จบมหกรรมเลือกตั้งท้องถิ่นยกแรกไปแล้ว สำหรับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดใน 47 จังหวัด และการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร
การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งไม่กี่ครั้งที่พรรคการเมืองใหญ่ เปิดตัวลงมาหนุนผู้สมัครในหลายจังหวัด ผลที่ออกมา แม้ดูเหมือน พรรคเพื่อไทย อาจได้ไม่ตามเป้า พรรคภูมิใจไทย อาจรักษาพื้นที่ได้หลายจังหวัด และขยายฐานไปบางจังหวัดไม่สำเร็จ พรรคประชาชน อาจเหมือนสอบตกที่คว้าเก้าอี้นายกอบจ.ได้เพียงจังหวัดเดียว
แต่เบื้องหลังชัยชนะทั้ง 47 จังหวัด…
กลับมิใช่เป็นชัยชนะที่เกิดจากพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว
กลับมิใช่ชัยชนะที่มาจากตัว ทักษิณ ชินวัตร เพียงลำพัง
และแน่นอน ย่อมมิใช่ชัยชนะที่มาจากอำนาจ หรือบารมีของ เนวิน ชิดชอบ
นอกจากนั้นยิ่งชัดว่า ชัยชนะเพียงจังหวัดเดียวของ พรรคประชาชน ก็มิได้มาจาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และยิ่งมิได้มาจากกระแสคลื่นสีส้ม
ตรงกันข้ามชัยชนะเพียงจังหวัดเดียว น่าจะเป็นความพ่ายแพ้แบบหมดรูปของพรรคประชาชนในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งใหญ่รอบนี้
เพราะหากลองถอดสมการคะแนนแต่ละจังหวัด หากลองย้อนกลับไปตรวจสอบปูมหลังของว่าที่นายก อบจ.แต่ละจังหวัด สิ่งที่เห็นคือ เกือบทั้ง 47 จังหวัด คือชัยชนะของบ้านใหญ่แต่ละจังหวัดที่ชัดเจนที่สุด
เว้นแต่ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยที่เชียงใหม่ ที่มีปัจจัยองค์ประกอบร่วมระหว่างบ้านใหญ่ และการทุ่มสุดตัวของ ทักษิณ
แม้แต่ลำพูน ชัยชนะของ วีระเดช ภู่พิสิฐ ก็มิใช่ชัยชนะที่มาจากเพียงกระแสของพรรคประชาชน เพราะตระกูลภูพิสิฐ ก็มีรากฐานมาจากบ้านใหญ่ในลำพูนเช่นกัน
ประเสริฐ ภู่พิสิฐ พ่อของ ’วีระเดช‘ ก็เคยดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ลำพูน ส่วนชัยณรงค์ ภู่พิสิฐญาติสนิทก็เคยดำรงตำแหน่งรองประธานสภา อบจ.ลำพูน
ชัยชนะของ ‘วีระเดช’ จึงเป็นชัยชนะของตระกูลภู่พิสิฐ เจ้าถิ่นที่กลับมาทวงคืนอำนาจจาก ตระกูลวงศ์วรรณ
ถามว่าอะไรคือปัจจัยที่เด่นชัด อะไรที่เป็นหลักฐานยืนยันว่า…นี่คือชัยชนะของบ้านใหญ่
ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผลการเลือกตั้งที่คลื่นสีส้มโถมเข้าใส่ในทุกพื้นที่ ด้วยคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เป็นอันดับหนึ่งกว่า 14 ล้านเสียง และชนะการเลือกตั้งแบบเขตถึง 112 เขต ครั้งนั้นเป็นการส่งสัญญาณว่า กองทัพสีส้ม พร้อมจะเคลื่อนขบวนเข้ายึดครองทุกสนามเลือกตั้งทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
ความพร้อมและกระแสของมวลชนที่พร้อมจะสนับสนุนกระแสส้ม สร้างความฮึกเหิม และความมั่นใจกับกองทัพสีส้ม ในนามพรรคก้าวไกล ว่าถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง
ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในเวลานั้น อาจสร้างความคึกคัก อาจสร้างความเชื่อมั่นให้กับเหล่ามหาสมาชิกพรรคและผู้สนับสนุน
แต่เบื้องหลังชัยชนะของพรรคก้าวไกลในครั้งนั้น ก็ถูกถอดสมการทันที วอร์รูมการเมืองประเมินความพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองใหญ่ หรืออีกนัยยะ คือ ความพ่ายแพ้ของฟากการเมืองเก่า ทั้งฟากอนุรักษ์นิยม และฟากเสรีนิยมกึ่งอนุรักษ์
จนสุดท้ายสิ่งที่พบ คือ เป็นความพ่ายแพ้ที่เกิดจากความประมาท เป็นความพ่ายแพ้ที่เกิดจากการทิ้งพื้นที่ และเป็นความพ่ายแพ้จากการประเมินฐานคะแนนที่ผิดพลาด โดยหลงลืมฐานคะแนนกว่า 8 ล้านเสียงของคนรุ่นใหม่
บทสรุปของความพ่ายแพ้รอบนั้น ถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองครั้งใหญ่ของประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ชะลอการเติบโตของคลื่นสีส้ม และวางรากฐานการเมืองในทุกพื้นที่ใหม่ ก่อนจะมีข้อสรุปว่า หากจะเอาชนะพรรคก้าวไกล หรือที่ปัจจุบันคือพรรคประชาชนได้ บ้านใหญ่ในทุกพื้นที่ จะต้องถอยกลับไปรักษาเมือง
ประการสำคัญการเมืองใหญ่หรือพรรคการเมืองใหญ่ ต้องให้อิสระบ้านใหญ่ในพื้นที่ การใช้ทุนใหญ่หรือพรรคใหญ่ครอบงำทุนเล็ก หรือครอบงำบ้านใหญ่ให้เข้าไปซุกปีก หรืออยู่ภายใต้อำนาจ ถูกเปลี่ยนเป็นการสร้างความร่วมมือกับบ้านใหญ่
เปิดโอกาสให้บ้านใหญ่มีอิสระ โดยให้ผู้มีบารมีแต่ละพื้นที่ เป็นคนกลางคอยเชื่อมโยงบ้านใหญ่แต่ละกลุ่ม
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั่วประเทศกับชัยชนะของพลพรรคสีน้ำเงิน และความพ่ายแพ้ของกองทัพสีส้ม แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากความเก๋าของค่ายสีน้ำเงิน ที่ตีโจทย์แตกมากกว่า แต่อีกส่วนหนึ่งก็ทำให้เห็นจุดอ่อนของการเมืองแบบกระแส
การเมืองแบบเด็กรุ่นใหม่ที่มิได้ความสำคัญกับพื้นที่ มุ่งเน้นการสร้างกระแสจากส่วนกลาง และอาศัยกระแสโซเชียลเข้ายึดครองพื้นที่สื่อของคนรุ่นใหม่
การเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งใหญ่ จึงถูกกำหนดเกมการเล่นแบบแบ่งโซนกันเล่น แบ่งพื้นที่กันเล่น
หลายจังหวัดฉวยโอกาสที่พรรคประชาชน ยังตั้งตัวไม่ติด ชิงลาออก และลงเลือกตั้งส่วนหัว คือ เลือกนายก อบจ.ไปก่อนในหลายจังหวัด จนเหลือเพียง 47 จังหวัด
และเมื่อย่อยพื้นที่ทั้ง 47 จังหวัดใหม่ ออกเป็น โซนสีแดง โซนสีน้ำเงิน โซนอิสระ และโซนส้ม บีบพื้นที่ให้ส้ม เล่นในพื้นที่จำกัด
การแบ่งโซนพื้นที่ แม้บางพื้นที่อาจทับซ้อนระหว่าง แดงกับน้ำเงิน ที่ต้องแข่งกันเอง แต่ส่วนใหญ่ พื้นที่ทับซ้อนระหว่างแดงกับน้ำเงิน ไม่ใช่พื้นที่หวังผลของสีส้ม การต่อสู้ระหว่างแดงและน้ำเงิน แพ้หรือชนะจึงไม่เป็นผลบวกให้กับส้ม
ตรงกันข้าม พื้นที่หวังผลของส้ม หากเป็นโซนแดง ก็จะไม่มีน้ำเงินลงแข่ง หากเป็นโซนน้ำเงิน ก็จะไม่มีแดงลงแข่ง
หรือหากเป็นโซนอิสระที่เป็นบ้านใหญ่ต้องแข่งกับส้ม แดงและน้ำเงิน ก็จะแปรทัพเข้าร่วมมือกับบ้านใหญ่ในพื้นที่นั้น ๆ ทันที
พื้นที่เป้าหมายของพรรคประชาชนในภาคกลางและภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นนทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา
ทุกจังหวัดที่พรรคประชาชน เมื่อครั้งเป็นพรรคก้าวไกล กวาดชัยชนะทั้งในระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์แบบเป็นกอบเป็นกำ
การเลือกตั้งนายก อบจ.รอบนี้ ตัวแทนของพรรคประชาชนทแพ้บ้านใหญ่ในทุกจังหวัดแบบไม่เห็นฝุ่น ทั้งจังหวัดที่ก้าวไกลเคยชนะยกจังหวัด ระยอง จันทบุรี ตราด สมุทรสาคร และทุกจังหวัดไม่มีตัวแทนแดงหรือน้ำเงิน ลงแย่งคะแนนกับบ้านใหญ่ให้เสียงแตก
ระยอง เป็นของบ้านใหญ่ ปิตุเตชะ ไม่มีแม้แต่ตัวแทนเพื่อไทย ที่เคยมี ส.ส.ในหลายเขตลงแข่ง
ชลบุรี แม้ ‘ตระกูลคุณปลื้ม’ จะสวมเสื้อเพื่อไทย แต่ก็ไม่มีตัวแทน พรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ ตัวแทน ภูมิใจไทย ลงสมัคร
สมุทรปราการ แม้ครั้งหนึ่ง เพื่อไทย จะมีส.ส.เกือบยกจังหวัด แต่เลือกตั้ง อบจ.รอบนี้ ก็ไม่มีตัวแทนของเพื่อไทย ลงแข่งกับตัวแทนของบ้านใหญ่อัศวเหม ที่มี วัฒนา อัศวเหม แอบคุมเกมด้วยตัวเอง
สมุทรสาคร ก็เป็นหน้าที่ของ ตระกูลไกรวัตนุสสรณ์ ไม่มีคู่แข่งจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมาลงแข่ง
นครนายก จังหวัดความหวังที่พรรคประชาชนส่งอดีตนายก จักรพันธ์ จินตนาพากานนท์ เจ้าของพื้นที่ลงแข่ง ก็แพ้ให้กับ นิดา ขนายงาม ตัวแทนบ้านใหญ่นครนายก ที่ตระกูลบุญหลง ให้การสนับสนุน โดยไม่มีตัวแทนจากพรรคการเมืองใหญ่ลงแข่ง
นนทบุรี ฐานเสียงใหญ่ของพรรคประชาชน ก็เป็นอดีตนายก พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ แชมป์เก่าที่มีพลังหนุนจากทุกสี เอาชนะ เลิศมงคล วราเวณุชย์ จากพรรคประชาชนไปเกือบ 7 หมื่นคะแนน
ปราจีนบุรี สจ.จอย ณภาภัช อัญชสานิชมน ภรรยาของ สจ.โต้ง เมื่อได้รับฉันทานุมัติจากเพื่อไทย แต่ภูมิใจไทย ก็ไม่ส่ง
เช่นเดียวกับตราด ที่ทุกฝ่ายร่วมหนุน วิเชียร ทรัพย์เจริญ ให้แข่งเดี่ยวๆกับ ชลธี นุ่มหนู จากพรรคประชาชน
จันทบุรี เพื่อไทยก็บายให้เป็นหน้าที่ของ ธนภณ กิจกาญจน์ อดีตนายกฯ ลงดวลกับตัวแทนของจันทบุรี ที่มีส.ส.ทั้งจังหวัด
ในภาคใต้ ที่พรรคประชาชนคาดหวังว่าจะได้ชัยชนะที่ภูเก็ต เพราะกระแสสีส้มกระหึ่มทั้งเกาะ แต่สุดท้ายก็แพ้ขาดต่อ เรวัต อารีรอบ อดีตนายกฯ ที่ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มบ้านใหญ่ป่าตอง ที่เลือกตั้งใหญ่เคยเป็นฐานให้กับกองทัพสีส้ม
สุราษฎร์ธานี หมอมุดสัง นายแพทย์ จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ ก็เป็นได้แค่กระแส เพราะเข้ามาเป็นอันดับสาม แพ้ทั้ง ป้าโส โสภา กาญจนะ และกำนันศักดิ์ พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว บ้านใหญ่สุราษฎร์ไปแบบขาดลอย
บทสรุปของการเลือกตั้งนายก อบจ.รอบนี้ จึงชัดยิ่งว่า เป็นชัยชนะของบ้านใหญ่ และเป็นความปราชัยของสีส้ม อย่างชัดเจน