แม้ผลสำรวจที่ออกมา จะมีน้ำหนักค่อนไปทางให้รัฐบาลอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตรได้สิทธิ์ตีตั๋วยาวอยู่ไปจนครบเทอมในปี 2570
แต่ชีวิตจริงพรรคเพื่อไทยนาทีนี้ อยู่ในภาวะที่เสียศูนย์ อย่าว่าแต่ตอบสังคมเลย ตอบตัวเองยังไม่ได้ด้วยซ้ำ เรื่องพลิกลิ้น เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า กรณีไม่รับผลศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ตัวเองเป็นผู้เสนอ
ชนิดชงเอง ตบเอง คว่ำเอง แบบไม่เหลือลายนักเลงให้เห็น หรืออาจถึงขั้นสูญเสียจิตวิญญาณความเป็นพรรคการเมืองไปแล้วด้วยซ้ำ
แม้แต่คนในเพื่อไทยด้วยกันแท้ ๆ ยังถล่มกันเองว่าปอดแหก!!
เรื่องนี้เริ่มต้นจากสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมที่แล้ว เตรียมบรรจุร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ณ เวลานั้น เข้าสู่การพิจารณา ต่อมาพรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอร่างของตัวเองประกบบ้าง
แต่ไม่มีร่างของพรรคเพื่อไทยและร่างของรัฐบาล เพราะยังตั้งหลักไม่ทัน
ดังนั้น เพื่อรักษาภาพความเป็นพรรคแกนนำและรัฐบาลเอาไว้ เพื่อไทยจึงเบรกการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับด้วยการเสนอที่ประชุมวิปรัฐบาล ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาก่อน เพื่อให้เกิดความรอบคอบ พร้อมรับปากจะใช้เวลาศึกษาไม่นานเกินไปนัก
เมื่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลและเวลานั้นยังมีอำนาจเต็ม ไม่ได้ตกอยู่ในฐานะเป็นเบี้ยล่างให้กับพรรคร่วมฯ เหมือนทุกวันนี้ ตกปากรับคำเป็นมั่นเป็นเหมาะ เท่ากับเป็นหลักประกันการออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้มากกว่า ที่จะดันทุรังกันไปเองในเวลานั้น
ทั้งพรรคสีส้มและรวมไทยสร้างชาติ จึงยอมตามเพื่อไทย ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา โดยให้คนจากพรรคเพื่อไทย ชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธานกรรมาธิการฯ ทั้งในฐานะเจ้าของญัตติและยังไม่มีร่างของเพื่อไทย จึงน่าจะเปิดกว้าง ไม่มีอะไรที่ต้องผูกมัดในการศึกษา
ทั้งนี้ ต่างจากสองร่างกฎหมายที่สองพรรคเสนอต่อสภาไว้ พรรคหนึ่งต้องการให้นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ส่วนอีกพรรคไม่ให้รวมคดีความผิดมาตรา 112
ถึงคราวเริ่มศึกษากรรมาธิการที่มาจากทุกพรรคทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัย รอมชอมกันได้ด้วยดี เพราะอยากเห็นการนิรโทษกรรมการเมืองที่เพียรมาตลอด 20 ปี ประสบความสำเร็จในยุคนี้
หากใช้ภาษานักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ที่ชอบใช้กัน คงต้องบอกว่า ‘ให้มันจบในรุ่นเรา’ ประมาณนั้น
ข่าวสารจากคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ปรากฎบนหน้าสื่อในเวลาต่อมา จึงค่อนไปทางบวกเสียส่วนใหญ่ มีทั้งเรื่อง ‘แยกปลา-แยกน้ำ’ ให้ส่งคนส่วนใหญ่ขึ้นฝั่งไปก่อน คดีไหนที่มีความละเอียดอ่อน เช่น มาตรา 112 ก็ค่อยหาช่องทางดูแลกันต่อไป
สารพัดทางออกที่เป็นข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นคดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความละเอียดอ่อน รวมทั้ง การออกแบบนิยามเรื่อง ‘แรงจูงใจทางการเมือง’
ทั้งหมดล้วนเป็นความหวังที่คณะกรรมาธิการฯ ร่วมกันแต่งเติม แม้แต่ขอขยายเวลาศึกษาออกไปอีก 60 วัน ก็ไม่มีใครติดใจว่าซื้อเวลา เพราะต้องการให้รายงานผลการศึกษาออกมาสมบูรณ์
จึงได้เห็นปมมาตรา 112 ถูกแบ่งออกเป็น 3 ทางเลือก ให้กรรมาธิการทุกคนแสดงความเห็นประกอบโดยไม่มีการลงมติ เพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปพิจารณากันเอง
แต่หลังศึกษาเสร็จและเตรียมเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาฯ เริ่มเห็นสัญญาณความไม่ปกติเกิดขึ้น เมื่อมีการบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมบรรจุเข้าวาระพิจารณาของสภาเสียที แถมเลื่อนแล้วเลื่อนอีก
สุดท้ายเมื่อหนีไม่ออก ยอมให้นำรายงานเข้าสู่การพิจารณาของสภาก็จริง แต่ก็ถูกประธานที่ประชุม พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สั่งปิดประชุมหนีเอาดื้อ ๆ ทั้ง ๆ ที่เกือบจะลงมติกันอยู่แล้ว
เอาเป็นว่า สถานการณ์ในชั่วโมงนั้น พรรคร่วมฯ ไม่มีใครเอาด้วยกับเพื่อไทย โดยหยิบเอามาตรา 112 มาเป็นเงื่อนไข ทั้ง ๆ ที่ประธานฯ ชูศักดิ์ พยายามชักแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบายแล้วว่า เป็นเพียงผลการศึกษา ที่ไม่ได้บีบบังคับให้ทำตามและไม่ใช่การนิรโทษกรรม หรือมีผลให้ไปแก้มาตรา 112 แต่อย่างใดไม่
เมื่อพรรคร่วมฯ แพ็คกันแน่นหนาขนาดนั้น เพื่อไทยย่อมเกิดอาการกระอักกระอ่วนใจ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ยืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่กลางสี่แยก แต่สุดท้ายก็เลือกรักษาสัมพันธภาพกับพรรคร่วมรัฐบาลไว้ ไม่ไปแตะมือกับพรรคประชาชน รับรองรายงานผลศึกษานิรโทษกรรม
เพื่อไทยเลือกยืนข้างพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่เพราะต้องการรักษาความเป็นเอกภาพในรัฐบาล แต่เป็นการโอนอ่อนผ่อนตามพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเห็นว่ามีอำนาจต่อรองเหนือพรรคแกนนำมากกว่า
เพื่อไทย ที่เป็นแกนนำรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีอำนาจเต็ม จึงต้องการประคองอำนาจที่ไร้อำนาจเต็มเอาไว้ให้นาน เพื่อป้องกันตัวเองที่มีทั้งคดีเก่า-คดีใหม่จำนวนมาก รวมทั้ง ภารกิจคั่งค้าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยังดำรงสถานะเป็นสัมภเวสีอยู่ต่างแดน
ต่อจากนี้ การขยับตัวของเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลที่ไร้อำนาจเต็ม ทุกเรื่องจะอยู่บนคำว่า ‘ต่อรอง’ ไปเสียทั้งหมด ไม่ต่างจากการที่ต้องขออนุญาตพรรคร่วมรัฐบาลก่อนดีๆ นี่เอง
ไม่ว่าจะเรื่องเสนอกฎหมายต่อสภา ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ อาทิ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง การแก้ไขสัญญารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไปจนถึงการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในอ่าวไทย
ถ้าพรรคที่เป็นขาใหญ่ในรัฐบาลไม่เล่นด้วย ก็ต้องปิดประตูไปต่อไม่ได้
ในสถานการณ์แบบนี้ เพื่อไทย จึงมีทางเลือกไม่มากนัก หนึ่ง ยอมเป็นนายกฯ และแกนนำรัฐบาลในเชิงสัญลักษณ์ ทำหน้าที่เปิดงาน ตัดริบบิ้นไปวัน ๆ สอง หนีความอดสูด้วยการดัดหลังพรรคร่วมฯ แต่ก็เท่ากับขุดหลุมฝังตัวเองไปด้วย
เพราะเพื่อไทยชั่วโมงนี้ นอกจากไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว ยังเต็มไปด้วยภาพลบ แทบไม่หลงเหลือจุดยืนความเป็นพรรคการเมืองอยู่ด้วยซ้ำไป
พรุ่งนี้ มะรืนนี้ หลังปิดสมัยประชุมสภาลงในวันที่ 31 ตุลาคมนี้แล้ว กว่าจะกลับมาเปิดสมัยประชุมอีกครั้งในวันที่ 12 ธันวาคม ไม่รู้นายกฯ อิ๊งค์ จะยังได้อยู่ถึงวันนั้นหรือไม่
ด้วยเงื่อนไขที่ว่ามา จึงไม่รู้รัฐบาลเพื่อไทยจะอยู่ได้ถึงกี่โมง?!