาชนสับสน เพราะสส./สว.และรัฐบาลต่างทำหน้าที่ของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ ไม่ก้าวก่ายกัน
วันนี้อนุทิน ไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาลอันดับสอง แต่มีหลายอย่างที่มากกว่านั้น โดยเฉพาะมีภาพของฝ่ายอนุรักษ์นิยมทาบอยู่ด้วย ส่วนเพื่อไทย ที่ไม่ยอมรับความเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ ที่มีคนยัดเยียดให้
แต่ในชีวิตจริงเพื่อไทย ก็น่าจะเป็นเพียง**‘ไพ่ใบหนึ่ง’** ที่ถูกหยิบมาสู้กับพรรคสีส้มในสถานการณ์นี้เท่านั้น
เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ระยะหลังการแสดงออกของพรรคภูมิใจไทย จึงค่อนไปทาง ‘ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ’ ฉบับคสช.ที่ถูกโฉลกกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมเสียมากกว่า ไม่ว่าการถูกกล่าวหาเรื่องกลับลำรื้อปมจริยธรรม จนมาถึงเห็นคล้อยตามสว.ที่ไม่เอาประชามติแบบเสียงข้างมากชั้นเดียว
ดูทรง ดูทางตามนี้แล้ว โอกาสจะได้เห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดย ‘สสร.’ ในรัฐบาลชุดนี้คงยาก อย่างดีก็ได้แค่ผ่อนบรรยากาศให้แก้ไขรายมาตราได้บ้างเท่านั้น
รอฟังคำตอบจากวงข้าวมื้อค่ำของพรรคร่วมรัฐบาลในวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคมนี้ แต่ก็เดาล่วงหน้าได้ว่า จะยังไม่มีคำตอบสุดท้ายเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่?