ผ่านวันแรกของศึกซักฟอกที่หลายคนรอคอยไปแล้ว งานนี้ได้เห็นของจริงกันทั้งสองฝ่าย โดยคนที่ไม่ค่อยเชื่อว่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นจริง ก็ได้เห็น เพียงแต่อาจจะต้องขยี้ตาตัวเองซ้ำ ๆ สักหน่อย
ส่วนใครจะทำหน้าที่ได้ดี เข้าตา ไม่เข้าตาอย่างไร ก็แล้วแต่มุมมอง
เอาเป็นว่า โดยรวมถือว่าทำการบ้านกันมาดี โดยเฉพาะฝ่ายค้าน ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านฯ แม้จะขาดลูกหนักไปบ้าง แต่ตลอด 40 นาที ของการนำเสนอญัตติ ก็ถือว่าเก็บประเด็นได้ครบ ไม่มีอะไรตกหล่น
ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ "แม่ทัพ" พรรคพลังประชารัฐ ก็ทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะฝ่ายตรวจสอบได้อย่างสมบูรณ์เช่นกัน แม้จะไม่ดุเดือดเลือดพล่าน เหมือนที่ทีมงานโม้ไว้
แถมตอนท้าย "ลุงป้อม" ยังไปขอบคุณ ให้ศีลให้พร ขอให้นายกฯ โชคดีอีกต่างหาก
แต่เสียดายที่นายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ลุกขึ้นตอบโดยยึดตามสคริปท์ไปหน่อย จึงมีทั้งคำว่า "ดูเวลาจากนาฬิกาตัวเอง" และหยิบคำพูดเมื่อหลายปีก่อนของลุงป้อม มาย้อนว่า "ที่สมาชิกอาวุโสพูดเมื่อสักครู่นี้ ไม่เป็นความจริงค่ะ"
เป็นการลุกขึ้นตอบครั้งแรกของนายกฯ อิ๊งค์ ที่แม้จะเรียกเสียงหัวเราะชอบใจจากคนเพื่อไทยในห้องประชุมได้ แต่ในทางกลับกันหากไม่เดินตามบทที่ทีมงานส่งให้ เปลี่ยนเป็นน้อมรับคำชี้แนะจากผู้อาวุโสแทน คงทำให้ต้นทุนในตัวนายกฯ ที่มีอยู่ไม่มาก ดูดีขึ้นไม่น้อย
แถมยังถูกโลกโซเชียลแซะตามหลัง ลุงอุตส่าห์ชื่นชมแท้ ๆ แต่กลับบอกว่าไม่เป็นความจริง!!
ส่วนผู้ที่บอบช้ำกว่าใคร คงเป็นท่านประธานฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ไม่เฉพาะสส.ฝ่ายค้านเท่านั้น ที่รุมตำหนิการทำหน้าที่ว่าเอียงกะเท่เร่ คนที่ติดตามการอภิปรายทางบ้าน ก็มีความรู้สึกไม่ต่างกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ถึงกับระบายความรู้สึกผ่านเฟซบุ๊ก ว่า
"ตั้งใจฟังการอภิปรายของ สส. วิโรจน์ (ลักขณาอดิศร) ผมไม่เคยเห็นประธานสภาประท้วงการอภิปรายเองครั้งแล้วครั้งเล่าขัดจังหวะการอภิปรายแบบนี้
ส่วนประเด็นการอภิปรายเรื่องการโยกหุ้นหนีภาษีนี่ทำให้นึกย้อนยุคกลับไปปี 2544 และ 2548/49 แตกต่างกันแค่ที่ตัวผู้อภิปรายและห้องประชุมสภาที่ดูใหม่ขึ้น
“การเสียภาษีที่ถูกต้องคือหน้าที่พื้นฐานที่สุด” ในอดีตเป็นอย่างไร วันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น"
รอท่านนายกฯชี้แจงครับ.
ในวันแรกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร น่าจะเป็นหมัดเด็ดของฝ่ายค้าน ที่เขย่าเก้าอี้นายกฯ อิ๊งค์ เรื่องออกตั๋ว PN ลวง สร้างหนี้ปลอม และหนีภาษี 218 ล้านบาท จากการซื้อหุ้นในกลุ่มเครือญาติ และออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระค่าหุ้น โดยครบกำหนดเมื่อทวงถาม ไม่มีดอกเบี้ย
การกระทำดังกล่าว ถูกฝ่ายค้านกล่าวหาเป็นนิติกรรมอำพราง หลบเลี่ยงภาษี ไม่ต้องจ่าย "ภาษีรับให้" ในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ตามที่กฎหมายกำหนด
หลังการอภิปรายผ่านไปครึ่งค่อนวัน นายกฯ อิ๊งค์ ได้ลุกขึ้นชี้แจงเป็นครั้งที่สอง โดยตอบเรื่องการออกตัว PN ว่า เป็นหนังสือให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้กับอีกบุคคลหนึ่งตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ หนังสือดังกล่าวตนติดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย
ซึ่งการซื้อขายแบบนี้บางรายการไม่มีการเสียภาษี เนื่องจากยังไม่มีการชำระเงิน จึงยังไม่ทราบจำนวน และยังเสียภาษีไม่ได้ ดังนั้น การซื้อขายลักษณะนี้ จึงเป็นภาระหนี้สินระหว่างตนที่เป็นผู้ซื้อ และครอบครัวที่เป็นผู้ขาย ไม่ได้มีพฤติกรรมอำพรางใด ๆ
“หากจะเกิดการซื้อขาย ยอดหนี้ก็จะแสดงชัดเจนในบัญชีอยู่แล้ว ดิฉันก็ได้ยื่น ป.ป.ช.ไปหมดแล้ว ตรวจสอบได้ทุกอย่าง หนังสือตั๋วสัญญา PN รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องปกติ"
"แต่ในเวลานั้น ดิฉันยังไม่พร้อมชำระค่าหุ้นด้วยเงินสด จึงทำตั๋วสัญญาใช้หนี้แทน มีการพูดคุยตกลงกันในครอบครัวเพื่อวางแผนชำระหนี้ โดยรอบแรกจะเกิดภายในปีหน้า เมื่อชำระแล้ว หลักฐานจะปรากฏในบัญชีทรัพย์สินของป.ป.ช.แน่นอน ตรวจสอบได้ พอมีการซื้อขาย มีการต้องจ่ายภาษี หลบการจ่ายภาษีไม่ได้อยู่แล้ว”
ข้อความบางส่วนจากการชี้แจงในสภาของนายกฯ อิ๊งค์ เรื่องตั๋ว PN ซึ่งผู้รู้ทางกฎหมายภาษีฟังแล้ว จะสิ้นสงสัยหรือยังมีประเด็นตรงไหนที่ต้องขยายความต่ออีกบ้าง ซึ่งเข้าใจว่าคงไม่มีใครติดใจสงสัยความหมายของตั๋ว PN
แต่ในเนื้อหาที่ชี้แจงไว้นั้น 2 อดีตรมว.คลัง กรณ์ จาติกวญิช ธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล เห็นตรงกันว่า "เป็นความผิดปกติทางธุรกิจ" เป็นหนี้เทียม ทำเอกสารลวง เป็นตั๋วสัญญาจะไม่ใช้เงิน โดยเฉพาะธีระชัย ชี้ประเด็นเรื่องภาษีว่า
"ภาระภาษีไม่ใช่เกิดขึ้นเมื่อจ่ายเงินจริงเมื่อบุคคลหนึ่งได้รับหุ้นเป็นการให้ ภาระภาษีเกิดขึ้น ณ วันที่ได้รับหุ้น ไม่ใช่วันที่มีการจ่ายเงิน สิ่งที่ นรม.อ้างว่าภาระภาษีเกิดขึ้น เมื่อมีการชำระเงิน จึงไม่ถูกต้อง"
ธีระชัย สำทับด้วยว่า ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว
เรื่องนี้ผิดถูกอย่างไร คงต้องรอดาบสองที่ฝ่ายค้านจะไปยื่นร้องต่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพราะ "หนี้สิน" ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.ไว้ จำนวน 4,439 ล้านบาทเศษ นั้น ในเมื่อธุรกรรมการซื้อขายหุ้นดังกล่าว ยังไม่สมบูรณ์ โดยวางแผนจะจ่ายหนี้รอบแรกภายในปีหน้า ดังนั้น คำถามคือ หนี้ที่แจ้งไว้ต่อ ป.ป.ช.นั้น ถือเป็นการ "แจ้งเท็จ" ด้วยหรือไม่
เพราะเอาหนี้ในตั๋วสัญญาใช้เงินที่ยังไม่มีการจ่ายเงิน ซึ่งเป็นหนี้ในอนาคตมายื่นแสดงต่อ ป.ป.ช.
ก่อนหน้านี้ในปี 2543 พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในขณะนั้น ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฐานจงใจแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ กรณีแจ้งการกู้ยืมเงิน จำนวน 45 ล้านบาท โดยไม่ได้มีการกู้ยืมเงินจริง และถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี
โทษฐานที่ปกปิดรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
นอกจากนั้น ยังมีนักการเมืองอีกหลายคน ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดด้วยเหตุจากการปกปิดบัญชีทรัพย์สิน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งไป บางคนถูกส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เอาผิดติดคุกติดตาราง แถมถูกยึดทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดินไปก็มาก
กรณีของนายกฯ อิ๊งค์ ที่เอาหนี้ในอนาคตมาแจ้งต่อ ป.ป.ช.จะเข้าข่ายแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ถือเป็นการซุกหนี้หรือไม่
รอดูดาบสองของฝ่ายค้านว่า เส้นทางการเมืองต่อจากนี้ของนายกฯ อิ๊งค์ จะเดินย่ำรอยพ่อหรือไม่?!