สว.ยึดปธ.กมธ.ร่วม ชง 3 สูตรรอมชอมแก้ประชามติ

31 ต.ค. 2567 - 03:02

  • ฝ่ายสว.มีความเป็นหนึ่งเดียวมากกว่า

  • อาจทางเลือกที่จะนำไปสู่การรอมชอมของสองสภา

  • พบกันครึ่งทางที่ตรงไหน คงให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ว่ากัน

politics-thailand-senate-seized-referendum-SPACEBAR-Hero.jpg

ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นัดแรกเมื่อวาน(30 ต.ค.67) มีมติด้วยเสียงข้างมาก 15 ต่อ 8 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เลือก พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร กรรมาธิการจากสัดส่วน สว.เป็นประธานกรรมาธิการ

มองเผิน ๆ เหมือนเป็นการวัดพลังรอบใหม่ของสองสภา ที่มีความเห็นต่างเรื่องหลักเกณฑ์เสียงข้างมากในกฎหมายประชามติ จนต้องนำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภาขึ้นในสัดส่วน 14 ต่อ 14 เสียงเท่ากัน 

โดยบรรยากาศก่อนการลงมติ ตัวแทนทั้งสองสภาต่างพยายามชักแม่น้ำทั้งห้า หว่านล้อมที่ประชุมให้คนจากสภาของตัวเองได้ทำหน้าที่ประธาน แต่เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงต้องนำไปสู่การโหวตในที่สุด ซึ่งปรากฎผลสว.เป็นฝ่ายชนะ

ทั้ง ๆ ที่มีผู้มาประชุมฝ่ายละ 13 คนเท่ากัน โดยสว.ขาดไปหนึ่งคน ส่วน สส.ลาออกไปหนึ่ง จึงมีเสียงเท่ากัน แต่เมื่อถึงคราวลงมติ ซึ่งฝ่าย สส.เสนอชื่อ ประยุทธ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในขณะที่สว.เสนอชื่อ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร 

แต่ฝ่ายสว.มีความเป็นหนึ่งเดียวมากกว่า คือ 13 คนไม่มีใครแตกแถว แถมได้เสียงโหวตจากสส.เพิ่มมาอีก 2 เป็น 15 เสียง ส่วนสส.ซึ่งมาจากสัดส่วนของพรรคการเมือง จึงเป็นเบี้ยหัวแตก นอกจากงดออกเสียง 2 อีกหนึ่งคนก็ไม่ลงคะแนนด้วย

ทั้งนี้ สองเสียงจาก สส.ที่ไปโหวตให้ตัวแทนสว.นั้น แม้ไม่มีใครออกมายอมรับว่าเป็นตัวเอง แต่คนทั่วไปก็พอเดาออกว่าคงเป็นกรรมาธิการจากสัดส่วนพรรคภูมิใจไทยทั้งคู่นั่นแหล่ะ คือ ไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมบ์ และ กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง 

แต่ก็มีการโหวตเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ส่วนตำแหน่งที่เหลือก็สลับกันระหว่างสองสภาทีละตำแหน่งไปจนครบ ซึ่งเข้าใจว่าที่แต่ละฝ่ายอยากนั่งเป็นประธาน คงเพราะต้องการกุมสภาพการทำงานเอาไว้มากกว่า

ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ดูจากที่ นิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ แจกแจงไว้ น่าจะไม่ต้องเร่งรีบอะไร เพราะมีเวลาทำงานร่วมหนึ่งเดือนเศษกว่าสภาจะเปิดสมัยประชุมหน้าในวันที่ 12 ธันวาคม จึงได้วางตารางการประชุมไว้ 5 ครั้ง โดยครั้งถัดไปในวันที่ 5 พฤศจิกายน จะเป็นการเปิดให้สนธนาธรรมกันแบบยาว ๆ

ถือโอกาสล้างใจกันไปด้วยในตัว

สำหรับทางเลือกที่จะนำไปสู่การรอมชอมของสองสภานั้น เบื้องต้นมีการออกแบบไว้คร่าว ๆ 3 ทางเลือกด้วยกัน ได้แก่ แนวทางแรก ถอยกลับไปยึดรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้การออกเสียงประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของผู้มีสิทธิออกเสียง หรือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 

แนวทางที่สอง ยึดตามร่างเดิมที่คณะรัฐมนตรีเสนอ คือ เสียงข้างมากแบบชั้นครึ่ง โดยให้มีผู้มาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบให้ยึดเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์

แนวทางสุดท้าย ให้มีผู้มาออกเสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบให้ยึดเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์เช่นกัน โดยแนวทางนี้ปรับมาจากร่างของพรรคภูมิใจไทย ที่ให้มีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่า  1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิ

ส่วนจะพบกันครึ่งทางที่ตรงไหน คงให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ว่ากันไปก่อน โดยงานนี้แม้จะเปิดฉากมาก็วัดพลังกันแล้วก็ตาม แต่ลึก ๆ น่าจะรอมชอมกันได้ เพราะมีการออกแบบบางสิ่งบางอย่างร่วมกันไว้ล่วงหน้าบ้างแล้ว เช่น การออกเสียงประชามติทางไปรษณีย์ โดยให้ยึดต้นแบบจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ฟังมาว่าประธาน กกต.อิทธิพร บุญประคอง จะนำคณะบินไปดูงานที่สวิตเซอร์แลนด์ ตามคำเชิญกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังกลับมาคงได้นำมาแจกแจงให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ฟังต่อ 

ถ้าว่ากันตามนี้ การแก้กฎหมายประชามติในชั้นคณะกรรมาธิการร่วมฯ คงพอได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์อยู่รำไร ไม่ใช่ยกพวกมาตีกันอย่างบรรยากาศในที่ประชุมวานนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์