ในสายตาของคนส่วนใหญ่มันคงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ไม่เกิดอาการหวาดระแวงและสงสัยในความพยายามของรัฐบาล นายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร ที่มีอาการ ‘เร่งรัด’ และ ‘เร่งรีบ’ ในการจะเดินหน้าเจรจากับรัฐบาลของกัมพูชา
ภายใต้กรอบของบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปที่ทับซ้อนกันปี 2544 หรือ MOU 44 ท่ามกลางกระแสต้านอย่างรุนแรงจากภาคประชาชนที่เป็นห่วงในเรื่องของการสูญเสียอธิปไตยและอาณาเขตทางทะเล
หลายคนมองตรงกันว่า ทั้งหมดเกิดมาจากความต้องการของ **‘สองผู้มากบารมี’**จากทั้งสองประเทศ คือ อดีตนายกฯ ‘ทักษิณ’ ผู้ครอบครองนายกฯ และ **‘ฮุนเซน’**ผู้นำที่มีอิทธิพลสูงสุดของกัมพูชา ที่มีความสนิทสนมมากกว่าความเป็นเพื่อน
ซึ่งอาจจะมี ‘วาระซ่อนเร้น’ และ ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ในการนำขุมทรัพย์ด้านพลังงานปิโตรเลียมจำนวนมหาศาลในพื้นที่กลางอ่าวไทยขึ้นมาใช้ประโยชน์หลังจากหยุดชะงักมากว่า 23 ปี นับตั้งแต่มีการลงนามกันในยุคของอดีตนายกฯทักษิณ
กลุ่มที่ถูกมองว่า ‘คลั่งชาติ’ ในสายตาของคนในรัฐบาลอย่างรองนายกฯและรมว.กลาโหม ‘อ้วน’ ภูมิธรรม เวชยชัย ไม่เพียงจะกลัวที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงในเรื่องการสูญเสียดินแดน โดยเฉพาะพื้นที่ของ ‘เกาะกูด’ และอาณาเขตทางทะเลในอ่าวไทย
ยังเกรงว่าการเจรจาในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่จะนำไปสู่ข้อตกลงในการแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ เพราะเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของไทยมาแต่เดิมอยู่แล้ว
ถึงแม้รัฐบาลจะพยายาม ‘ลดกระแสต้าน’ ที่ไปไกลถึงขั้นวิตกว่าจะนำไปสู่การสูญเสียพื้นที่ ‘เกาะกูด’ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศออกมายืนยันว่า **‘เกาะกูด’**เป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ.122 และพิธีสารแนบท้าย ค.ศ.1907 ซึ่งไทยใช้เป็นหลักฐานในการปักปันเขตแดนกับกัมพูชา
ขณะเดียวกัน ยังส่งทั้งรองนายกฯ ‘อ้วน’ ภูมิธรรม และรองนายกฯและรมว.มหาดไทย ‘หนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล ลงไปถึงพื้นที่ ‘เกาะกูด’ เพื่อประกาศยืนยันอธิปไตยเหนือพื้นที่ดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้กระแสต้านลดลง กลับยิ่งทำให้เกิดคำถามถึงการคงอยู่ของ MOU 44 และความพยายามที่จะเปิดเจรจารอบใหม่กับกัมพูชาแบบ ‘ลุกลี้ลุกลน’ ว่าจะนำไปสู่บทสรุปอย่างไร
ท่าทีของรองนายกฯ ‘อ้วน’ ภูมิธรรม ถึงขนาดระบุว่าหลังจาก นายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร กลับมาจากต่างประเทศ จะเร่งในการดำเนินการในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคเพื่อไปเจรจากับกัมพูชา ยิ่งทำให้ ‘จุดชนวน’ ความสงสัยและไม่ไว้วางใจในเจตนาของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
อย่างไรก็ตามหากมองย้อนหลังถึงจุดกำเนิดของ MOU 44 บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีปัญหามาตั้งแต่แรก และส่งผลให้ความพยายามในการเจรจาต้องประสบความล้มเหลวมาตลอดกว่า 20 ปี เนื่องจากถูกวาง ‘กับดัก’ ในการกำหนดกรอบการเจรจามาตั้งแต่แรก โดยกรมสนธิสัญญากระทรวงการต่างประเทศในยุคนั้น
ฝ่ายราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ‘ไม่สามารถยอมรับ’ ในเส้นสมมุติที่กัมพูชาชิงประกาศเขตพื้นที่อาณาเขตทางทะเลแบบไม่ได้อ้างอิงกฎหมายระหว่างประเทศใดในปี 2515
โดยกัมพูชาลากเส้นสมมุติเริ่มจากหลักหมุดที่ 73 จากจุดแบ่งดินแดงทางบก ตัดตรงมาทางทิศตะวันตกไปยังจุดกึ่งกลางอ่าวไทย ตัดผ่ากลางเกาะกูดของไทย ถึงแม้ต่อมาจะยอมลากอ้อมผ่านเกาะกูด โดยยอมรับว่าเป็นดินแดนของไทย ซึ่งผิดหลักกฎหมายทะเลระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง และทำให้เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากลงมาทางทิศใต้ กินพื้นที่อธิปไตยทางทะเลของไทยไปถึง 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร ซึ่งมีเจตนาชัดแจ้งที่จะทำให้มีสิทธิในแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว
ที่เป็นเช่นนี้เพราะเส้นอาณาเขตทางทะเลของไทยที่ประกาศตามมาในปี 2516 ซึ่งยึดหลักการตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ.1958 ที่ลากจากหลักหมุดที่73 ออกมายังจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยและเกาะกงของกัมพูชาไปยังกลางอ่าวไทย ในลักษณะทแยงลงมาจากตะวันออกลงมาทางตะวันตก
เพราะเหตุนี้ทำให้กรอบข้อตกลงภายใต้ MOU 44 มีการกำหนดเงื่อนไขสำคัญที่แยกพื้นที่ออกเป็นสองส่วนคือ ‘พื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต’ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ในพื้นที่ราว 1 หมื่นตารางกิโลเมตร ให้เป็นพื้นที่ซึ่งต้องเจรจาเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล แยกจาก ‘พื้นที่พัฒนาร่วม’ คือ พื้นที่ส่วนล่างต่ำกว่าเส้นละติดจูด 11 องศาเหนือ ราว 1.6 หมื่นตารางกิโลเมตรจะเป็นพื้นที่เจรจาผลประโยชน์ร่วมกัน
มีการกำหนดให้ทั้งสองส่วนต้องเจรจาไปพร้อมๆกันแยกส่วนไม่ได้ เหมือนคู่แฝด ‘อิน-จัน’ ซึ่งกลายเป็น ‘กับดัก’ สำคัญที่ทำให้การเจรจาที่ผ่านมาไม่สามารถคืบหน้าไปได้ เพราะฝ่ายไทยไม่อาจยอมรับเส้นสมมุติของฝั่งกัมพูชาที่ขาดหลักการสากลในการอ้างอิง
เพราะเหตุนี้ หากยังคงมีกรอบข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU 44 เพื่อใช้ในการเจรจาเหมือนที่เป็นอยู่ โอกาสที่จะแสวงหาข้อตกลงสุดท้ายร่วมกันได้จึงไม่มีทางเป็นไปได้
เพราะหากฝ่ายไทยยอมรับในเส้นสมมุติของกัมพูชา ก็จะทำให้เสียผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมทางทะเลที่ควรจะเป็นของไทย และยังอาจถูกกัมพูชานำไปใช้อ้างสิทธิที่นำไปสู่การเสียอาณาเขตทางทะเลของไทยในอนาคต
ในทางกลับกัน หากจะให้กัมพูชาแก้ไขพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเส้นสมมุติของตัวเอง ก็ไม่มีทางที่เป็นไปได้ เพราะเหตุนี้ การเจรจาที่ผ่านมาหลายๆครั้งจึงไม่มีความคืบหน้ามาโดยตลอด
ยิ่งไปกว่านั้น MOU 44 ยังติด ‘กับดัก’ ในเรื่องของกฎหมายเนื่องจากมีสถานะเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา แต่ที่ผ่านมาไม่มีการเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบตามมาตรา 178 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งระบุไว้ว่า
‘พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทย มีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือจะต้อง ออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
ในการนี้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือ การลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและ ได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย
เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่ คณะรัฐมนตรี จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบ วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ’
หากพิจารณาจาก มาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 จึงน่าจะชัดเจนว่า MOU 2544ยังไม่ได้ถูกนำไปขอ**‘ความเห็นชอบ’** จากรัฐสภา จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับไม่ได้มีผลให้ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ และไม่ผูกพันรัฐภาคีทั้งสอง
ดังนั้นหากรัฐบาลยังคง ‘ดึงดัน’ เดินหน้าต่อไปทั้งที่รู้ หรือควรรู้ ว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ ก็อาจถูกฟ้องได้ว่าเข้าข่ายกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
รัฐบาลอาจจะพยายามแก้ข้อกล่าวหาว่า MOU เป็นเพียงกรอบการเจรจา การไปเจรจาสามารถดำเนินการได้เพราะเป็นเพียงขั้นตอนการเจรจา เมื่อได้ข้อสรุปร่วมกัน จึงค่อยนำกลับมาเสนอรัฐสภาภายหลัง
แต่ MOU 44 ก็เป็นการแสดงเจตจำนงในเรื่องสำคัญยิ่งและมีผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน จึงควรต้องเสนอต่อรัฐสภาเสียก่อน หากรัฐบาลยังเดินหน้า แม้แต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค Joint Technical Committee ชุดใหม่ ก็อาจจะเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
ทางออกที่ดีที่สุดคือ เมื่อหลายฝ่ายสงสัยและรัฐบาลเองก็ไม่แน่ใจว่า MOU 44 จัดเป็นหนังสือสัญญาที่อาจเข้าข่ายต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่ ก็ควรชะลอเรื่องการเจรจา และส่งเรื่องไปขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อน ซึ่งใช้เวลาเพียง 30 วัน
หากมีคำวินิจฉัยว่าเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจึงนำเรื่องเข้าพิจารณาในรัฐสภา ก่อนที่จะนำกรอบเจรจาที่จะมอบหมายให้คณะเจรจา JTC ไปดำเนินการใดๆ โดยรัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จจึงถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
หากรัฐบาลเพิกเฉย นอกจากอาจถูกบรรดานักร้องขาประจำยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่าดำเนินการขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ยังอาจจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำการผิดตาม **‘ประมวลกฎหมายอาญามาตรา119’ ** ในการรักษาอธิปไตยทั้งทางบกทางทะเลทุกตารางนิ้วอย่างเคร่งครัด
ซึ่งการดำเนินการโดยจงใจใดๆ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทำการผิดพลาด เป็นเหตุทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรไทยตกอยู่ใต้อธิปไตยรัฐต่างประเทศ ซึ่งหมายความรวมถึงดินแดนของรัฐไทยทั้งทางบก ทางทะเล ใต้ท้องทะเล และทางอากาศ ผู้นั้นอาจกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ อาจต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาลจะ ‘ชักม้าถอยหลังริมผา’ เพราะถึงแม้จะ ‘ดึงดัน’ เดินหน้าไปเจรจา ก็ไม่มีทางสำเร็จเพราะ ‘กับดัก’ ในการเจรจาที่ถูกวางไว้ตั้งแต่แรก
แถมยังจะพากัน ‘ลงเหว’ เพราะต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านที่มาจากทุกทิศทาง รวมไปถึงบรรดานักกฎหมายและผู้รู้มากมาย ที่ต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า รัฐบาลอาจมี ‘วาระซ่อนเร้น’ และมีประโยชน์ทับซ้อนของใครบางคนเท่านั้น ซึ่งเตรียมจะเปิดเกม ‘บดขยี้’ ผ่านกระบวนการ ‘นิติสงคราม’ อย่างแน่นอน...