คงต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเพียงไม่กี่เดือน รัฐบาลซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำที่มีนายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร ทำให้ตัวเองตกอยู่ในภาวะล้มละลายในด้านความน่าเชื่อถือได้อย่างรวดเร็วจนน่าประหลาดใจ เนื่องจากการเดินหมากผิดพลาดในหลาย ๆ เรื่อง
ที่เป็นเช่นนี้ คงไม่เพียงเพราะคนส่วนใหญ่จะเชื่อว่ารัฐบาลนี้ถูกครอบงำและครอบครองโดย ‘พ่อนายกฯ’ คือ ทักษิณ ชินวัตร แล้วตัวนายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธารเองก็ไม่ได้แสดงหรือพิสูจน์ให้ผู้คนได้ประจักษ์ถึงภาวะผู้นำที่มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะมานั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย
ซ้ำร้ายกลับมีแต่คำถามที่ทำให้ผู้คนขาดความเชื่อมั่นในความสามารถที่จะบริหารประเทศในยุคที่มีพลวัตรแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่รวดเร็วและรุนแรงจากต่างประเทศ
ที่สำคัญแนวคิดและนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญๆหลายอย่างก็ถูกตั้งคำถามด้วยความ**‘หวาดระแวง’** เรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล จนน่าเป็นห่วงว่าทั้งหมดอาจจะนำไปสู่ความเป็น ‘รัฐล้มเหลว’ หากรัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือในการบริหารประเทศต่อไป
กรณีล่าสุดในความพยายามที่จะ**‘รื้อฟื้น’การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยระหว่างไทยและกัมพูชาภายใต้กรอบ ‘บันทึกความเข้าใจ (MOU) 2544’ ก็กลับมากลายเป็นประเด็นร้อน ที่ทำให้เกิดความหวาดระแวงว่าอาจจะมี‘วาระซ่อนเร้น’ในการเอื้อผลประโยชน์ของ‘สองตระกูล’**ข้ามชาติ (ไทยและกัมพูชา) เพราะผู้นำของทั้งสองตระกูล (ตระกูลชินวัตรและตระกูลฮุน) มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแนบแน่น
ความพยายามในการจะเร่งดำเนินการที่จะนำพลังงานจากทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ทะเลในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนที่กินอาณาเขตสูงถึงกว่า 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตรขึ้นมาใช้แบบ ‘เร่งรัด’ และ ‘เร่งรีบ’ ทำให้ถูกตั้งคำถามในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และนำไปสู่ความหวั่นเกรงว่าอาจนำไปสู่การเสียอธิปไตยเหนือดินแดนบางส่วนของไทยในอนาคต จนเกิดวาทะกรรม ‘คลั่งชาติ หรือ ขายชาติ’ จุดชนวนความขัดแย้งทางการเมืองตามมาอย่างรุนแรง
หากมองย้อนหลังความพยายามในเรื่องนี้ จะพบว่าเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของไทย เพราะต้องยอมรับว่า หลังจากมีการสำรวจพบแหล่งพลังงานปิโตรเลียมใต้ทะเล และมีการให้สัมปทานกับทุนพลังงานต่างชาติและของไทยมาตั้งแต่ปี 2511 แต่ก็ต้อง ‘หยุดชะงัก’ ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อเกิดข้อโต้แย้งในการกำหนดอาณาเขตทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชาจนทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลจำนวนมหาศาลดังกล่าว

เชื่อกันว่าผลประโยชน์หากมีการนำพลังงานทั้งก๊าซปิโตรเลียมและน้ำมันขึ้นมาใช้จะสามารถสร้างรายได้จากพลังงานและพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้คิดเป็นมูลค่าถึงกว่า ‘10 ล้านล้านบาท’ แต่ทุกอย่างก็หยุดชะงักมาเกือบ 50 ปี เมื่อเกิดข้อโต้แย้งสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนมาจนถึงวันนี้
ที่ผ่ามมาสัมปทานสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล รัฐบาลกำหนดให้ยึดตามมติ ครม.ปี 2518 ที่ให้ยุติการสำรวจในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด แต่ผู้สิทธิสัมปทานยังคงเป็นของผู้รับสัมปทานเดิม โดยรัฐบาลไม่ได้ประกาศ ‘ยกเลิก’ เพื่อเป็นการยืนยันว่าไทยยังอ้างสิทธิอย่างสมบูรณ์ในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลสัมปทานในขณะนั้นได้หยุดนับเวลาอายุสัมปทานจนถึงปัจจุบัน
ผู้ได้รับสัมปทานพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย
1.แปลง B5 และ B6 คือ Idemitsu Oil เป็นผู้ดำเนินงานหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 50% และมีพันธมิตรคือ Chevron E&P สัดส่วน 20% ,Chevron Blocks 5 and 6 สัดส่วน 10% ,Mitsui Oil Exploration Co.Ltd. สัดส่วน 20%
2.แปลง B7,B8 และ B9 คือ British Gas Asia เป็นผู้ดำเนินงานหลักถือสัดส่วน 50% และพันธมิตร คือ Chevron Overseas สัดส่วน 33.33% และ Petroleum Resources สัดส่วน 16.67%
3.แปลง B10 และ B11 คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 60% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 40%
4.แปลง B12 และ B13 (บางส่วน) คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 80% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 20%
5.แปลง G9/43 และ B14 ผู้รับสิทธิ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.
หากรัฐบาลเดินหน้าเจรจาภายใต้กรอบข้อตกลง MOU ปี 2544 กับกัมพูชาสำเร็จ มีการกำหนดแนวทางไว้ว่าจะเปิดโอกาสให้**‘กลุ่มผู้รับสัมปทานรายเดิม’**มีสิทธิเข้าไปพัฒนาต่อ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาจะออกมาอย่างไร โดยหากไทยมีสิทธิพัฒนาพื้นที่ 100% จะทำให้ผู้รับสัมปทานได้สิทธิสำรวจและได้สัมปทานตามเดิม
แต่หากไทยและกัมพูชามีการเจรจาได้ข้อสรุปใช้รูปแบบ **‘การพัฒนาพื้นที่ร่วม’**หรือ JDA ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยต้องเจรจากับผู้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทยทั้ง 5 กลุ่ม ส่วนรัฐบาลกัมพูชาก็ต้องเจรจากับผู้รับสิทธิสัมปทานจากกัมพูชา
ซึ่งจะนำไปสู่การทำยกเลิกสัญญาสัมปทานเดิม และนำมาสู่การทำสัญญาร่วมลงทุนพัฒนาระหว่างไทยและกัมพูชา และเอกชนที่รับสัมปทานเดิมอาจได้รับสัญญาสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมฉบับใหม่ โดยใครจะได้รับสิทธิเท่าใดขึ้นอยู่กับการเจรจาในขั้นตอน JDA
ในฝั่งกัมพูชา มีรายงานข่าวว่า ได้มีการแปลงพื้นที่สัมปทานในแปลงที่ 1 และ 2 ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ของไทย ในแปลง B 5-B 9 โดยให้สัมปทานกับ บริษัทคอนติเนนตัล ออยล์ Conoco Inc จากสหรัฐฯ เป็นผู้ดำเนินการหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 66.667% และ Idemitsu Oil สัดส่วน 33.333%
ส่วนพื้นที่ที่เหลือในแปลงที่ 3 ซึ่งทับซ้อนกับ แปลงที่ B 10-11 ของไทย ให้สัมปทานกับ Total ของฝรั่งเศส และพื้นที่สุดท้าย ซึ่งทับซ้อนกับแปลง B12/13 G9/43 และ B ของไทย จะให้สัมปทานกับ กลุ่ม Mitsui Oil Exploration และ Conoco

ที่ผ่านมาผลจากความพยายามจะมีสิทธิ์ ‘มีพื้นที่ที่มีแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียม’ ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้กัมพูชา**‘ชิงประกาศ’** เขตพื้นที่อาณาเขตทางทะเลแบบไม่ได้อ้างอิงกฎหมายระหว่างประเทศใดในปี 2515
โดยลากเส้นไหล่ทวีปของประเทศกัมพูชาเริ่มจากหลักหมุดที่ 73 จากจุดแบ่งดินแดงทางบก ตัดตรงมาทางทิศตะวันตกไปยังจุดกึ่งกลางอ่าวไทย จนตัดผ่าเกาะกูดของไทย ซึ่งผิดหลักกฎหมายทะเลระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง และทำให้เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากลงมาทางทิศใต้ กินพื้นที่อธิปไตยทางทะเลของไทยไปถึง 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร
ที่เป็นเช่นนี้เพราะเส้นอาณาเขตทางทะเลของไทยที่ประกาศตามมาในปี 2516 ซึ่งยึดหลักการตาม**‘อนุสัญญาเจนีวา’** ว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ.1958 ที่ลากจากหลักหมุดที่ 73 ออกมายังจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยและเกาะกงของกัมพูชาไปยังกลางอ่าวไทย
เพราะผลประโยชน์ในแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมดังกล่าว ทำให้การลาก ‘เส้นสมมุติ’ อาณาเขตทางทะเลของกัมพูชา ถึงแม้ต่อมาจะยอมลากอ้อมผ่านเกาะกูด โดยยอมรับว่าเป็นดินแดนของไทย แต่ก็ไม่ยอม**‘ขยับเส้นสมมุติ’** ดังกล่าวให้ทแยงลงจากแนวด้านตะวันตก เพราะต้องการรักษาพื้นที่ซึ่งอ้างว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อหวังผลในการเจรจาในการแบ่งปันผลประโยชน์ในสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
แต่เนื่องจากในกรอบข้อตกลงภายใต้ MOU 44 กำหนดเงื่อนไขสำคัญที่แยกพื้นที่ออกเป็นสองส่วน โดยกำหนดให้พื้นที่ส่วนบน **‘เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ’**ในพื้นที่ราวหนึ่งหมื่นตารางกิโลเมตร ให้เป็นพื้นที่เจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเล และพื้นที่ส่วนล่าง ‘ต่ำกว่าเส้นละติจูด 11องศาเหนือ’ ราว 1.6 หมื่นตารางกิโลเมตรจะเป็นพื้นที่เจรจาผลประโยชน์ร่วมกัน และกำหนดให้ต้องเจรจาไปพร้อมๆกันแยกส่วนไม่ได้ ทำให้การเจรจาที่ผ่านมาไม่สามารถคืบหน้าไปได้ เพราะฝ่ายไทยไม่ยอมรับเส้นสมมุติของฝั่งกัมพูชาที่ขาดหลักการสากลในการอ้างอิง
ไม่ต้องย้อนกลับไปไกล เมื่อปี 2562 ในช่วงท้ายของรัฐบาล คสช. เคยมีความพยายามที่จะรื้อฟื้นการเจรจาในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน โดยมีแนวคิดจากกระทรวงพลังงานที่จะแยกการเจรจาออกมา โดยอ้างว่าเพื่อให้ทั้งสองประเทศสามารถหาผลประโยชน์จากพลังงานปิโตรเลียมใต้ทะเลในพื้นที่ส่วนล่าง โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ก่อนที่พลังงานจากปิโตรเลียมจะถูกลดความสำคัญลงในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า
แต่สุดท้ายก็ยังคงติดขัดเนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงยืนยันในเส้นอาณาเขตทางทะเลของตัวเองเหมือนเดิม และมีการตีความใน MOU 44 ที่ระบุว่าต้องเจรจาไปพร้อมกันไม่สามารถแยกส่วนได้
สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ หากยังคงมีกรอบข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU 44 เพื่อใช้ในการเจรจาเหมือนที่เป็นอยู่จะมีโอกาสที่จะแสวงหาข้อตกลงสุดท้ายร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่าคง ‘เป็นไปได้ยาก’ เพราะเท่ากับเรายอมเสียผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมทางทะเล ทั้ง ๆ ที่ควรจะเป็นของไทย และยังอาจนำสู่การอ้างสิทธิ์ที่นำไปสู่การเสียดินแดนในอนาคต ซึ่งจะถูกกระแสต้านรุนแรงตามมาอย่างแน่นอน
ทางออกที่น่าจะพิจารณาคือ การขอหยุดหรือยกเลิกการเจรจาภายใต้กรอบ MOU 44 เอาไว้ และเสนอทางเลือกให้ กัมพูชาไปกำหนดเส้นอาณาเขตทางทะเลเสียใหม่ โดยยึดตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หรือ United Nations Convention on the Law Of the Sea (UNCLOS) ในการแบ่งพื้นที่ในท้องทะเลตามหลักสากล มีความเป็นธรรม
ถึงแม้เส้นอาณาเขตทางทะเลใหม่ของกัมพูชาอาจจะยังคงมีพื้นที่ทับซ้อนอยู่บ้าง แต่สิ่งที่จะเหลือให้ทางไทยและกัมพูชายังต้องเจรจา ก็อาจเหลือเพียงพื้นที่ส่วนน้อยที่อาจมี หลุมน้ำมันดิบ และหลุมก๊าชธรรมชาติ ที่วางตัวก้ำกึ่งอยู่ในแนวเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลของทั้งสองประเทศ ที่ต้องตกลงกันว่ามีกี่หลุม หลุมไหนบ้าง ซึ่งวิทยาการสมัยใหม่ก็น่าจะช่วยแบ่งผลประโยชน์ตามปริมาตรจริงได้อย่างเป็นธรรม
หากยึดตามแผนที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของ UNCLOS นอกจากไทยจะไม่สูญเสียเกาะกูด พื้นที่ทับซ้อนส่วนใหญ่ที่เคยมีมาแต่เดิมก็จะกลับมาเป็นของไทยอย่างสมบูรณ์ และน่าจะเป็นแนวทางที่ไทยได้ประโยชน์อย่างชัดเจนที่สุด
การเจรจาผลประโยชน์ชาติในท้องทะเลจึงไม่มีทางสำเร็จหากรัฐบาลหรือ อดีตนายกฯทักษิณ ไม่อาศัยความสัมพันธ์พิเศษแนะนำให้กัมพูชายอมเข้าร่วม UNCLOS และกำหนดแนวอาณาเขตทางทะเลเสียใหม่
เพราะหากทั้งสองฝ่ายยังคงยอมเจรจากับกัมพูชาภายใต้ MOU 44 หากรัฐบาลไทยไม่เป็นฝ่ายแอบไปยอมเสียเปรียบจนเสียผลประโยชน์เสียเอง เพราะมีวาระซ่อนเร้นบางอย่าง เชื่อว่า ‘อีกเจ็ดชั่วโคตร’ ก็คงไม่สำเร็จ และยังคงไม่มีใครมีโอกาสได้ใช้แหล่งพลังงานปิโตรเลียมจากพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนดังกล่าวอย่างแน่นอน...