4 ทางลง.. ‘ล่มรัฐบาลอิ๊งค์’

29 ต.ค. 2567 - 03:00

  • วันนี้รัฐบาลอิ๊งค์ อยู่แบบประคองตัว

  • ปิดทุกเงื่อนไข ไม่คิดสร้างผลงานใด ๆ

  • ยอมสละได้ทุกอย่าง ขอเพียงแค่ให้ได้อยู่ในรัฐบาล

politics-thailand-paethongtarn-government-SPACEBAR-Hero.jpg

ดูเหมือนจะเข้าใจผิดกันไปยกใหญ่ เมื่อสื่อต่างพร้อมใจกันนำเสนอผลสำรวจนิด้าโพล ว่ารัฐบาลอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร จะอยู่ครบเทอม นั่งบริหารประเทศยาวไปถึงปี 2570 โน่น

เดือดร้อนคนทำโพลนิด้า ดร.สุวิชชา เป้าอารีย์ ต้องออกมาแจกแจงตามหลังว่า ไม่ใช่อย่างนั้นเสียหน่อย เพราะหากเทียบกันเฉพาะสองขาครบเทอม-ไม่ครบเทอม จะเห็นได้ว่าที่ตอบครบเทอมมีร้อยละ 41.68 ส่วนที่ตอบไม่ครบมีรวมกันร้อยละ 57.71 ห่างกันถึง 16.03 แต้ม

แถมเจาะลึกลงไปในกลุ่มที่ตอบว่าครบเทอม ร้อยละ 51 ยังเป็นกลุ่มคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยครั้งล่าสุดด้วย

เมื่อเห็นตัวเลขถี่ห่างแบบนี้แล้ว ใครจะรักจะชอบหรือไม่ชอบใครเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มีนายกฯ ชื่อแพทองธาร ณ เวลานี้ ในท่ามกลางพายุการเมืองที่พัดโถมเข้าใส่ หนักหน่วงพอ ๆ กับพายุยางิ ที่กวาดพื้นที่ อ.แม่สาย เสียราบเรียบเป็นหน้ากลองนั้น 

วันนี้ของรัฐบาลอิ๊งค์ จึงอยู่แบบประคองตัว ไม่กล้าขยับอะไรให้ตกเป็นเป้า ไม่มีสิทธิแม้จะยกมือเห็นด้วยกับรายงานผลการศึกษานิรโทษกรรม ที่ตัวเองเป็นเจ้าของเรื่องแท้ ๆ เพราะกลัวไปขัดใจพรรคร่วมรัฐบาลเข้า

ในสถานการณ์ที่อยู่ไปเซฟไป ปิดทุกเงื่อนไข ไม่คิดสร้างผลงานใด ๆ หากรัฐบาลอิ๊งค์ จะต้องมีอันเป็นไปไม่ว่าจะกี่โมงก็ตาม คงไม่หนีไปจาก 4 ช่องทางต่อจากนี้ ซึ่งมีทั้งที่เลือกเองได้และที่เลือกไม่ได้ คือ

ทางแรก ยุบสภา ล้างไพ่ใหม่ ซึ่งคงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ไม่รู้จะออกทางไหนได้อีก เพราะปกติทางเลือกนี้มักจะถูกหยิบขึ้นมาใช้ก็ต่อเมื่อตัวเองได้เปรียบ เพื่อกระชับอำนาจให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจมากกว่าเดิม หรือไม่ก็หนีตาย

แต่สำหรับเพื่อไทย ถ้าใช้แนวทางนี้คงเป็นเหตุผลอย่างหลัง และถือเป็นการขุดหลุมฝังตัวเองไปด้วยในสถานการณ์นี้

ทางที่สอง ชิงลาออกก่อนถูกนิติสงครามไล่ล่า หากเห็นว่าคำร้องที่ยื่นผ่านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เดินมาถึงปลายทางและประเมินดูแล้วไม่น่าจะรอด ก็คงใช้วิธีตัดช่องน้อยออกทางนี้ ภายใต้ข้อตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาล ยอมส่งไม้ต่อให้พรรคลำดับสองขึ้นมาเป็นแกนนำแทน

ไม่ว่าจะเป็นสูตรนายกฯ คนละครึ่ง นายกฯ หารสอง หรือจะเรียกอะไรก็ไปตกลงกันเอาเอง

ทางที่สาม ถูกองค์กรตามรัฐธรรมนูญสอยตกเก้าอี้ เดินย่ำรอยอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถ้าออกหน้านี้เพื่อไทยระส่ำแน่ ๆ เพราะไปแบบไม่ทันได้ตั้งเนื้อตั้งตัว จะทำให้ขาดอำนาจต่อรองกับพรรคอันดับสองในรัฐบาลที่จะขึ้นมาเป็นแกนนำแทน เพราะลำพังทุกวันนี้ก็ตกเป็นเบี้ยล่าง แทบจะต่อรองอะไรไม่ได้อยู่แล้ว

ทางที่สี่ ต่อให้อยู่ยงคงกระพันนารี ประคองรัฐนาวาฝ่าคลื่นลมผ่านไปได้ แต่หากทำขัดใจ ‘พรรคขาใหญ่’ ในรัฐบาลเข้า สุดท้ายอาจถูกบีบให้คายเก้าอี้จนได้ ซึ่งถ้าไม่ยอม เพราะที่ผ่านมาถือว่า ‘ยอมแล้ว ยอมอยู่’ แต่ถ้าไม่ยอมต่อ ก็ต้องกลับไปหาข้อที่หนึ่ง

นั่นคือ ใช้วิธีดัดหลังยุบสภาหนีเสียเลย แต่ตัวเองก็จะไม่รอด ต้องไปตายเอาดาบหน้าเหมือนกัน

แต่อ่านใจนายใหญ่เพื่อไทยชั่วโมงนี้ คงเลือกอยู่ในรัฐบาลต่อมากกว่า แม้จะไม่ได้เป็นพรรคแกนนำหรือเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม เพราะมีหลายภารกิจรออยู่ แถมยังมีพันธนาการทางกฎหมายล่ามไว้อีกหลายเรื่อง

ไม่รวม ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นับวันรอกลับบ้านมาสาดน้ำสงกรานต์ ‘ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง’ ในปีหน้าด้วย

ในทางพระมีคำว่า พึงสละทรัพย์ รักษาอวัยวะ สละอวัยวะ รักษาชีวิต และสละชีวิต เพื่อรักษา ‘พระธรรม’ หรือหลักการความถูกต้องในสังคมเอาไว้

แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย ในสถานการณ์แบบนี้จะยึดหลักที่กลับหัวกลับหางกันอย่างสิ้นเชิง ‘ยอมสละได้ทุกอย่าง ขอเพียงแค่ให้ได้อยู่ในรัฐบาล’ ไม่ใช่เพราะกลัวอดอยากปากแห้ง หากออกไปเป็นฝ่ายค้าน แต่กลัวการถูกอำนาจไล่ล่ามากกว่า

ในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเลือกเองหรือถูกบีบให้เลือก ทางลง-ทางล่มของรัฐบาลอิ๊งค์ ย่อมไม่หนีไปจาก 4 ช่องทางนี้ ให้เลือกเอาจะตายแบบไหน?!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์