ยังคงคุกรุ่นและต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ไม่เพียงจะตึงเครียดเฉพาะบริเวณประสาทตาเมือนธมเท่านั้น หากยังมีแนวโน้มจะลุกลามบานปลาย ตลอดแนวชายแดนในพื้นที่ภาคอีสาน
ภาพทั้ง 2 ฝ่าย เสริมกำลังรบเต็มพิกัดในพื้นที่ ตลอดแนวชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งกำลังทหารราบ ที่มีคำสั่งพร้อมเคลื่อนที่ 24 ชั่วโมง และการเสริมรถหุ้มเกราะ รถถัง ปืนใหญ่ ที่มีพิสัยยิงระยะไกล และจรวดจากพื้นสู่พื้น เป็นภาพความเคลื่อนไหวที่ประหนึ่งจะเข้าสู่สงคราม
บทวิเคราะห์บนหน้าสื่อ จัดเทียบเคียงกำลังรบระหว่างไทยและกัมพูชา แบบปอนด์ต่อปอนด์ ขณะที่สื่อโซเชียลของทั้ง 2 ประเทศ ต่างก็บลัฟกันแหลก จนดูดุจจะเปิดฉากยิงปืนใหญ่ใส่กันรอมร่อ
ฝ่ายหนึ่งให้ข้อมูลถึงการติดตั้งปืนใหญ่และจรวดจากพื้นสู่พื้นชุดใหม่ ที่กัมพูชาเสริมเขี้ยวเล็บมาตั้งแต่หลังปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดพิพาทเขาพระวิหาร และครั้งนั้น ฝั่งกัมพูชาที่นำโดย พล.อ.ฮุนมาเน็ต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในปัจจุบัน ได้รับความสูญเสียอย่างหนัก
รายงานข่าวในเวลานั้น ระบุว่า กองกำลังพิทักษ์ผู้นำ ซึ่งเป็นกองกำลังพิเศษของสมเด็จฮุนเซ็น ซึ่งมี พล.อ.ฮุนมาเน็ต เป็นผู้บัญชาการ อยู่ในสภาวะเกือบละลายทั้งกองพล จากกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงไปจากฝั่งไทย
หลังปี 2554 กัมพูชาจึงเสริมกำลังอาวุธหนัก โดยเฉพาะปืนใหญ่อัตราจร SH – 1 ขนาด 155 มม. ที่มีอำนาจการยิงระยะไกล ที่ว่ากันว่า สามารถยิงได้ไกลถึงอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีษะเกษ
รวมถึงจรวดหลายลำกล้องรุ่นใหม่ PHL – 03 300 มม. 12 ท่อยิง ที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีน และมีพิสัยการยิงที่ได้ไกลมากขึ้นถึง 130 กิโลเมตร ประมาณว่า จรวดชุดนี้ มีพิสัยการยิงถึงกองบิน 1 โคราช ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการของฝูงบิน F-16 ของไทย ต่างจากจรวดหลายลำกล้อง BM-21 ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ซึ่งครั้งนั้นยิงได้แค่บริเวณแนวชายแดนเท่านั้น
รอบนี้เพื่ออวดโฉมกำลังรบใหม่ จึงมีข่าวลือกันหนาหูว่า กัมพูชาได้เคลื่อนปืนใหญ่และจรวดรุ่นใหม่ เข้ามาประชิดชายแดนไทย เพื่อพร้อมที่จะเปิดฉากยิง…หากมีความขัดแย้งถึงขึ้นแตกหัก!
ส่วนฝ่ายไทย วันนี้แม้ยังไม่เผยโฉมให้เห็นได้ชัด แต่เชื่อว่า ปืนใหญ่ทุกขนาดที่มีอำนาจการยิงสูง และมีสมรรถนะ ทั้งความแม่นยำและมีพิสัยการยิงระยะไกล ได้เคลื่อนออกจากกองพลทหารปืนใหญ่ที่ลพบุรี ไปอยู่ในจุดที่พร้อมเข้าสนับสนุนการยิง หากเกิดเหตุบานปลายเช่นกัน
ไม่นับความได้เปรียบเหนือน่านฟ้า…ที่ขีดความสามารถของกองทัพอากาศไทย เหนือกว่ากองทัพอากาศกัมพูชา แบบเทียบกันไม่ติด
แต่กระนั้น แม้ทั้งสองฝ่ายจะเคลื่อนกำลังมาประชิดแนวชายแดน พร้อมติดตั้งอาวุธหนักสแตนบายพร้อมประจัญบานกันอย่างเต็มที่ แต่นักวิเคราะห์ทางการทหาร ประเมินว่า มีโอกาสน้อยมาก ที่จะเกิดการปะทะกันเกิดขึ้น หากไม่มีอุบัติเหตุจากการยั่วยุระหว่างมวลชนของทั้ง 2 ประเทศ
ฝั่งกัมพูชา แม้ พล.อ.ฮุนมาเน็ต ที่เพิ่งขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนพ่อ คือ สมเด็จฮุนเซ็น อาจจะอยากแก้มือ ที่เคยพลาดท่าให้กับไทยในสถานการณ์เมื่อปี 2554
หรือ พล.อ.เตีย เซ็ยฮา รัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งเป็นบุตรชายของ พล.อ.เตีย บัณห์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม และมีอายุเพียง 45 ปี อาจจะอยากสร้างบารมีให้กับตัวเอง ด้วยการเปิดฉากทำสงครามแนวชายแดนกับไทย แต่นักวิเคราะห์ เชื่อว่า ทั้งคู่ยังไม่พร้อมที่จะแตกหักในเวลานี้
ส่วนความเคลื่อนไหวที่ดูคึกคัก โดยเฉพาะการเคลื่อนกำลังพลมาเสริมในบริเวณชายแดน ก็เป็นเพียงความเคลื่อนไหวที่นักการทหารเรียกว่า การแสดงกำลังรบ หรือ Show Of Force เพื่อเป็นการสร้างภาพความเข้มแข็ง และเด็ดขาดของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม 2 มือใหม่ ที่กำลังอยู่ในช่วงฝึกหัดบริหารอำนาจในกัมพูชาเท่านั้น
ส่วนฝั่งไทย การตระเตรียมกำลังรบภายใต้การประสานของ 2 เพื่อนร่วมรุ่น ตท.26 พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก และพล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 โดยมีแรงสนับสนุนจากหน่วยงานใหม่ คือ คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ คณะกรรมการ ปชด. ที่มี พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.สส.เป็นประธาน ก็ดูเหมือนเพียงพอที่จะรับมือสถานการณ์ตามแนวชายแดนได้ไม่ยากนัก
ตัวแปรของฝั่งไทย มิใช่กำลังรบและอาวุยุทโธปกรณ์ แต่เป็นสถานการณ์ด้านมวลชน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ที่อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดความขัดแย้ง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2553 ต่อเนื่องปี 2554
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร และสมเด็จฮุนเซ็น ซึ่งแทนที่จะเป็นจุดแข็งที่จะทำให้ทั้ง 2 ประเทศยุติความขัดแย้งระหว่างกันได้โดยง่าย แต่กลับเป็นจุดอ่อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตี ทั้งจากการเมืองในสภาและการเมืองนอกสภา
ไม่เพียงเท่านั้น สถานการณ์ภายในกองทัพภาคที่ 2 ซึ่ง พล.ท.บุญสิน พาดกลาง มทภ.2 จะเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2568 ยังเป็นอีกตัวแปรที่น่าจับตามอง เมื่อเริ่มมีการหยิบฉวยสถานการณ์ไทย-กัมพูชา มาใช้เป็นแรงขับเคลื่อน เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการเป็นแคนดิเดตแม่ทัพคนใหม่ ในสายตาการเมืองและสายตามวลชน
แคนดิเดตแม่ทัพภาคที่ 2 ต่อจาก ‘แม่ทัพกุ้ง’ พล.ท.บุญสิน นั้น รองแม่ทัพทั้ง 3 นาย ต่างมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน และเกษียณอายุราชการปีเดียวกัน คือ 2570
รองแม่ทัพคนที่ 1 คือ พล.ต.วีระยุทธ รักศิลป์ ตท.26
รองแม่ทัพคนที่ 2 คือ พล.ต.นรธิป โพยนอก ตท.26
และรองแม่ทัพคนที่ 3 คือ พล.ต.ณัฏฐ์ ศรีอินทร์ ตท.27
พล.ต.วีระยุทธ หรือ รองเติ่ง นั้นขยับจากผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 ขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ตั้งแต่ปี 2566 จึงเป็นรองอาวุโส 1
ส่วน พล.ต.นรธิป โพยนอก และ พล.ต.ณัฏฐ์ ศรีอินทร์ ขยับจากขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมกันเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา
พล.ต.นรธิป ขยับขึ้นมาจากตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3
ส่วน พล.ต.ณัฏฐ์ ขยับขึ้นมาจากตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6
รองเติ่ง แม้จะครองความเป็นอาวุโสอันดับ 1 และเป็นเพื่อนแม่ทัพกุ้ง(ตท.26) ด้วยกัน ซึ่งแว่วว่า ตั้งใจจะส่งไม้ต่อให้ ด้วยการเสนอชื่อ เพื่อนเติ่ง เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ในการโยกย้ายปลายปีนี้
นอกจากนี้ช่วงโยกย้ายกลางปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า พล.ท.บุญสิน ยังได้เสนอชื่อ พล.ท.พรชัย มาหลิน แม่ทัพน้อยที่ 2 ขึ้นไปเป็น พล.อ.ในอัตราที่ปรึกษาพิเศษ เพื่อเปิดทางให้ รองเติ่ง ขึ้นครองยศ พล.ท.ในตำแหน่งแม่ทัพน้อยที่ 2 ก่อน จากนั้นตุลาคม ก็จะใช้ความอาวุโส ขยับขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 อีกระลอก
แต่ รองเติ่ง ก็ยังมั่นใจไม่ได้ว่า จะไม่มีโอกาสพลิกโผ เมื่อมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการเมือง คาดหวังจะได้แม่ทัพภาคที่ 2 ที่สามารถสนองนโยบายการเมืองได้ทุกรูปแบบ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมเช่นกัน
สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชารอบนี้ จึงเริ่มมีการปูพรมข้อมูลทางเลือกให้กับการเมืองถึงความเหมาะสมสำหรับแม่ทัพภาคที่ 2คนใหม่ ที่พร้อมต่อการรับมือกรณีเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่าง 2 ประเทศ
พล.ต.นรธิป ถูกโชว์โปรไฟล์ว่า เป็นอดีต ผบ.พล.ร.3 กองพลหลักของกองทัพภาคที่ 2 ที่ผบ.พล.ส่วนใหญ่จะได้ขยับขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 เช่นเดียวกับแม่ทัพกุ้ง ซึ่งเป็นอดีตผบ.พล.ร.3 มาแล้วเช่นกัน
แต่ข้อมูลนี้ถูกหักล้างจากข้อมูลที่ล่าสุด เป็นการสลับกันระหว่างแม่ทัพภาค ที่มาจาก พล.ร.3 และพล.ร.6 โดย พล.อ.ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม อดีตผบ.พล.ร.6 เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 เมื่อปี 2563-2564
จากนั้นปี 2564-2566 พล.อ.สวราชย์ แสวงผล อดีต ผบ.พล.ร. 3 ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 และใน
ปี 2566 – 2567 พล.ท.อดุลย์ บุญธรรมเจริญ อดีต ผบ.พล.ร.6 ก็เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ส่วนปี 2567 ที่ผ่านมา ก็ถึงคิว พล.ร.3 เมื่อแม่ทัพกุ้ง พล.ท.บุญสิน อดีต ผบ.พล.ร.3 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ต่อจาก พล.ท.อดุลย์
หากข้อมูลเป็นไปตามนี้ ปี 2568 ก็จะเป็นคิวของ พล.ร.6 ยกเว้นว่า การเมืองอยากใช้บริการของพล.ต.นรธิป ดังเช่นเมื่อครั้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ครั้งนั้น บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เลือกพล.อ.ธัญญา เกียรติสาร ซึ่งมาจาก ผบ.พล.พัฒนาที่ 3 และไม่ผ่านตำแหน่ง ผบ.พล.ร. ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 แบบพลิกโผ ทำให้ พล.อ.ธเนศ รองแม่ทัพอาวุโส 1 ในขณะนั้นต้องระเห็จไปเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบกอยู่ 1 ปี ก่อนจะกลับมาเป็นแม่ทัพในปี 2563
หากเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นการแหวกประเพณีปฏิบัติในช่วงหนึ่งที่ พล.ร.3 กับ พล.ร.6 สลับกันเป็นแม่ทัพอีกครั้ง
ส่วนรองณัฏฐ์ แม้จะมาจาก พล.ร.6 ซึ่งเข้าเกณฑ์ประเพณีปฏิบัติของกองทัพภาคที่ 2 แต่ก็เป็นรุ่นน้อง ตท.27 และอาวุโสครองยศนายพล หลัง รองเติ่ง พล.ต.วีระยุทธ แต่ด้วยสถานการณ์พิเศษตามแนวชายแดนเวลานี้ ทำให้ชื่อ รองณัฏฐ์ ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ชายแดนมาโดยตลอด ก็เริ่มถูกหยิบขึ้นมาเอ่ยถึง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อล่าสุด รองณัฏฐ์ ได้รับเชิญจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ.ไปบรรยายเกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์ไทย-กัมพูชาให้กับนักศึกษา วปอ.รุ่นล่าสุดฟัง ชื่อของรองณัฏฐ์ ก็กลับเข้ามาสู่สปอตไลท์อีกครั้ง
คุณสมบัติของทั้ง 3 แคนดิเดตที่ใกล้เคียงกัน ทำให้โยกย้ายปลายปีนี้ ต้องจับตาดูหรืออ่านใจ แม่ทัพกุ้ง ว่าจะเลือกหยิบเลขไหนเสนอ ผบ.ทบ. ระหว่าง รองเติ่ง(ตท.26) อาวุโส 1 หรือ รองนรธิป (ตท.26) อาวุโส 2 และเป็น พล.ร.3 ที่ยังไม่ถึงคิว หรือจะตัดสินใจหยิบ รองณัฏฐ์ (ตท.27) ส่งเข้าไปเป็นตัวแปรให้ บิ๊กปู เพื่อนรัก เป็นคนตัดสินใจ
แม้ในใจแม่ทัพกุ้งวันนี้ ใครก็รู้ว่าเสนอ รองเติ่งแน่นอน แต่ทั้งหมดยังต้องค่อยๆเคาน์ดาวน์กันไปเรื่อยๆ เพื่อพิสูจน์ทราบว่า ช่วงปลายปี การเมืองจะแรงกว่า หรือกองทัพจะแรงกว่า
ปลายปีนี้ จึงต้องวัดทั้งใจ บิ๊กกุ้ง และวัดใจ บิ๊กปู ไปพร้อมๆกันว่า จะจับมือไปทิศทางดียวกัน หรือจะปล่อยให้การเมืองล้วงลูก ซึ่งไม่เป็นผลดีกับกองทัพที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์ล่อแหลมบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา