หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกล ได้ สส.เข้าสภามาเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 151 ที่นั่ง ได้สร้างปรากฎการณ์อย่างหนึ่่งให้กับหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
นั่นคือ การสอบตกของนักการเมืองที่เรียกกันว่า ‘กลุ่มบ้านใหญ่’
โดยในหลายจังหวัดที่ผูกขาดเก้าอี้สส.และส่งผ่านกันรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลานาน แต่การมาของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ก้าวเข้าสู่สนามการเมือง เริ่มจากพรรคอนาคตใหม่ มาสู่พรรคก้าวไกล ทำให้ประชาชนหันมาเทคะแนนให้คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ ที่มาพร้อมกับความคิดใหม่ ๆ แม้ในบางเรื่องจะรับไม่ได้ทั้งหมด
แต่เพื่อต้องการหนีความจำเจที่จมปลักอยู่กับการเมืองแบบเดิม ๆ ที่ไม่มีความหวังมานาน
ทว่าหลังการ**เลือกตั้งนายก อบจ.และส.อบจ.**ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งจากเหนือจรดใต้ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ชายพระนครอย่าง สมุทรปราการ นนทบุรี รวมทั้ง ในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง ปรากฏว่า นักการเมืองในสังกัดกลุ่มบ้านใหญ่ พากันตบเท้าได้รับชัยชนะในทุกสนาม
เป็นการ ‘รีเทิร์น’ กลับมาอีกครั้งของการเมืองแบบบ้านใหญ่!!
หากจะถอดบทเรียนการเลือกตั้งหนนี้ ที่ทำให้นักการเมืองบ้านใหญ่กลับมามีอิทธิพลเหนือการเมืองไทยอีกคำรบ น่าจะมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน อย่างแรกเลย เพราะเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ที่ยึดโยงอยู่กับระบบอุปถัมภ์ ซึ่งนักการเมืองบ้านใหญ่มีเครือข่ายเข้าถึงได้มากและมีความได้เปรียบเป็นทุนอยู่แล้ว
ถัดมาเป็นเรื่องของกติกา ที่กกต.กำหนดให้หย่อนบัตรลงคะแนนในวันเสาร์ ซึ่งผิดแผกแตกต่างไปจากการเลือกตั้งในอดีตที่มักจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ จึงทำให้มีผู้มาใช้มีสิทธิ์เพียง 58 % ลดลงจากการเลือกตั้งในปี 2563 ที่มาใช้สิทธิ์ 62%
เรื่องนี้แม้เลขาธิการ กกต.แสวง บุญมี จะพยายามอธิบายว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะการเลือกตั้งนายก อบจ.จำนวน 29 จังหวัด ในเดือนธันวาคม 2567 ก็จัดขึ้นในวันอาทิตย์ แต่มีผู้มาใช้สิทธิ์เพียง 53% เท่านั้น
ตรงนี้ไม่แน่ใจเลขาฯ แสวง ใช้ตรรกะอะไรมาวัด เพราะนั่นเป็นการเลือกตั้งซ่อมทีละจังหวัด แต่ที่สังคมกังขาคือการเลือกตั้งที่จัดขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศต่างหาก
แต่เอาเถอะ ก็ให้ท่านแถของท่านไป
ส่วนอีกกติกาคือ การเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่มีการหย่อนบัตรล่วงหน้าในเขต-นอกเขตหรือการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเหมือนการเลือกตั้งทั่วไป จึงทำให้ถูกโฉลกและเข้าทางการเมืองสไตล์บ้านใหญ่มากกว่า
นอกจากนั้น การเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีความแตกต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติ คือไม่มีเรื่องของกระแสคอยขับเคลื่อนเป็นลมใต้ปีกให้ แต่จะอิงกับกระสุนและความสามารถในการจัดการล้วน ๆ
แพ้ชนะวัดกันที่ตรงนี้ ไม่ใช่การเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่มีคนแห่มาฟังกันล้นหลาม!!
เพราะนักการเมืองด้วยกันจะรู้ว่า การจัดเวทีใหญ่แต่ละครั้ง คนที่แห่แหนแตร๋น แตร๋นแต้กันมาฟังมืดฟ้ามัวดินนั้น มาด้วยวิธีการแบบไหน..ดังนั้น การจัดเวทีปราศรัยใหญ่ จึงเป็นการเรียกขวัญกำลังใจให้ตัวผู้สมัคร ทีมงาน และข่มขวัญคู่ต่อสู้เสียมากกว่า
ไม่ได้หวังจะได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำจากเวทีปราศรัยดอก
ทีนี้ข้อน่าสังเกตอีกอย่าง คือ จำนวนผู้ที่กาในช่องไม่เลือกผู้สมัครคนใด หรือ Vote no และบัตรเสีย ที่มีจำนวนมาก โดยบัตรเสียเลขาธิการ กกต.ชี้แจงว่า มาจากตัวผู้เลือกเองที่สับสนระหว่างหมายเลขผู้สมัครนายก อบจ.และหมายเลขของ ส.อบจ.ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครไม่เท่ากัน ทำให้ไปกาในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร
เป็นบัตรเสีย ที่ไม่ได้ตั้งใจทำให้บัตรเสีย ประมาณนั้น
แต่สำหรับคะแนนในช่อง Vote no เลขาธิการ กกต.ขอไม่ให้คำตอบ เพราะเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะแสดงออกทางความรู้สึกในการเลือกตั้ง หรือต่อผู้สมัคร
ตรงนี้แหล่ะ ที่จะเป็นการถอดบทเรียนอีกประเด็นของการเลือกตั้งท้องถิ่นหนนี้ ซึ่งแน่นอนผู้ที่กาในช่อง Vote no ย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจการเลือกตั้งเป็นอย่างดี เพราะไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใด จนมีผลทำให้ ส.อบจ.ใน 3 เขตเลือกตั้ง 3 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี ตรัง และชุมพร ที่มีคะแนนน้อยกว่า Vote no ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั้ง 3 เขต
นี่คือพลังของ Vote no ที่ประชาชนสามารถปฏิเสธผู้สมัคร ไม่ว่าจะลงสมัครเองหรือพรรคการเมืองส่งมาก็ตาม แต่ในกรณีที่ไม่มีคะแนนมากพอไปคว่ำผู้สมัครได้ คะแนน Vote no ที่มีจำนวนหลาย ๆ หมื่นเสียง หรือเป็นเรือนแสน ก็จะเป็นได้แค่การแสดงออกทางความรู้สึกเท่านั้น
ในทางกลับกันหากคะแนนเรือนหมื่น เรือนแสนที่ว่า ไปกาให้กับผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะที่แข่งขันกันก็จะทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้ อย่างที่มักพูดถึงกันอยู่เสมอว่า หากไม่มีคนดีให้เลือก **‘ก็เลือกคนที่เลวน้อยที่สุด’**ทำนองนั้น
เอาเถอะ ถือเป็นสิทธิ์และเป็นเจตจำนงของผู้ลงคะแนนแต่ละคนไป
เพียงแต่ตัวเลขที่ออกมาโดยเฉพาะในส่วนของนายก อบจ.ที่กาช่อง Vote no รวมกันมีมากกว่า 1 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 7.06% นั้น นับเป็นจำนวนที่มากโขอยู่
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนที่เป็นนักการเมือง นักเลือกตั้ง คงต้องนำไปคิดและหาคำตอบให้ตัวเอง เพราะคงไม่ใช่แค่สัญญาณการกลับมาของการเมืองบ้านใหญ่เพียงอย่างเดียว อาจจะเบื่อนักการเมืองที่ไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง
แต่อย่าเพิ่งเบื่อประชาธิปไตยกันล่ะ