อีกครั้งที่การเตือนภัย การแจ้งเตือน การบูรณาการคำสั่ง และการบูรณาการความช่วยเหลือของภาครัฐ ต่อเหตุภัยพิบัติ ถูกตั้งคำถาม และถูกตั้งข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพ ศักยภาพ รวมถึงท้าทายความเด็ดขาดในฐานะผู้นำรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี
ระยะเวลาเพียงไม่ถึง 8 เดือน รัฐบาลของ นายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร เผชิญกับภัยพิบัติมาแล้วถึง 2 ครั้ง
ครั้งแรก…คือเหตุการณ์น้ำท่วมและดินโคลนถล่มในภาคเหนือ ช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 หลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังไม่ครบเดือนด้วยซ้ำ
ครั้งนั้น…การสั่งการที่ไม่ทันการณ์ การเข้าถึงพื้นที่ของภาคราชการที่ล่าช้า และการประสานงานในสำนักนายกรัฐมนตรีที่ยังไม่ลงตัว ทำให้ภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศถูกตั้งคำถามอย่างหนัก
การเตือนภัยที่ล่าช้า การประสานงานที่ไม่เด็ดขาด แม้จะมีการตั้งศูนย์อำนวยการส่วนหน้าในเวลาต่อมา แต่การบูรณาการความช่วยเหลือก็ถูกตั้งคำถามตั้งแต่ครั้งนั้น
หลังเหตุการณ์ที่อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย แม้รัฐบาลจะมีความตื่นตัว และมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เป็นหน่วยงานหลักเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อออกแบบระบบการเตือนภัยที่ทันสมัย และรวมศูนย์เป็นหนึ่งเดียว
แต่...ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวรอบนี้ ได้พิสูจน์ทราบแล้วว่า ระบบและเทคโนโลยีที่กระทรวงดีอีเอส ยืนยันว่า ทันสมัยและออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับการเตือนภัยพิบัติทุกประเภท ยังไม่สามารถใช้ได้ ข้อความเตือนภัย หรือแม้กระทั่งข้อความเพื่อแจ้งเตือน เพื่อให้คำแนะนำข้อปฏิบัติ การแจ้งจุดนัดพบ จุดรวมศูนย์ให้ความช่วยเหลือ หรือแม้กระทั่งการสั่งระดมความช่วยเหลือ ทั้งจากการควบคุมเส้นทางการจราจร การช่วยเหลือจากเหตุการณ์ตึกถล่ม ล้วนยังไม่มีการรวมศูนย์
มาถึงแผ่นดินไหวรอบนี้ แม้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร จะแสดงภาวะความเด็ดขาดของการสั่งการ และความเป็นผู้นำพร้อมเข้ามา Take Action ได้อย่างรวดเร็ว และเด่นชัดกว่าครั้งน้ำท่วมที่แม่สาย รวมทั้งมีการติดตามงาน การยกเลิกภารกิจหน้างาน และลงพื้นที่ในทันที
แต่คำสั่งที่ถูกสั่งตั้งแต่หลังเกิดเหตุเพียงครึ่งชั่วโมง ไม่ปรากฏภาพการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม จนเกิดเสียงวิพากษ์ วิจารณ์อย่างหนัก
ข้อความเตือนภัย และคำแนะนำในการปฏิบัติตัว จุดรวมพลและเบอร์ศูนย์กลางเพื่อขอความช่วยเหลือ ที่ควรจะถูกส่งออกทันทีที่มีบัญชาจากนายกรัฐมนตรี กลับถูกส่งออกไปอย่างล่าช้า และส่งได้เพียงครั้งละ 2 แสนเลขหมาย จากจำนวนผู้ใช้งานกว่า 60 ล้านเลขหมาย
บางคนข้ามวันไปแล้ว ยังไม่ได้รับข้อความผ่านระบบ SMS แม้แต่ข้อความเดียว ทั้งข้อความจาก DDPM ซึ่งเป็นข้อความจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. และข้อความจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 รายใหญ่
การจราจรที่เป็นอัมพาตทั้งเมือง การคมนาคมที่หยุดชะงักเกือบ 100% การสื่อสารที่ติด ๆ ขัด ๆ ภาพประชาชนที่ต้องลงมาออกันหน้าตึก ผู้ป่วยจำนวนมากที่ถูกอพยพลงไปอยู่ริมถนน ความชุลมุนของหน่วยงาน ที่ดาหน้าเข้าไปคับคั่งอยู่หน้างาน เพื่อช่วยเหลือผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากตึก โดยขาดผู้บัญชาการเหตุการณ์
ทั้งหมด…บ่งบอกถึงความไม่พร้อมของการสั่งการ ความไม่พร้อมของหน่วยงานหลักที่เข้ามารับหน้าที่ในฐานะศูนย์สั่งการ
มีคำถามว่า “ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” ที่เคยตั้งขึ้น หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มภาคใต้ของไทย เมื่อปี 2547 ยังอยู่หรือไม่
หากยังอยู่…วันนี้ได้ทำหน้าที่นี้เต็มกำลังหรือเปล่า
เพราะวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติในครั้งนั้น ก็เพื่อเป็นหน่วยงานหลักบูรณาการการเตือนภัย การระดมความช่วยเหลือ และเป็นศูนย์สั่งการที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทั้งระบบ
คำตอบ คือ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติยังคงอยู่ และอยู่ภายใต้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ถูกลดฐานะจากหน่วยงานสังกัดสำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี จากหน่วยงานที่มีโครงสร้างการบริหารงานที่เป็นอิสระ ขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี มีงบประมาณของตัวเอง ลงมาเหลือเพียงหน่วยงานระดับกอง และถูกย้ายสังกัดไปแล้วถึง 3 ครั้ง
ครั้งแรกโอนไปสังกัดสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก่อนที่จะลดระดับลงมาสังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ถูกโอนไปสังกัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559
จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่มีการออกแบบระบบเตือนภัย ระบบการบริหารแบบรวมศูนย์ มีการซ้อมเตือนภัย ซ้อมหนีภัย ซ้อมรับมือภัยพิบัติทุกรูปแบบ ทั้งภัยสึนามิ ภัยน้ำท่วม ดินถล่ม และภัยจากแผ่นดินไหว มีการออกแบบข้อความการเตือนภัยจากระบบ SMS ซึ่งถือว่า เป็นระบบที่รวดเร็วที่สุดในขณะนั้น มีการใช้เครือข่ายสถานีวิทยุและโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ททบ.5 เป็นแม่ข่าย TV Pool เพื่อเป็นสถานีหลักในการสื่อสารกับประชาชน
ล่าสุดข้อความจากหมายเลข 1784 ซึ่งเป็นข้อความแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก็ยังคงทำหน้าที่ส่งข้อความเตือนภัย ทั้งภัยจากแผ่นดินไหว และภัยจากพายุ น้ำท่วม ดินถล่มอย่างต่อเนื่อง
แต่หน้าที่ในฐานะของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เมื่อถูกลดฐานะจากหน่วยงานระดับศูนย์ ลงเป็นเพียงหน่วยงานในระดับกอง ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จึงไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนที่เคยทำ และถูกออกแบบเอาไว้
เดิมขั้นตอนการสั่งการของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งสังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย ขั้นตอนการสั่งการ และการรายงานเพื่อขออนุมัติ จึงเป็นขั้นตอนสั้น จากนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ก็สั่งการให้ศูนย์เตือนภัยฯ ดำเนินการได้ทันที
ในทางกลับกัน การรายงานเหตุภัยพิบัติ เพื่อขอรับการอนุมัติก็สั้น โดยผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติ สามารถรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย ก็สามารถดำเนินการได้ทันทีเช่นกัน
แต่ล่าสุด ขั้นตอนซึ่ง ปภ.ที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก็เป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่กว่าขั้นตอนการสั่งการ จากนายกรัฐมนตรีไปยังรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย เพื่อสั่งการปลัดกระทรวงมหาดไทย
กว่าปลัดกระทรวงจะสั่งการอธิบดี ปภ. กว่าอธิบดี ปภ.จะสั่งการลงไปที่ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ทุกอย่างถึงกลายเป็นความล่าช้า และไม่มีการออกแบบข้อความสำเร็จรูป เพื่อรองรับการใช้งานเอาไว้ กระบวนการสั่งการ การเตือนภัยที่ขาดหน่วยงานหลักที่จะบูรณาการเพียงหน่วยเดียว จึงไม่สามารถเชื่อมความร่วมมือของทุกหน่วยงาน เพื่อสร้างประสิทธิภาพ และศักยภาพของระบบการเตือนภัยได้อย่างสมบูรณ์
แม้ล่าสุดระบบการเตือนภัยที่มีการออกแบบร่วมกัน ซึ่งเรียกว่า ระบบ Cell Broadcast Service หรือ ระบบ CBS ที่จะนำมาใช้แทนระบบ SMS เพราะสามารถส่งข้อความ พร้อมเสียงไปปรากฏบนหน้าจอมือถือ (Pop Up Notification) ของผู้ใช้มือถือได้พร้อมๆกัน ทุกหมายเลข แม้จะปิดเครื่อง ขอแค่หมายเลขนั้นอยู่ใกล้สถานีส่งสัญญาณของค่ายใด ค่ายหนึ่งก็สามารถรับข้อความเตือนภัยได้ทันที
แต่ระบบ CBS ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ในการเตือนภัยครั้งนี้ เพราะระบบในส่วนของภาครัฐที่เรียกว่า Cell Broadcast Entities หรือ CBE ซึ่งจะเป็นหัวใจของศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐที่ดำเนินการโดย ปภ. ยังไม่แล้วเสร็จ
ทำให้ระบบเตือนภัยของภาคเอกชน ที่เรียกว่า Cell Broadcast Center (CBC) แม้จะพร้อมแล้ว ก็ยังไม่สามารถดำเนินการส่งข้อความเตือนภัยออกไปได้ เพราะต้องรอระบบสั่งการเป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่ออกแบบข้อความ และการอนุมัติการส่งข้อความ
ระบบ CBS หากแล้วเสร็จ จะมีศักยภาพที่สูงกว่า ระบบ SMS ซึ่งมีข้อจำกัดที่จะส่งได้เพียงครั้งละ 2 แสนเลขหมาย และจะต้องใช้เวลา เพื่อสแกนหาหมายเลขเป้าหมาย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อให้การเตือนภัยถูกส่งตรงไปยังหมายเลขที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจริง ๆ
ระบบ CBS แม้จะมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกหมายเลขที่สามารถรับข้อความ และรับเสียงเตือนภัยได้พร้อมกัน
แต่หากขั้นตอนการสั่งการ
ขั้นตอนการออกแบบข้อความเตือนภัย
ขั้นตอนการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์
ยังไม่มีความเป็นมืออาชีพ และยังไม่มีการซักซ้อมที่ดีเพียงพอ ต่อให้ระบบดีแค่ไหน กระบวนการเตือนภัยพิบัติ ก็ยังเป็นได้แค่การเตือนตามหลัง
ทำได้แค่เป็นศูนย์ที่อยู่ในระบบราชการ ศูนย์ที่มีแต่เครื่องมือ แต่ขาดบุคคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่จะมีผลต่อการเซฟชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐบาลนายกฯ อิ๊งค์ ไม่ได้ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่หยิบโมเดล ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 โดยรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรี ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาปัดฝุ่น ดึงอำนาจกลับมาขึ้นตรงนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อลัดขั้นตอนการสั่งการ เพียงแค่นี้ เทคโนโลยีทันสมัยที่เตรียมไว้ ก็พร้อมที่จะใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมรับภัยน้ำท่วม ดินถล่ม ที่อาจจะรออยู่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
คำเหน็บแนมที่บอกว่า “สงสัยอะไร…ให้ถามพ่อ” ไม่ต้องกังวลว่า จะถูกโจมตี
เพราะการถามพ่อรอบนี้ “มีแต่ได้ ไม่มีเสีย” และจะมีแต่คนเชียร์ให้ถาม เพราะถามแล้ว ประโยชน์ที่ได้ จะเป็นของชาติและประชาชนคนในพื้นที่ภัยพิบัติทั่วประเทศ
ถ้าถามพ่อแล้วดี…ถามพ่อแล้วประเทศมีประโยชน์…ก็ถามไปเถอะ ท่านนายกฯ อิ้งค์